- เดือนกันยายน 2551 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 126,232 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 31,830 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.3) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ เพราะมีการชำระภาษีเหลื่อมมาจากเดือนที่แล้ว
- ปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — กันยายน 2551 ) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,547,220 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 52,220 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.5 และสูงกว่าปีงบประมาณที่แล้วร้อยละ 7.1 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร และกรมศุลกากร ตลอดจนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม
และอากรขาเข้า
- เดือนกันยายน 2551 รัฐบาลได้เบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 149,856 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2551 จำนวน 143,501 ล้านบาท (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.5) ซึ่งแยกเป็นงบประจำ 125,248 ล้านบาท และงบลงทุน 18,253 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 6,355 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — กันยายน 2551) รัฐบาลได้เบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 1,633,405 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบัน 1,532,479 ล้านบาท (คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 92.3 ของวงเงินงบประมาณ) ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.2 นอกจากนี้ มีการเบิกจ่ายของงบประมาณปีก่อน 100,926 ล้านบาท
- หน่วยงานที่เบิกจ่ายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ และกระทรวงแรงงาน ในขณะที่หน่วยงานที่เบิกจ่ายต่ำสุด 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงวัฒนธรรม
- ดุลการคลังของรัฐบาลตามระบบ สศค. ปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — กันยายน 2551) รัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้น 1,622,315 ล้านบาท และมีรายจ่ายทั้งสิ้น 1,656,763 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 34,448 ล้านบาท แต่ดุลบัญชีเงินนอกงบประมาณเกินดุล 105,225 ล้านบาท โดยเมื่อหักรายจ่ายจากเงินกู้ต่างประเทศจำนวน 433 ล้านบาท ทำให้ดุลการคลังของรัฐบาลเกินดุลทั้งสิ้น 69,352 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของ GDP
- ดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสด ของปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — กันยายน 2551) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 1,549,605 ล้านบาท และมีรายจ่ายปีปัจจุบันและปีก่อนรวม 1,633,347 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 83,742 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 4,996 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดขาดดุลทั้งสิ้น 78,746 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP
- หนี้สาธารณะคงค้างของรัฐบาล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2551 มีจำนวน 3,339.5 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.5 ของ GDP โดยร้อยละ 88.7 ของหนี้สาธารณะคงค้างเป็นหนี้ในประเทศ และส่วนที่เหลือร้อยละ 11.3 เป็นหนี้ต่างประเทศ
- หนี้ระยะยาวมีจำนวน 3,191.4 พันล้านบาท ส่วนหนี้ระยะสั้นมีจำนวน 148.1 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95.6 และ 4.4 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ
- กระทรวงการคลังได้กำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลังไว้ ดังนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 50 ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 15 จัดทำงบประมาณสมดุล และสัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 25
- กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ปีงบประมาณ 2551 ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 36.3 สัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณเท่ากับร้อยละ 10.4 และสัดส่วนงบลงทุนอยู่ที่ระดับร้อยละ 24.4
- กรอบความยั่งยืนในระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2552 — 2555)
- สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP และสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณจะเพิ่มสูงขึ้นในปีงบประมาณ 2552 จากนั้นจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องระหว่างปีงบประมาณ 2553 — 2555
- สัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณ ในปี 2552 จะยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากยังมีความจำเป็นในการใช้จ่ายด้านสังคม แต่อย่างไรก็ดี ยังคงมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม แต่คาดว่าตั้งแต่ปี 2553 จะสามารถรักษาสัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 เพื่อการพัฒนาและการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
- มาตรการเดิม
- โครงการธนาคารประชาชน
- ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 สมาชิกได้ยื่นกู้รวมทั้งสิ้น 17,682,183 ราย โดยได้รับสินเชื่อแล้ว 1,621,787 ราย เป็นเงิน 40,400.1 ล้านบาท โดยในเดือนนี้มีสมาชิกขอกู้เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วถึง 624,719 ราย แต่มีสมาชิกที่ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพียง 15,456 ราย เท่านั้น
- หนี้ค้างชำระเกิน 6 เดือน มีจำนวน 80,700 ราย เป็นเงิน 1,309.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.2 ของสินเชื่อ โดยลดลงจากเดือนที่แล้ว 173 ราย แต่จำนวนหนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาท
- กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
- ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ได้มีการจัดสรรและโอนเงินให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวม 78,920 กองทุน และได้จัดสรรเงินให้สมาชิก จำนวน 432,963 ล้านบาท โดยสมาชิกได้ชำระคืน เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแล้ว 299,916 ล้านบาท (เงินต้น 278,187 ล้านบาท และดอกเบี้ย 21,729 ล้านบาท)
- โครงการบ้านเอื้ออาทร
- ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 มีบ้านเอื้ออาทรที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว จำนวน 154,584 หน่วยโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 126,972 หน่วย โดยสำนักงบประมาณได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แล้วจำนวน 29,673.9 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนแล้วจำนวน 27,918.4 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 94.08 ของงบประมาณที่ได้รับอุดหนุน
- โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจนถึงวันที่ 8 กันยายน 2551 รัฐบาลได้โอนเงินโครงการฯ ให้กับหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศแล้วจำนวน 40,006 หมู่บ้าน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,397.2 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ 14 ตุลาคม 2551 มีมติอนุมัติมาตรการรองรับวิกฤตการเงินโลกตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการตลาดทุน เห็นควรให้มีการจัดตั้งกองทุนโดยเอกชนร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเป็นการจัดตั้งMatching Fund ระหว่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ Matching Fund ระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกับสถาบันการเงิน
2. มาตรการดูแลสภาพคล่องทางการเงิน โดยกำหนดเป้าหมายให้ธนาคารพาณิชย์โดยรวมขยายสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 (หรือคิดเป็นเงินประมาณ 400,000 ล้านบาท) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐขยายสินเชื่ออีก 50,000 ล้านบาท (จาก 1.1 ล้านล้านบาท เป็น1.15 ล้านล้านบาท) รวมเป็น 450,000 ล้านบาท
3. มาตรการเร่งรัดการส่งออกและการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยเพิ่มปริมาณการส่งออกและท่องเที่ยวอย่างน้อยร้อยละ 5 คิดเป็นรายได้ส่งออกสินค้าประมาณ 300,000 ล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยว 60,000 ล้านบาท รวมเป็น 360,000 ล้านบาท
4. มาตรการสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้ประชาชน โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด
5. มาตรการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเพิ่มงบลงทุน จำนวน 100,000 ล้านบาท
6. มาตรการสร้างประชาคมการเงินเอเซีย โดยสร้างความร่วมมือทางการเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินภายในภูมิภาคร่วมกัน
- ความคืบหน้าการยกร่างกฎหมายรายได้ท้องถิ่นของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาและพัฒนาระบบรายได้ท้องถิ่นในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาและพัฒนาระบบรายได้ท้องถิ่น ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 1 และ 20 ตุลาคม 2551 เพื่อพิจารณาในรายละเอียดของร่างกฎหมายรายได้ท้องถิ่น ในหมวดที่ 1-3 ซึ่งได้แก่หมวดโครงสร้างรายได้ของ อปท. หมวดอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ของ อปท. และหมวดคณะกรรมการรายได้ อปท. โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาในเรื่องต่างๆ เช่น การปรับปรุงแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ จากเดิมที่จะได้จาก 3 ส่วน (1 ใน 9 จัดสรร อบจ. และจัดสรรตาม พรบ. กำหนดแผน และขั้นตอนฯ ) เปลี่ยนเป็นได้รับ 1 ส่วน โดยการแบ่งรายได้ระหว่างรัฐบาลกับอปท. ในสัดส่วน 70 : 30 ของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ตามประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ ได้พิจารณาให้เพิ่มการจัดเก็บภาษียาสูบเพิ่มให้ อปท. ด้วยร้อยละ 10 เป็นต้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th