บทสรุปผู้บริหาร: การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แนวโน้ม และนัยต่อประเทศไทย (1)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 11, 2008 12:10 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ของโลกในปี 2007 มีมูลค่าการลงทุน 1,833 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุด โดยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 4 เนื่องจากในภูมิภาคต่าง ๆ มีการเติบโตของ FDI สูงขึ้น คือ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (1,248 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (500 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21) กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ของยุโรปตะวันออกและกลุ่ม CIS (Commonwealth of Independent States) (86 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50)

ประเทศที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากที่สุดของโลก คือ สหรัฐอเมริกา (233 พันล้านเหรียญสหรัฐ) รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ตามลำดับ ในปี 2007 นี้ สหภาพยุโรปกลายเป็นกลุ่มประเทศที่เป็น แหล่งรับการลงทุนโดยตรงที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ที่ระดับ 804 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 สำหรับประเทศที่มีการลงทุนในต่างประเทศมากที่สุดของโลก คือ สหรัฐอเมริกา (314 พันล้านเหรียญสหรัฐ) รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ตามลำดับ

การลงทุนในรูป Cross-border M&As (Mergers and Acquisitions) ทำให้การลงทุนโดยตรงของโลกเพิ่มสูงขึ้น อยู่ที่ระดับ 1,637 พันล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าในปี 2000 ร้อยละ 21 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนประเภท cross-border M&As ในปี 2007 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของ FDI ของโลก ได้แก่ 1) การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีความแข็งแกร่ง 2) กำไรของบริษัทข้ามชาติเพิ่มอยู่ในระดับสูง 3) การนำกำไรมาลงทุนใหม่ 4) บรรยากาศด้านการเงินที่ดีสำหรับการให้กู้แก่การลงทุนประเภท cross-border M&As 5) แรงกดดันจากการแข่งขัน ที่เพิ่มขึ้น และ 6) ความสำเร็จในการร่วมลงทุนของ ABN-AMRO กับ Royal Bank of Scotland, Fortis และ Santander ด้วยมูลค่า 98 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในการลงทุนในสถาบันการเงิน

SWFs (Sovereign Wealth Funds) เริ่มมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น โดยในปี 2007 มีมูลค่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ระหว่างปี 2000-2004 มูลค่าเฉลี่ยของการลงทุนโดยตรงของ SWFs มีเพียง 515 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี สำหรับในปี 2007 SWFs ลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วถึงร้อยละ 86.9 ในขณะที่ลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพียงร้อยละ 13.1 โดย SWFs ลงทุนในภาคบริการด้านธุรกิจและภาคบริการด้านการเงิน เป็นสำคัญ

แนวโน้ม ปี 2008 FDI ของโลกในปี 2008 คาดว่าอยู่ที่ระดับ 1,600 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าในปี 2007 อยู่ร้อยละ 10 การลงทุนประเภท cross-border M&As ในครึ่งปีแรกของปี 2008 ลดลงจากครึ่งปีหลังของปี 2007 ร้อยละ 29 การลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ในระยะปานกลาง FDI มีแนวโน้มที่ดีที่จะปรับตัวสูงขึ้น สำหรับประเทศนักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรกใน ระหว่างปี 2008-2010 ได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และแนวโน้ม (1)

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของโลก ปี 2007 จากรายงานการลงทุนของโลก ปี 2008 (World Investment Report 2008 : Transnational Cooperations and the Infrastructure Challenge)โดย UNCTAD สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

1. เงินลงทุนโดยตรง (FDI) ของทั่วโลกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 4

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของโลก ปี 2007 เพิ่มขึ้นที่ระดับ 1,833 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 30 ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ที่สูงสุด โดยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 4 เนื่องจากในภูมิภาคต่างๆ มีการเติบโตของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงขึ้น คือ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (1,248 พันล้านเหรีญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (500 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21) กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ของยุโรปตะวันออกและกลุ่ม CIS (Commonwealth of Independent States) (86 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50)

เมื่อพิจารณาแยกเป็นภูมิภาค สามารถสรุปรายละเอียดสำคัญในแต่ละภูมิภาคได้ดังต่อไปนี้

1) กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ปี 2007 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันอยู่ที่ระดับ 1,248 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 33 โดยเงินลงทุนจำนวนมากนี้ได้ไหลเข้าสู่สหภาพยุโรปจำนวนมาก ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ทำให้สหภาพยุโรปเป็นภูมิภาคที่เป็นแหล่งรองรับการลงทุนใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งคิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของ FDI ทั้งที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้ ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเงินทุนไปเข้ามากที่สุดในโลก การเพิ่มขึ้นของ FDI inflow นี้ เป็นผลมากจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศเหล่านี้ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของกำไรบริษัทข้ามชาติ ระดับราคาของตราสารทุนสูงขึ้น รวมทั้ง การกระตุ้นให้มีการลงทุนในรูป cross-border M&As มากขึ้น โดยเฉพาะในครึ่งปีแรกของปี 2007

สำหรับการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (FDI outflow) ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีการเติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่า FDI inflow ซึ่งเติบโตกว่าร้อยละ 56 อยู่ที่ระดับ 1,692 พันล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่า FDI inflow ถึง 445 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการไหลออกของเงินทุน คือ การเป็นแหล่งทางการเงินสำคัญจากกำไรของบริษัทข้ามชาติที่เพิ่มสูงขึ้นโดยสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโดยตรงที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่า 314 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงมากมายที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกต้องเผชิญ อันจะส่งผลกระทบต่อ FDI ที่ไหลเข้าและไหลออกของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในปี 2008 ได้ เช่น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูงและมีความอ่อนไหวมาก อาจส่งผลต่อแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ รวมทั้งภาวะตึงตัวของตลาดเงิน และภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

2) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2007 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 21 อยู่ที่ระดับ 500 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

  • แอฟริกา เงินทุนไหลเข้าเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 53 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของโลก การควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมการสกัดและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการได้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้ง การควบรวมกิจการในภาคธนาคาร ประเทศที่มีการไหลเข้าเงินทุนมากที่สุด ได้แก่ ไนจีเรีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ และมอรอคโค ตามลำดับ
  • เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียนเนีย เงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ18 ด้วยมูลค่า 249 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของ FDI ที่ไหลเข้าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด โดยการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนได้เคลื่อนย้ายไปสู่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น แม้ว่าจีนและฮ่องกงจะยังคงเป็นประเทศที่มีเงินทุนไหลเข้ามากที่สุดในภูมิภาคก็ตาม
  • เอเชียตะวันตก มีมูลค่าเงินลงทุนไหลเข้าอยู่ที่ระดับ 71 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 12 ตรุกีและประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังคงเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนมากที่สุด แต่ความไม่แน่นอนทางด้านภูมิศาสตร์ของภูมิภาคนี้อาจมีผลกระทบต่อภาพรวมของ FDI ได้ ซาอุดิอาระเบียได้กลายเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนมากที่สุด แซงหน้าตุรกีที่เคยเป็นอันดับ 1 ในปี 2006
  • ละตินอเมริกาและแคริเบียน มีเงินลงทุนไหลเข้า 126 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 36 เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในบราซิลและชิลี จากการควบรวมกิจการในภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาค กำไรจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นของบริษัท

สำหรับการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (FDI outflow) ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยังคงอยู่ในระดับสูงด้วยมูลค่า 253 พันล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่มประเทศเอเชียและโอเชียนเนียมีบทบาทในการลงทุนในต่างประเทศมากที่สุดในภูมิภาคซึ่งมีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของภูมิภาค

3) กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ของยุโรปตะวันออกและกลุ่ม CIS การลงทุนโดยตรงจากประเทศที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 ด้วยมูลค่าการลงทุน 86 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมา เป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 7 โดยรัสเซียเป็นประเทศที่มีการรับการลงทุนมากที่สุด เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 62 นอกจากนั้นยังพบว่าความสนใจจะลงทุนในรัสเซียดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบที่เคร่งครัดที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมกลยุทธ์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งข้อโต้แย้งในด้านการป้องกันสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงทำให้ภาพรวม FDI ของภูมิภาคนี้ไม่ได้รับผลกระทบ สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 51 พันล้านเหรียญสหรัฐ 5 ซึ่งมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2006 และรัสเซียยังคงเป็นประเทศที่มีมูลการลงทุนในต่างประเทศในระดับสูงอยู่ที่ระดับ 46 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จากแผนภาพ 3 พบว่าประเทศที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากที่สุดของโลก คือ สหรัฐอเมริกา (233 พันล้านเหรียญสหรัฐ) รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร(224 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ฝรั่งเศส (158 พันล้านเหรียญสหรัฐ) แคนาดา(109 พันล้านเหรียญสหรัฐ)และเนเธอร์แลนด์ (99 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป ทำให้ในปี 2007 สหภาพยุโรปกลายเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นแหล่งรับการลงทุนโดยตรงที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ที่ระดับ 804 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 43

สำหรับประเทศที่มีการลงทุนในต่างประเทศมากที่สุดของโลก คือ สหรัฐอเมริกา (314 พันล้านเหรียญสหรัฐ) รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร (222 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และฝรั่งเศส (266 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีการเติบโตของการลงทุนในต่างประเทศสูงกว่าการเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามา ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ทวีบทบาทในการเป็นประเทศผู้ลงทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเงินลงทุน 253 พันล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุสำคัญมาจากการขยายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติของเอเชีย โดยประเทศที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศพัฒนา ได้แก่ จีน ฮ่องกง และรัสเชีย

2. การลงทุนในรูป Cross-border M&As ทำให้การลงทุนโดยตรงของโลกเพิ่มสูงขึ้น

การเติบโตของการลงทุนโดยตรงในปี 2007 เป็นผลมาจากการแรงผลักดันของการลงทุนในรูป Cross-border M&As ที่ขยายตัวผ่านทั้งในระดับระหว่างประเทศและระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ ด้วยการเติบโตที่แข็งแกร่งและจำนวนข้อตกลงที่ร่วมลงทุนของการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega deal : มูลค่าการลงทุนที่มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่า Cross-border M&As ในปี 2007 สูงถึง 1,637 พันล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าในปี 2000 ร้อยละ 21 ขณะที่จำนวนข้อตกลงในการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12

นอกจากนั้น พบว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ยังคงมีสถานะภาพทางการเงินที่ดี จากการรายงานผลประกอบการที่มีกำไรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินอาจได้รับความสนับสนุนจากจำนวนกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign wealth funds : SWFs) ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่จำนวนการลงทุนโดยตรงประเภท Greenfield ในปี 2006 ลดลงจาก 12,441 โครงการในปี 2007

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนประเภท cross-border M&As ในปี 2007 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของการลงทุนโดยตรงของโลกได้แก่ 1) การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีความแข็งแกร่ง 2) กำไรของบริษัทข้ามชาติเพิ่มอยู่ในระดับสูง 3) การนำกำไรมาลงทุนใหม่ 4) บรรยากาศด้านการเงินที่ดีสำหรับการให้กู้แก่การลงทุนประเภท corss-border M&As 5) แรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น 6)ความสำเร็จในการลงทุนของ ABN-AMRO ที่ร่วมลงทุนกับ Royal Bank of Scotland, Fortis และ Santander ที่มีมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ในการลงทุนในสถาบันการเงินด้วยมูลค่า 98 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของ cross-border M&As นี้ได้รับผลผลิตจากการเพิ่มขึ้นของจำนวน cross-border M&As ที่ลงทุนโดย SWFs และกองทุนรวมขนาดใหญ่

3. SWFs เริ่มมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ก่อตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในรูปแบบพิเศษขึ้น เพื่อถือสินทรัพย์ที่เป็นของต่างประเทศ เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว ที่เรียกว่ากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign wealth funds : SWFs) ปัจจุบันจำนวน SWFs ได้เพิ่มขึ้นมากและกลายเป็นนักลงทุนโดยตรงที่สำคัญ จากแผนภาพ 5 -7 แม้ว่าในปี 2007 SWFs ลงทุนในรูป FDI เพียง 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.2 ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของ SWFs (มูลค่าการลงทุนของ SWFs ในปี 2007 คือ 5,000 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.6 ของ FDI ทั้งหมดของโลกก็ตาม แต่ในช่วง 3 ปีหลังระหว่างปี 2005-2007 SWFs มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับระหว่างปี 1990-2004 ที่การลงทุนในต่างประเทศในรูป Cross-border M&As ที่ลงทุนโดย SWFs เฉลี่ยต่อปี มีมูลค่าเพียง 0.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จำนวนความตกลงที่ลงทุนในรูป Cross-border M&As ของ SWFs เพิ่มขึ้นจาก 1 ข้อตกลงในปี 1987 เป็น 20 ข้อตกลงในปี 2005 และเป็น 30 ข้อตกลงในปี 2007 SWFs ลงทุนในรูป FDI ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 86.9 ของการลงทุน โดยตรงทั้งหมดของ SWfs และลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 13.1 ของการลงทุนโดยตรงทั้งหมดของ SWFs ภาคเศรษฐกิจเป้าหมาย 3 อันดับแรกที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดในระหว่างปี 1987-2007 คือ การบริการด้านธุรกิจ การบริการด้านการเงิน และการบริการด้านคมนาคมและการสื่อสาร สำหรับการลงทุนรวมของ SWFs ในปี 2007 จำนวน 3 ใน 4 ได้ลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเป็นสำคัญ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี โดยร้อยละ 73 ลงทุนในภาคบริการ โดยเฉพาะการบริการด้านธุรกิจ ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับเงินลงทุนจาก SWFs เพียง 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของการลงทุนทั้งหมด สำหรับประเทศที่เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของ SWFs ใน ปี 2007 ได้แก่ สหรัฐอาหรับมิเรตส์ นอร์เวย์ ซาอุดิอาระเบีย และคูเวต กองทุน SWFs ขนาดใหญ่ที่สุดที่ลงทุนในรูป FDI คือ Istithmar PJSC (สหรัฐอาหรับมิเรตส์ ) , Dubai Investment Group, Temasek Holding (Pte) Ltd (สิงคโปร์) และ GIC (สิงคโปร์)

4. การอ่อนค่าของค่าเงินเหรียญสหรัฐทำให้กระตุ้น FDI ไหลเข้าสู่สหรัฐอเมริกามากขึ้น

ในปี 2007 ค่าเงินเหรียญสหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเปรียบเทียบกันค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์ กล่าวคือ ช่วงปี 2000-2007 ค่าเงินเหรียญสหรัฐ ได้อ่อนค่าลงไปแล้วกว่าร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร และอ่อนค่าลงไปร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับค่าเงินปอนด์การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้ได้เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ระหว่างสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ เยน และยูโร อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของ UNCTAD พบว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ส่งผลโดยตรง ต่อการไหลเข้า/ออกของ FDI กล่าวคือ บริษัทข้ามชาติมากกว่า 1 ใน 3 จากจำนวนที่สำรวจให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงอัตรา แลกเปลี่ยนได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อ FDI ขณะที่ร้อยละ 58 ของบริษัทข้ามชาติที่สำรวจเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ และอาจส่งผลดีต่อ FDI มากกว่า

จากแผนภาพ 8 FDI ที่ไหลเข้าสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ 4 ปีที่ผ่านมา จากระดับต่ำเพียง 53 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2003 เพิ่มขึ้นเป็น 233 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2007 หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 440 ซึ่งแหล่งเงินทุนที่เข้ามาลงทุนนั้นกว่าร้อยละ 60 มาจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป การเพิ่มขึ้นของการลงทุนในสหรัฐอเมริกาจากการลงทุนของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปสามารถอธิบายได้ว่า การอ่อนค่าลงของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ประกอบกับค่าเงินยูโรและเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นขณะที่ต้นทุนการลงทุนในสหรัฐอเมริกาเองลดลง ทำให้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว นักลงทุนจากสหภาพยุโรปมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจึงก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อลงทุนในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ FDI ที่ไหลเข้าสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นในภาวะที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนตัวลง

5. ผลกระทบจากวิกฤตด้านการเงินส่งผลต่อ FDI ในปี 2007 ในวงจำกัด แต่มีความรุนแรงในปี 2008

ปัญหา sub-prime ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี 2007 ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและก่อให้เกิดปัญหาการขาดสภาพ คล่องในหลาย ๆ ประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคที่ส่งผลต่อความสามารถของบริษัทในการลงทุนมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้มีเงินทุนเพียงพอที่จะลงทุนได้ จากกำไรของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในระดับมหภาค เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอาจจะได้รับผลกระทบทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาในตลาดเงินสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะปัญหาการขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับการไหลเข้า/ออก ของ FDI ที่มีแนวโน้มลดลง

นอกจากนั้น ภาวะวิกฤตด้านสินเชื่อในสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกจากการที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลง ซึ่งยากที่จะกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่มีผลกระทบต่อ FDI เลย เพราะค่าเงินเหรียญสหรัฐที่ลดลงนั้นช่วยกระตุ้นการลงทุนในรูปของ FDI เข้าสหรัฐอเมริกามากขึ้น ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการลงทุนประเภท cross-border M&As ด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2008 มูลค่าการร่วมลงทุนจะน้อยกว่าครึ่งปีหลังของ ปี 2007 ถึงร้อยละ 29 และกำไรบริษัทจะมีแนวโน้มลดลง ในภาพรวมตลอดทั้งปี 2008 คาดว่ามูลค่า FDI ของโลกจะอยู่ที่ระดับ 1,600 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะลดลงจากปี 2007 ร้อยละ 10 ขณะที่ FDI ที่ไหลเข้าสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะ ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย แต่ยังมีแนวโน้มที่ดีในระยะปานกลาง

6. แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของโลก

จากการคาดการณ์แนวโน้ม FDI ของ UNCTAD ชี้ให้เห็นว่า ตลอดระยะ 4 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกมีการเติบโตในระดับที่สูงจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของ GDP ที่อยู่ในระดับสูง แต่ในปี 2008 คาดว่า จะมีการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจเนื่องจากวิกฤตด้านการเงินและสินเชื่อ ซึ่งส่งผลกระทบประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประกอบกับปัญหาราคาน้ำมันและราคาอาหารที่ สูงขึ้นเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์แย่ลงไปอีก อย่างไรก็ตามชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะช่วยชดเชยความเสียหายของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ระดับหนึ่ง FDI ของโลกในปี 2008 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,600 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าในปี 2007 อยู่ร้อยละ 10

การลงทุนประเภท cross-border M&As ในครึ่งปีแรกของปี 2008 จะลดลงจากครึ่งปีหลังของปี 2007 ร้อยละ 29 การลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการจากจีนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และการแสวงหาโอกาสทำกำไรของบริษัทข้ามชาติในภาคการผลิตขั้นต้น (Primary sector) เช่น แก๊สธรรมชาติและน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนั้น ระหว่างปี 2008-2010 นักลงทุนมีความเชื่อว่า FDI จะขยายตัวในเชิงบวกลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในปี 2007 แต่ก็ยังเชื่อว่าในระยะปานกลาง FDI มีแนวโน้มที่ดีที่จะปรับตัวสูงขึ้น สำหรับประเทศนักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรกในระหว่างปี 2008-2010 ได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

โดย นางสาวกฤติกา โพธิ์ไทรย

ประจำเดือนตุลาคม 2551

สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

Tel : 0-2273-9020 ต่อ 3651

Fax : 0-2273-9987

http://www.fpo.go.th


แท็ก Investment   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ