รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 12, 2008 11:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ พ.ย. 2551

SUMMARY:
  • BOT ส่งสัญญานลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ดีเซลลดดันปิกอัพฟื้นตัว
  • สัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแพร่ถึงประเทศจีน
HIGHLIGHT:
1. BOT ส่งสัญญานลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 3 ธ.ค.51นี้ มีโอกาสที่ธปท.จะนำดอกเบี้ยนโยบายมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ภาวะศ.ก.เริ่มชะลอตัวลง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.75 นั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงยังติดลบ และไม่ถือว่าสูงเกินไปที่จะเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจโดยเห็นได้จากสินเชื่อเดือนก.ย.51ที่เติบโตร้อยละ 10.8 นอกจากนี้ธปท.จะดูแลสภาพคล่องให้มากขึ้นในระยะต่อไป จากที่ปัจจุบันที่ปล่อยเข้าสู่ระบบเพียงวันละ 4-5 แสนล้าน แต่ในระยะต่อไปคาดว่าสภาพคล่องน่าจะตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากสินเชื่อโตมากกว่าเงินฝาก โดยสินเชื่อขยายตัว 10% เศษ แต่เงินฝากโตเพียง 1.4 %
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการทางการเงินของธปท. ที่มีโอกาสผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยเพิ่มแรงขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจสามารถประคองธุรกิจต่อไป รวมถึงมาตรการอื่นๆ จากภาครัฐเพื่อลดผลกระทบจากการชะลอตัวของศ.ก.โลกที่รุนแรงน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปี 52 เติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ต่อปี
2. ดีเซลลดดันปิกอัพฟื้นตัว
  • บ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานยอดจำหน่ายรถปิกอัพ 1 ตัน และรถพีพีวี ช่วง ม.ค.-ต.ค. 51 หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ -15.0 ต่อปี การถดถอยของตลาดรถปิกอัพเริ่มชัดเจนตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาเมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันปีก่อนและตกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดถึงปัจจุบันโดยเฉพาะจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาขายปลีกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ตลาดปิกอัพเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบยอดจำหน่ายแบบเดือนต่อเดือนในปีเดียวกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวต่อเนื่องจาก ไตรมาส 3 ที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -25.8 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ -5.6 ต่อปี สะท้อนว่าการบริโภคและการลงทุนต่างๆในไตรมาส 3 ยังมีสัญญาณการฟื้นตัวไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากแนวโน้มราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนผู้ประกอบการตลอดจนภาระค่าครองชีพผู้บริโภคลงได้บ้าง
3. สัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแพร่ถึงประเทศจีน
  • สัญญาณบ่งบอกถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มเด่นชัดขึ้นเมื่อตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำเดือน ต.ค.เปิดเผยออกมา โดยตัวเลขการส่งออกเดือน ต.ค. ขยายตัวร้อย 19.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 21.5 และเมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 25.7ขณะที่การนำเข้ามีการชะลอตัวลงอย่างมาก โดยการนำเข้าเดือน ต.ค. ขยายตัวเพียงร้อยละ 15.6 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.3 ทำให้ดุลการค้าเดือนต.ค.ทะยานขึ้นทำสถิติใหม่ที่ระดับ 35.24 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 29.37 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากตัวเลขการนำเข้าของจีนประจำเดือน ต.ค. ที่ขยายตัวชะลอลงมากแสดงให้เห็นว่าจีนได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการเงินโลกแล้ว ภาคการบริโภคในประเทศเริ่มมีการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยการใช้จ่ายสินค้าขนาดใหญ่อย่างรถยนต์และบ้านชะลอลงมากในเดือนนี้ จึงทำให้การนำเข้าวัตถุดิบหลักเช่น เหล็กลดลงมาก และสะท้อนออกมาให้เห็นที่มูลค่าการนำเข้าที่ลดลง อย่างไรก็ดีทางรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเน้นเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ โดยหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8-9 ในปีหน้า

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ