รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 13, 2008 11:51 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 พ.ย. 2551

SUMMARY:
  • ธุรกิจรับสร้างบ้านฮึดสู้ กำลังซื้อฝืด
  • วิกฤตซับไพร์มฉุดการส่งออกเอเชียทรุด
  • ธนาคารโลกปล่อยกู้เพิ่มแสนล้านดอลล์ ชาติกำลังพัฒนารับวิกฤติการเงิน
HIGHLIGHT:
1. ธุรกิจรับสร้างบ้านฮึดสู้ กำลังซื้อฝืด
  • นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บวกกับปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อภาพรวมความต้องการสร้างที่อยู่อาศัยในกลุ่มบ้านสร้างเองไม่น้อย เห็นได้จากสถิติจดทะเบียนบ้านสร้างเองช่วงปี 49-50 มีจำนวนลดลงจาก 28,949 ยูนิต เหลือ 25,251 ยูนิต และคาดการณ์ว่าในปี 51 และ 52 จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าปี 51 สถิติจดทะเบียนบ้านสร้างเองจะปรับลดลงประมาณร้อยละ 10 เหลือ 22,700 ยูนิต ขณะที่ปี 52 จะปรับลดลงอีกร้อยละ 5 เหลือ 21,570 ยูนิต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะการก่อสร้างเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเมื่อพิจารณาจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนก่อสร้างผ่านยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็ก ไตรมาส 3 ปี 51 ที่หดตัวร้อยละ -16.5 ต่อปี และร้อยละ -20.2 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ธุรกิจรับสร้างบ้านถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงต่อภาคธุรกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกจากแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างที่เริ่มมีทิศทางปรับตัวลดลง และหาก ธ.พาณิชย์ ผ่อนคลายความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออาจช่วยกระตุ้นการก่อสร้างได้มาก
2. วิกฤตซับไพร์มฉุดการส่งออกเอเชียทรุด
  • หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า ความกังวลของหลายฝ่ายต่อเศรษฐกิจในเอเชีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยนั้นกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่ตัวเลขการส่งออกเดือน ต.ค.ของ 3 ประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย ประกอบด้วย จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ได้หดตัวลงเนื่องจากปริมาณความต้องการสินค้านำเข้าในสหรัฐและประเทศกลุ่มยุโรปลดลง โดยตัวเลขการส่งออกเดือน ต.ค. ของจีน ได้ขยายตัวน้อยที่สุดในรอบ 4 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 19.2 ในขณะที่อินเดีย ตัวเลขการส่งออกสินค้าเดือน ต.ค. ลดลงร้อยละ 15 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และการส่งออกของญี่ปุ่นนั้น ตัวเลขการส่งออกใน 20 วันแรกของเดือน ต.ค. ลดลงร้อยละ 9.9 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในเอเชียนอกจากประเทศจีน อินเดีย และญี่ปุ่นแล้ว ยังมีประเทศสิงคโปร์ ( GDP Q3/51 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี) ที่ได้ผลจากวิกฤตการเงินสหรัฐแล้วและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีและปี 52 เนื่องจากประเทศดังกล่าวเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกรวม อย่างไรก็ตาม ไทยควรหาตลาดใหม่ที่โดนผลกระทบน้อย เช่น ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา ทั้งนี้ สศค.คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2552 จะขยายตัวร้อยละ 10 ต่อปี ต่ำกว่าในปี 51 ที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับร้อยละ 20 ต่อปี
3. ธนาคารโลกปล่อยกู้เพิ่มแสนล้านดอลล์ ชาติกำลังพัฒนารับวิกฤติการเงิน
  • ธนาคารโลกออกแถลงการณ์เร่งให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลก ด้วยการเพิ่มวงเงินปล่อยกู้รวม 100,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้า แก่ประเทศกำลังพัฒนาผ่านธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนาระหว่างประเทศ (IBRD) ของธนาคารโลก ซึ่งมีหน้าที่ปล่อยกู้แก่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั้งนี้ การเพิ่มความช่วยเหลือทางการครั้งนี้จะช่วยปกป้องชาติยากจนที่สุดและชาติที่เปราะบางที่สุดไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเผชิญหน้ากับการขาดดุลงบประมาณครั้งใหญ่ และช่วยให้ให้ประเทศเหล่านั้นสามารถคงการลงทุนระยะยาวไว้ได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการตึงตัวของตลาดสินเชื่อ จะส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยเผชิญกับความเสี่ยงด้านการลงทุนภายในประเทศ การท่องเที่ยว และปริมาณการส่งออกที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของ GDP ที่ชะลอตัวลงตามมาในปีหน้า ซึ่งความช่วยเหลือทางการเงินของธนาคารโลกในครั้งนี้จะสามารถชดเชยกระแสเงินทุนหมุนเวียนของภาคเอกชนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ลดลงไปมากได้บ้าง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ