รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 14, 2008 12:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 พ.ย. 2551

SUMMARY:
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหนุนบาทอ่อนและปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนต.ค.51 อยู่ที่ระดับ 68.6 ลดลงเป็นเดือนที่ 3
  • เศรษฐกิจเยอรมันนีเข้าสู้ภาวะถดถอย
HIGHLIGHT:
1. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหนุนบาทอ่อนและปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ กล่าวว่า ธปท.ควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5-1 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักธุรกิจให้กลับมาได้เร็วขึ้น นอกจากนี้หากค่าเงินบาทอ่อนลงจะเป็นผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรลดลง และได้กล่าวถึงภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งภาครัฐต้องวางแผนดำเนินนโยบายต่างๆ ให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไปได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรมล่าสุด (ก.ย.51) อยู่ที่ 81.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 83.0 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักธุรกิจที่ลดลง ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ จึงเป็นแนวทางหนึ่งการการเพิ่มความเชื่อมั่นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรดูแลเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจ และงบกระแสเงินสดให้ดีด้วย ในขณะที่อุตสาหกรรมส่งออกควรกระจายตลาดให้เหมาะสม
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนต.ค.51 อยู่ที่ระดับ 68.6 ลดลงเป็นเดือนที่ 3
  • มหาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนต.ค.51 อยู่ที่ระดับ 68.6 ลดลงเดือนก.ย.ที่อยู่ระดับ 69.5 และถือเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) การที่ผู้บริโภคกังวลว่าปัญหาการเมืองในประเทศกระทบต่อการลงทุนและท่องเที่ยว 2) ความวิตกกังวลต่อวิกฤติการเงินสหรัฐฯที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงสะท้อนถึงประชาชนมีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกแล้วยังส่งผลต่อภาวะการจ้างงานของไทยในอนาคต อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังปัจจัยบวกในเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงประกอบกับภาครัฐมีนโยบายออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนได้บ้าง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะยังขยายตัวได้ดีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.0 ต่อปี
3. เศรษฐกิจเยอรมันนีเข้าสู้ภาวะถดถอย
  • ตัวเลข GDP ของเยอรมันนีในไตรมาสสาม หดตัวที่ร้อยละ -0.5 จากไตรมาสที่แล้วที่หดตัวร้อยละ -0.4 ซึ่งเป็นหลักฐานว่าเศรษฐกิจเยอรมันนี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก ได้เข้าสู้ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งที่เศรษฐกิจเยอรมันนีไม่ได้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และในสินเชื่อบุคคล เหมือนดังเศรษฐกิจสหรัฐ แต่เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าทุนและสินค้าคงทน ซึ่งเป็นสินค้าที่พึ่งพาการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างสูง ในขณะที่มีการบริโภคภายในประเทศเป็นสัดส่วนน้อย
  • สศค. วิเคราะห์ว่าภาวะถดถอยของเศรษฐกิจเยอรมันนี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมันนีมีความเกี่ยวข้องกับทั้งเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และเศรษฐกิจเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก อุปสงค์ของเยอรมันนีที่ลดลง จึงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งเช่นนี้ อาจจทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจยุโรปลดลงอีกด้วย ส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนอย่างมาก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ