รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 17, 2008 12:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 พ.ย. 2551

SUMMARY:
  • ภาคธุรกิจส่งสัญญาณปรับลดแรงงาน
  • หลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปทยอยเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • G-20 ให้คำมั่นที่จะเร่งฟื้นฟูระบบการเงินโลก
HIGHLIGHT:
1. ภาคธุรกิจส่งสัญญาณปรับลดแรงงาน
  • จากวิกฤตการเงินสหรัฐ เริ่มส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคธุรกิจเอกชนไทยบ้างแล้ว โดยธุรกิจบางแห่งเริ่มส่งสัญญาณปรับลดกำลังการผลิตแล้ว โดยเฉพาะอุตสหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนในปี 52 ในขณะที่อุตสหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มีการปลดคนงานออกแล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบเมื่อกลางปี 50
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากวิฤติการเงินสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆของไทยต่างกัน โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากและรวดเร็ว ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากมีตลาดหลักอยู่ที่อเมริกา และยุโรป ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆเช่น อาหาร ยานยนต์ จะได้รับผลกระทบช้ากว่า เนื่องจากมีการกระจายตลาดไปอื่นๆมากกว่า ทั้งนี้ สศค.ได้มีการติดตามการจ้างงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำเสนอนโยบายแก้ไขได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม สศค.คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 52 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 -7.0 ต่อปี
2. หลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปทยอยเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • จากข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สาม ชี้ให้เห็นว่าหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession) อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยูโรป 15 ประเทศในไตรมาสที่ 3 หดตัวลงที่ร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลให้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่มีการประกาศใช้เงินสกุลยูโรเมื่อปี คศ. 1999 ประเทศที่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการได้แก่ประเทศเยอรมันและอิตาลี สำหรับประเทศอังกฤษ สเปนและฝรั่งเศส มีการหดตัวทางเศรษฐกิจเพียงไตรมาสเดียว จึงยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเข้าสู่ภาวะถดถอยของหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นสัญญาณเตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นได้ไม่รวดเร็วนัก และคาดว่าจะเกิดการชะลอตัวของภาคการผลิตและการจ้างงานในทวีปยุโรปต่อไปในอนาคต ประกอบกับการที่ยังไม่มีความชัดเจนในแผนกู้วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างชะลอการลงทุนออกไปอีก
3. G-20 ให้คำมั่นที่จะเร่งฟื้นฟูระบบการเงินโลก
  • ผู้นำกลุ่มชาติอุตสาหกรรมและกำลังพัฒนาชั้นนำ 20 ประเทศ (G-20) ได้ประกาศหลังการประชุมสุดยอดเศรษฐกิจการเงินโลก (World Finance and Economic Summit) ให้คำมั่นในการเร่งช่วยเหลือเศรษฐกิจโลก และฟื้นฟูระบบการเงินโลกในอนาคต โดยจะ (1) พร้อมที่จะใช้นโยบายการคลังและดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจหากจำเป็น (2) ศึกษาว่าผลตอบแทนของผู้บริหารสถาบันการเงินมีผลต่อวิกฤตหรือไม่ (3) ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักหักบัญชี (Clearinghouses) สำหรับอนุพันธ์และตราสารการเงิน (4) ขยายคณะทำงานเสถียรภาพการเงินโลก (Financial Stability Forum) ให้รวมประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น และ (5) ผลักดันให้การประชุมองค์การการค้าโลกรอบโดฮาสำเร็จลงในปลายปี 51 ทั้งนี้ การประชุมครั้งต่อไปจะจัดในเดือน เม.ย. 52
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่ประชุมดังกล่าวมิได้มีการประกาศมาตการสำคัญที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจการเงินโลกทันที (Groundbreaking) เช่น การร่วมมือผลักดันนโยบายการเงินการคลังร่วมกัน การจัดตั้งหน่วยงานระดับโลก (Colleges of Supervisors) เพื่อกำกับดูแลสถาบันการเงิน และการให้ความช่วยเหลือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในการกอบกู้เศรษฐกิจที่ประสบปัญหา เนื่องจากประธานาธิบดีจอร์จ บุช ซึ่งเป็นประธานการประชุมครั้งนี้กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าเมื่อว่าที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เข้ารับตำแหน่งในปี 52 จะผลักดันมาตรการลดหย่อนทางภาษีรวมถึงเป็นผู้นำผลักดันการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงินโลกให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกในอนาคตได้บ้าง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ