รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 10-14 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 17, 2008 14:28 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รายได้สุทธิรัฐบาลเดือน ต.ค. 51 จัดเก็บได้สุทธิ 92.0 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -18.4 โดยรายได้รวมของ 3 กรมจัดเก็บภาษีเท่ากับ 105.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี โดยภาษีหลักที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายตัวร้อยละ 2.2 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับขณะที่ภาษีหลักที่จัดเก็บได้ลดลง ได้แก่ ภาษีน้ำมัน และภาษีเบียร์ ลดลงร้อยละ -71.8 และ -23.2 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาฐานภาษี พบว่ายอดการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล) ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนๆ ที่ขยายตัวได้ถึง 2 หลัก เนื่องจากผลประกอบการของนิติบุคคลปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลง ขณะที่ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขยายตัวร้อยละ 9.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมูลค่าการนำเข้าสินค้าชะลอลง บวกกับการบริโภคภายในประเทศอาจจะชะลอตัวลงด้วย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ต.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปีชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 18.0 ต่อปีแม้ว่าความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อปรับตัวลดลงมากตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงราคาบริการโดยสารสาธารณะ และราคาบริการสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว มีส่วนทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 68.6

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ต.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 20.4 ต่อปีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 ต่อปี ใกล้เคียงกับที่ สศค.คาดไว้ที่ร้อยละ 20.0 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานที่ต่ำช่วงเดียวกันปีก่อนประกอบกับช่วงต้นเดือน ก.ย. ค่ายรถยนต์บางค่ายเปิดตัวรถยนต์ขนาดเล็กที่สามารถใช้กับน้ำมันพลังงานทางเลือกให้สอดคล้องกับกำลังซื้อผู้บริโภคได้มากขึ้น และราคาน้ำมันที่มีทิศทางปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า งาน Motor Expo ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน พ.ย.-ธ.ค. 51 น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะต่อไป ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนการลงทุนที่ยังอ่อนแอ

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ต.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 13.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี และต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 17.0 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากสภาพคล่องในระบบเริ่มตึงตัวขึ้น เนื่องจาก ธ.พาณิชย์เริ่มเข้มงวดในการอนุมัติปล่อยสินเชื่อลูกค้าในกลุ่มที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขอรับสินเชื่อผู้ชื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะและมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเร่งทำการโอนซึ่งช่วยพยุงให้ยอดจัดเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังสามารถขยายตัว

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ต.ค. 51 หดตัวลงมากที่ร้อยละ -6.9 ต่อปีจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี เป็นผลมาจากการชะลอตัวของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่แม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวแต่ผลผลิตลดลงเนื่องจากได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายเดือนก.ย.-กลางเดือน ต.ค. ในขณะที่ยางพาราผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกหนักไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือน ต.ค. 51 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากที่ร้อยละ 14.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 31.1 ต่อปี เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา เริ่มปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการของโลกชะลอตัวลง บวกกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับลดลงมากโดยเฉพาะข้าวและยางพารากดดันให้ราคาในประเทศลดลงตาม

Economic Indicators: Next Week

มูลค่าการส่งออกสินค้าเดือน ต.ค.51 จะขยายตัวที่ร้อยละ 12.7 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 19.4 ต่อปี ผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ โดยเฉพาะสหรัฐฯและสิงคโปร์ ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้า คาดว่าจะขยายตัวชะลอตัวลงที่ร้อยละ 23.6 ต่อปี จากร้อยละ 39.4 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยคาดว่าการนำเข้าน่าจะชะลอตัวลงในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเชื้อเพลิงที่ระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงมามาก โดยดุลการค้าเดือน ต.ค. 51 คาดว่าจะเกินดุลเล็กน้อยที่ประมาณ 0.3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงในเกือบทุกสกุล ยกเว้นค่าเงินเยน

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในภาคการเงินจากการที่ (1)รัฐมนตรีคลังฯ สหรัฐ ปรับเปลี่ยนแผนกองทุน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพือช่วยเหลือภาคการเงิน (Troubled Asset Relief Program : TARP) จากเดิมเข้าซื้อหนี้เสียภาคอสังหาริมทรัพย์มาเป็นการเพิ่มทุนให้กับบริษัทที่ออกสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตที่กำลังประสบปัญหาขาดการชำระหนี้แทน (2) การที่ FED อนุญาตบริษัทเครดิตขนาดใหญ่อย่าง American Express แปลงสภาพเป็นธนาคารได้เพื่อให้ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือทางการเพิ่มทุน ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงปัญหาสภาพคล่องให้กับตลาดได้ และ (3) อัตราการว่างงานของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี นอกจากนั้นอัตราว่างงานของอังกฤษในเดือน ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้นักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมากขึ้น และถอนการลงทุนจากตลาดอื่น ๆ กลับไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐแทน

ขณะเดียวกัน การที่ค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเนื่องจากตลาดยังกังวลว่าเศรษฐกิจเอเชียจะได้รับผลกระทบรุนแรงวิกฤตการณ์การเงินโลกจึงถอนการลงทุน โดยเฉพาะในเกาหลีและอินโดนิเซียที่ทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง ค่าเงินวอนและรูเปียห์อินโดนิเซียจึงอ่อนค่าลงมาก แม้ทางการของทั้งสองประเทศจะออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจแล้วก็ตาม

ในขณะที่เงินเยนปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะ risk aversion ที่นักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศยังคงถอนการลงทุนจากตลาดต่าง ๆ และกลับไปคืนเงินกู้ (Unwind Carry Trade) เนื่องจากตลาดยังคงมีความกังวลว่าภาวะวิกฤตการณ์การเงินโลกยังคงรุนแรงต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นยกเว้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน และยูโรที่บาทอ่อนค่าลง

สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักแข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินสกุลหลักทั้งปอนด์สเตอลิงค์และสกุลเอเชียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานของ TARP ทำให้นักลงทุนกังวลและถอนการลงทุนจากตลาดดังกล่าวกลับไปยังสหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแรงซื้อเงินบาทจากผู้ส่งออก ขณะที่มีแรงขายเงินบาทจากผู้ผลิตและผู้นำเข้า ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อย ซึ่งการที่ค่าเงินยุโรปและเอเชียบางสกุลอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าว

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย ปอนด์เสเตอลิงค์และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 14 พ.ย. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 5.31 แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 4.45

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 57.5) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 38.8) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 34.9) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 10.4) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 8.4) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 8.2) ยูโร (ร้อยละ 6.9) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 6.2) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.4) และดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.2) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ เงินเยน (ร้อยละ 9.4)และหยวน (ร้อยละ 7.1)

Foreign Exchange and Reserves

ณ วันที่ 7 พ.ย.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 112.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.05พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 7 พ.ย.51) ร้อยละ 0.15 จาก 34.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 31 ต.ค. 51 ตามการอ่อนค่าลงในภูมิภาค เนื่องจากตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจเอเชียจะได้รับผลกระทบรุนแรงวิกฤตการณ์การเงินโลกจึงถอนการลงทุนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 31 ต.ค. 51

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือน ต.ค. 51 ลดลง240,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน (อีกทั้งยังมีการแก้ไขตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ส.ค.และก.ย. 51 เป็นลดลง 127,000 และ 284,000 ตำแหน่งอีกด้วย) ทั้งนี้ การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมลดลงจำนวน 90,000 ตำแหน่ง ภาคการเงินลดลง 24,000 ตำแหน่ง และภาคบริการลดลง 51,000 ตำแหน่ง โดยนับตั้งแต่ต้นปี 51 การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงทั้งสิ้น 1.2 ล้านตำแหน่ง สะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจจริงได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติการเงินโลก

ดุลการค้าไต้หวันเดือน ต.ค. 51 อยู่ที่ 2.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออก โดยการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -7.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 ต่อปี และการส่งออกหดตัวลงที่ร้อยละ -8.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.6 ต่อปี สะท้อนว่าอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศชะลอตัวลงอย่างมาก โดยการส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไต้หวัน หดตัวถึงร้อยละ -8.4 ต่อปี ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังสหรัฐ จีน และสหภาพยุโรปหดตัวลงถึงร้อยละ -11.4 ร้อยละ -19.9 และร้อยละ -5.7 ต่อปี ตามลำดับ

ดุลการค้าจีนเดือน ต.ค. 51 เกินดุลสูงถึง 35.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังเพิ่มขึ้นจาก 29.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงมากจากร้อยละ 21.3 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า เหลือเพียงร้อยละ 15.4 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 21.5 ต่อปี ในเดือน ก.ย. 51 เป็นร้อยละ 19.1 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลมาก ทั้งนี้การนำเข้าที่ชะลอลงเป็นผลจากราคาสินค้าที่ลดลงและความต้องการที่มีการขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยสินค้านำเข้ากว่าครึ่งเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ทำให้คาดว่าการส่งออกในเดือนถัดไปน่าจะขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องไปอีก

ดุลการค้าของสหรัฐเดือนก.ย.51 ขาดดุลอยู่ที่ -56.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 11.4 ต่อปีในเดือน ส.ค.51 มาอยู่ที่ร้อยละ 11.3 ต่อปีในเดือน ก.ย.51 ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ในขณะที่การส่งออกชะลอตัวลงจากร้อยละ 16.9 ต่อปีในเดือนก่อนหน้าเป็นร้อยละ 9.6 ต่อปีในเดือนนี้

ผลผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือน ก.ย. 51 หดตัวลงร้อยละ -2.4 ต่อปี ถือเป็นการลดลงติดต่อเป็นเดือนที่ห้านับตั้งแต่เดือนพ.ค. 51 โดยการผลผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทคงทนมีการหดตัวลงมากที่สุดที่ร้อยละ -6.7 ต่อปี และเป็นการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -6.0 ต่อปี ขณะที่สินค้าขั้นกลางหดตัวลงร้อยละ -3.5 ต่อปี ส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ -1.4 ต่อปีทั้งนี้ ผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวลงนี้ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนอาจหดตัวลงในไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องจากการหดตัวลงร้อยละ -0.2 (QOQ) ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

Major Trading Partners’ Economies: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือน ต.ค. 2551 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.6 ต่อปีซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างมาก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดโลกปรับลดลงจาก 60.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อสิ้นเดือนก่อนเหลือเพียง 51.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ ปัจจุบัน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงจะช่วยลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางของสหภาพยุโรป ให้สามารถดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดอัตราดอกเบี้ยได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ