ผลการบริหารจัดการหนี้สาธารณะภาครัฐ ประจำเดือนตุลาคม 2551 และรายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 20, 2008 09:28 —กระทรวงการคลัง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอสรุปผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนตุลาคม 2551 พร้อมทั้งรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ดังนี้

1. การปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ

เดือนตุลาคม 2551

หนี้ในประเทศ

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยทำการ Roll Over หนี้เดิม วงเงินรวม 495 ล้านบาท

2. การกู้เงินภาครัฐ

เดือนตุลาคม 2551

กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท

3. การชำระหนี้ภาครัฐ

เดือนตุลาคม 2551

กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณ

รวม 4,867 ล้านบาท โดยเป็นการชำระคืนเงินต้น 393 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 4,474 ล้านบาท

รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2551 มีจำนวน 3,408,231 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.22 ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,162,111 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 988,440 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 102,346 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 138,218 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 17,116 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น46,470 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 28,619 ล้านบาท 11,596 ล้านบาท 4,951 ล้านบาท และ 1,304 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง

การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรงและหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 28,619 ล้านบาท รายการ

ที่สำคัญเกิดจากการปรับเพิ่มระดับตั๋วเงินคลัง จำนวน 27,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะดุลเงินสดของรัฐบาล

ในเดือนดังกล่าว และรัฐบาลได้ทำการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงินรวม 664 ล้านบาท และออกพันธบัตรรัฐบาลสำหรับ Roll Over พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนด จำนวน 9,925 ล้านบาท และนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น จำนวน 8,419 ล้านบาท ที่ใช้เป็น Bridge Financing นอกจากนี้ ได้ Prepay ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 2,500 ล้านบาท

สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 11,596 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ต่างประเทศทั้งในส่วนที่รัฐบาลค้ำประกันและไม่ค้ำประกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น 4,931 ล้านบาท และ 3,517 ล้านบาท ตามลำดับ

หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 4,951 ล้านบาท รายการที่สำคัญ

เกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน เนื่องจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ออกพันธบัตร วงเงิน 4,000 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตร วงเงิน 1,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ออกพันธบัตร วงเงิน 2,000 ล้านบาท

สำหรับหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้นสุทธิ 1,304 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการบันทึกรับรู้ดอกเบี้ยค้างจ่ายพันธบัตรของกองทุน

หนี้สาธารณะ 3,408,231 ล้านบาท แยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 387,443 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.37 และหนี้ในประเทศ 3,020,788 ล้านบาท หรือร้อยละ 88.63 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,251,200 ล้านบาท หรือร้อยละ 95.39 และหนี้ระยะสั้น 157,031 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.61 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

ส่วนประสานสัมพันธ์นักลงทุน สำนักนโยบายและแผน

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5510, 5507

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 88/2551 19 พฤศจิกายน 51--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ