รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 21, 2008 14:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 พ.ย. 2551

SUMMARY:
  • เลขาธิการอาเซียนสนับสนุนการปล่อยกู้ทุนสำรองร้อยละ 2.5
  • ค่ายรถยนต์ทั่วโลกจ่อปลดพนักงานปี 52
  • เศรษฐกิจสหรัฐฯทรุด ญี่ปุ่นส่งออกดิ่งเหว
HIGHLIGHT:
1. เลขาธิการอาเซียนสนับสนุนการปล่อยกู้ทุนสำรองร้อยละ 2.5
  • เลขาธิการสหประชาชาติตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวในงานประชุมนานาชาติ เรื่อง อนาคตการรวมตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย โดยเสนอให้ชาติเอเชียที่มีทุนการสำรองเงินตราต่างประเทศรวมกัน 500,000 ล้านดอลลาร์ กันสำรองร้อยละ 2.25 หรือ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้ธนาคารโลกหรือธนาคารพัฒนาเอเชียบริหาร ส่วนการนำไปปล่อยกู้ให้เอกชนที่ต้องการทำโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นโครงการเชื่อมต่อระหว่างลาว เขมร กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งเส้นทางเชื่อมระหว่างคุนหมิงถึงสิงคโปร์
  • สศค. วิเคราะห์ สภาพคล่องที่ตึงตัวในตลาดการเงินของประเทศต่างๆในปัจจุบัน ที่เกิดจากวิกฤตการเงินโลกนั้น หากอาเซียนสามารถปล่อยกู้ได้ นอกจากจะช่วยให้ประเทศต่างๆในอาเซียนมีสภาพคล่องในประเทศมากขึ้น และจะช่วยรองรับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวได้ระดับหนึ่งแล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคได้รวดเร็วขึ้น และก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินโลกได้ในอนาคต
2. ค่ายรถยนต์ทั่วโลกจ่อปลดพนักงานปี 52
  • ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐ ยุโรป และเอเซีย ปรับตัวต้านวิกฤตการเงินโลก ในปี 52 โดยค่ายมาสด้าลดพนักงาน 1,300 คน ในญี่ปุ่น อีซูซุลดพนักงาน 1,400 คน และลดกำลังผลิตร้อยละ 10 ในญี่ปุ่น โตโยต้าลดกำลังผลิตในไทยปีละ 2 แสนคัน และเสนอโครงการ early retire แก่พนักงาน 340 คน นิสสันลดพนักงาน 3,500 คนทั่วโลก เปอร์โยต์-ซีตรองลดพนักงาน 2,700 คน ส่งผลให้ตัวเลขว่างงานคาดการณ์ในสหรัฐ-ยุโรป ถึงร้อยละ 8.9
  • ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์คาดลูกจ้างค่ายรถยนต์ในไทย 1.3 หมื่นคนถูกเลิกจ้าง ขณะที่ ประธานสหพันธ์แรงงานโลหะแห่งประเทศไทย กล่าวว่าตั้งแต่ ส.ค.-ปัจจุบัน เหล็กเส้นราคาเพียง 17 บาท / กก.จำเป็นต้องลดการผลิตเหลือ 8 ชั่วโมง จาก 24 ชั่วโมง และอาจส่งผลให้ตกงานกว่า 2,600 คน ในอีก 1 เดือนข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากวิกฤตการเงินโลกดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีสัดส่วนผลผลิตประมาณร้อยละ 5.0 ของผลผลิตอุตสาหกรรมทั้งหมด และพึ่งพาการส่งออกประมาณร้อยละ 10.0 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์จะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับอีกหลายอุตสาหกรรม อาทิ เหล็ก น้ำมัน ปิโตรเลียม อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ และส่งผลกระทบปัญหาการว่างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ดังกล่าว ตามมา
3. เศรษฐกิจสหรัฐฯทรุด ญี่ปุ่นส่งออกดิ่งเหว
  • ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ได้ปรับลดการคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้า โดยหากขยายตัวจะอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี แต่หากชะงักงันจะหดตัวที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่อยู่ในช่วงร้อยละ 2-2.8 ต่อปี ทั้งนี้ ตัวเลขโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยก็ลดลงมาถึงร้อยละ 38.8 ต่ำที่สุดในรอบ 49 ปี ในขณะที่การส่งออกของญี่ปุ่นปรับลดลงถึงร้อยละ 7.7 ส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลถึง 6.39 หมื่นล้านเยน ทั้งนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของทั้งสองประเทศ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน และดัชนีปรับลดตัวลงเป็นอย่างมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสองเสาหลักใหญ่ของเศรษฐกิจโลกเริ่มส่อเค้าย่ำแย่ ย่อมส่งผลถึงประเทศไทยในแง่ของการส่งออกในปี 2552 ที่อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าอย่างแน่นอน โดยสศค.คาดไว้ ณ ก.ย. 51 ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 10.0 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ