รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 17-21 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 25, 2008 10:09 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ก.ย. 51 อยู่ที่ร้อยละ 36.22 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 35.5 โดยมียอดรวมหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 3,408 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจำนวน 46.47 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง โดยเฉพาะในส่วนของตั๋วเงินคลังที่เพิ่มขึ้น 27.0 พันล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นสุทธิ 11.6 พันล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศเมื่อแปลงเป็นเงินบาท

มูลค่าการส่งออกรวมในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน ต.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี เป็นผลจากการชะลอตัวและหดตัวของการส่งออกสินค้าหลัก โดยการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมชะลอตัวจากร้อยละ 46.1 ต่อปี เป็นร้อยละ 17.4 ต่อปี ผลจากปริมาณการส่งออกข้าวที่หดตัวลง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกขยายตัวชะลอตัวลงมาก จากร้อยละ 13.9 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 0.8 ต่อปี โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20.0 และร้อยละ 11.2 ของการส่งออกรวม มีอัตราการหดตัวถึงร้อยละ -4.2 และร้อยละ -16.0 ต่อปี เป็นผลจากภาวะชะลอตัวและถดถอยของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกสินค้า เป็นผลจากการการขยายตัวด้านราคาร้อยละ 8.0 ต่อปี และการหดตัวด้านปริมาณร้อยละ -2.6 ต่อปี

มูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เดือน ต.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 21.7 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 39.4 ต่อปี ผลจากการนำเข้าที่ชะลอตัวลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ มีการชะลอตัวลงจากร้อยละ 59.2 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 34.8 ต่อปี ซึ่งเป็นเครื่องชี้ได้ว่าการผลิตในประเทศเริ่มชะลอตัวลง ในหมวดสินค้าทุนมีการขยายตัวของมูลค่าร้อยละ 5.8 ต่อปี ชะลอตัวลงจากร้อยละ 14.2 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ในหมวดอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวชะลอตัวลงจากร้อยละ 41.6 ต่อปี ในเดือนก.ย. 51 เป็นร้อยละ 15.4 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มชะลอตัว และสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวที่ร้อยละ 25.6 ต่อปี ชะลอตัวลงจากร้อยละ 42.1 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ผลจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลก

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือน ต.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 ต่อปีชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 25.9 ต่อปี เนื่องจากการขยายตัวที่สูงผิดปกติในเดือน ก.ย. 51 อันเนื่องมาจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ก.ย. 50 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากราคาสินค้าเกษตรในประเทศส่วนใหญ่เริ่มชะลอลงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกส่งผลต่อรายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัว บ่งชี้ถึงกำลังซื้อของประชาชนในภูมิภาคที่เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ต.ค. 51 อยู่ที่ระดับ 75.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 81.1 เนื่องจากตลาดในประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และตลาดต่างประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศปรับตัวลดลง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนต.ค.51 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.1 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี โดยเป็นผลจากความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตกรุงเทพฯช่วงปลายเดือนส.ค. - ต้นเดือนก.ย.51 จนทำให้ประเทศต่างๆได้ออกหนังสือเตือนนักท่องเที่ยว (Travel warning)

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี เนื่องจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ตามความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 51 ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.0 ต่อปี เท่านั้น ในขณะที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงในเกือบทุกสกุล ยกเว้นค่าเงินเยน

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่ยังคงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลจากหลายปัจจัยอันได้แก่

(1) การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ของสหรัฐที่หดตัวที่ร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.8 ทำให้นักลงทุนกังวลต่อความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจชะลอตัว (2) รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯได้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่าจะไม่ใช้เงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของกองทุนกอบกู้ภาคการเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (Troubled Asset Relief Program: TARP) ในการซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหา ในขณะที่รัฐสภาอาจจะไม่อนุมัติเงินเข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ (3) การประกาศตัวเลขภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของประเทศญี่ปุ่น (หดตัวที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี) และไต้หวัน(หดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี) และ (4) จากผลการประชุมแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงินของกลุ่มประเทศ G-20 ที่ไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลในแง่ลบต่อ sentiment ของนักลงทุน

ในขณะที่ค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐโดยเฉพาะค่าเงินวอนเกาหลีและรูเปียห์อินโดนิเซียอ่อนค่าลงมาก (ต่ำกว่าระดับจิตวิทยาที่ 1,500 วอน และ 12,000 รูเปียห์ตามลำดับ) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลในสภาวะเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ประเทศทั้งสองพี่งพิงการส่งออกไปยังตลาดหลักมาก ทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์ของทั้งสองประเทศ ค่าเงินทั้งสองจึงอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตามเงินเยนปรับตัวสูงขึ้น จากการที่นักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจ (risk aversion) ส่งผลให้นักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศยังคงถอนการลงทุนจากตลาดต่าง ๆ และกลับไปคืนเงินกู้ (Unwind Carry Trade) เนื่องจากตลาดยังคงมีความกังวลว่าภาวะวิกฤตการณ์การเงินโลกยังคงรุนแรงต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่ แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เยน ปอนด์สเตอร์ลิงค์ ดอลลาร์
ฮ่องกง และหยวน

สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักในภูมิภาคเอเซียแข็งค่าขึ้นเนื่องจากภาวะ risk averse จากความวิตกกังวลที่จะเกิดภาวะเงินฝืดในอนาคตและทำให้เศรษฐกิจโลกและเอเชียตกต่ำลง ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียโดยเฉพาะค่าเงินวอนของเกาหลีที่อ่อนค่าลงมากที่สุด ในขณะที่ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแรงซื้อบาทจากผู้ส่งออก ขณะที่มีแรงขายบาทจากผู้ผลิตและผู้นำเข้า ประกอบกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินต่อเนื่อง ทำให้เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับสกุลเอเชียบางสกุล

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย ปอนด์เสเตอลิงค์และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 21 พ.ย. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 5.30 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 5.35 เล็กน้อย

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 71.2) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 40.6) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 34.6) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 11.1) ยูโร (ร้อยละ 8.9) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 7.8) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 7.5) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 6.5) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 5.5) และดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.8) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ เงินเยน (ร้อยละ 12.9) และหยวน (ร้อยละ 7.7)

Foreign Exchange and Reserves

ณ วันที่ 14 พ.ย.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) ลดลงสุทธิ -0.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 111.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -1.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลงคาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะจาก การเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจสถานการณ์การเงินจากวิกฤตการณ์การเงินโลก อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้สะท้อนว่า การเข้าแทรกแซงของทางการมีมากกว่าความต้องการขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 7 พ.ย.51) ร้อยละ -0.13 จาก 34.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 14 พ.ย.51

Major Trading Partners’ Economies: This Week

GDP เบื้องต้นของกลุ่มประเทศยูโรโซน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี ชะลอตัวลงจากร้อยละ 1.4 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 คิดเป็นการหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ -0.2 (QOQ)และเป็นการหดตัวลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 จากไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ที่หดตัวลงร้อยละ -0.2 (QOQ) เช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยการชะลอตัวในครั้งนี้เป็นผลมาจากการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 และ 0.8 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 3.3 และ 1.5 ต่อปีในไตรมาสก่อน

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปี 51 (Advanced Estimate) หดตัวร้อยละ -0.1 ต่อปี (เมื่อเทียบกับ GDP ในไตรมาสเดียวกันปี 50) สะท้อนภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งแรกในรอบ 7 ปี ของญี่ปุ่นโดยการส่งออกและการบริโภคมีแนวโน้มชะลอลง ในขณะที่การลงทุนหดตัวทั้งนี้ ในเดือน ต.ค. 51 การส่งออกที่เป็นภาคหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้หดตัวลงร้อยละ -8.0 ต่อปี

ตัวเลข GDP ของฮ่องกงไตรมาสที่ 3 ปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ต่อปีชะลอลงจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี และถ้าเทียบอัตราการขยายตัวรายไตรมาส GDP ไตรมาส 3 จะหดตัวที่ร้อยละ -0.5 จากไตรมาส2ที่หดตัวร้อยละ -1.4 เท่ากับว่าเศรษฐกิจฮ่องกงได้เข้าสู้ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการแล้ว และจัดว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกงที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 46 โดยเป็นผลหลักมาจากการส่งออกสินค้าซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 208.7 ของ GDP ในปี 50 ที่หดตัวลงถึงร้อยละ -2.6 จากไตรมาสก่อนหน้า

ตัวเลข GDP ของไต้หวันไตรมาสที่ 3 ปี51 หดตัวที่ร้อยละ -1.02 ต่อปีชะลอลงจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่มากที่สุดในรอบ 7 ปี โดยเป็นผลหลักมาจากการหดตัวของภาคบริการ ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 66.3 ของ GDP ปี 50 โดยมีการหดตัวถึงร้อยละ -1.36 ต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนต.ค. 51 หดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ร้อยละ -2.8 (mom) จากเดือนก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) ที่หดตัวลงร้อยละ -1.3 (mom) โดยเป็นการหดตัวที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 35 เนื่องจากสภาพการว่างงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ การจ้างงานที่ลดลงเป็นเวลา 10 เดือนติดต่อกัน และความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดลดการใช้จ่ายลง อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงจะช่วยประคับประคองยอดค้าปลีกให้ไม่หดตัวรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่

การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil Domestic Export ;NODX) ของสิงคโปร์เดือน ต.ค. 51 ลดลงร้อยละ -15 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือน ก.ย. 51 ที่ลดลงร้อยละ -5.7 ต่อปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงร้อยละ -15.0 ต่อปี ขณะที่การ ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มิใช่อิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ -15.0 ต่อปี ทั้งนี้ NODX จากสิงคโปร์ไปยังประเทศยังกลุ่มประเทศ 10 อันดับแรก ลดลงหมดทุก ประเทศ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน ต.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี ลดลงจากร้อยละ 3.6 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากราคาเชื้อเพลิงทีปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าลดลง และราคาสินค้าประเภทหารที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาเชื้อเพลิงและอาหารไม่ได้ปรับตัวลดลงมากนัก โดยอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.5 ต่อปี ในเดือนก่อน

Major Trading Partners’ Economies: Next Week

อัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเลเซีย (Overnight Policy Rate)

ประจำเดือน พ.ย. คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยคงอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 2 ปีครึ่ง ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนที่ผ่านมาจะเริ่มชะลอตัวลงหลังทำสถิติสูงสุดในรอบ 27 ปีในเดือนส.ค. แต่อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าธนาคารกลางมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 2009 หลังจากรัฐบาลได้ออกมาลดคาดการณ์ตัวเลข GDP ในปีหน้าลงเหลือร้อยละ 3.5 ต่อปี จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.4 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ