รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 25, 2008 12:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 พ.ย. 2551

SUMMARY:
  • สศช. ปรับเป้า GDP ปีนี้โตร้อยละ 4-5 ปีหน้าโตร้อยละ3-4
  • กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนชี้ตลาดหดตัวร้อยละ 60 ชง 6 แผน เสนอรัฐรับมือ
  • รัฐบาลสหรัฐช่วยเหลือ Citigroup ในวงเงิน 306 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
HIGHLIGHT:
1. สศช.ปรับเป้า GDP ปีนี้โตร้อยละ 4-5 ปีหน้าโตร้อยละ3-4
  • เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่ำกว่าไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 และ 5.3 ตามลำดับ รวม 9 เดือนแรกของปี เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2552 สศช. ได้ปรับลดประมาณการ การขยายตัวทางเศรษฐกิจลง เหลือร้อยละ 3-4 ต่อปี จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัวลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ชะลอตัวลงจากครึ่งแรกของปีเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 51และปี 52 โดยมีปัจจัยหลักจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ การบริหารเศรษฐกิจในปี 52 ที่จะให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องนั้น ควรเน้นการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเน้นการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลและการดำเนินโครงการของภาครัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
2. กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนชี้ตลาดหดตัวร้อยละ 60 ชง 6 แผน เสนอรัฐรับมือ
  • ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประเมินสถานการณ์ตลาดถึงไตรมาสแรก ปี 52 โดยยอดขายเฉลี่ยจะลดลงประมาณร้อยละ 20 ซึ่งอยู่ในสัดส่วนที่ยังรับได้และจะไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจรวมถึงการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ในปี 52 เลวร้ายลงจะทำให้ยอดขายลดลงเกินกว่าร้อยละ 20 ทำให้ต้องพิจารณาปรับลดพนักงานในส่วนของซับคอนแทรคท์ลงประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้ ภาคธุรกิจมีข้อเสนอให้ภาครัฐพิจารณาแผน 6 มาตรการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยในไตรมาส 4 ปี 51จนถึงปี 52 มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนได้จาก ปริมาณการส่งออกยานยนต์ เดือน ต.ค. 51 ล่าสุดที่ขยายตัวเพียงร้อย 5.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง19.7 ต่อปี ดังนั้น ภาครัฐควรกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ขณะเดียวกันออกมาตรการลดภาษีเพื่อลดต้นทุนการผลิตแก่ผู้ประกอบการซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบภายในประเทศ เพื่อชดเชยยอดส่งออกจากต่างประเทศที่น่าจะชะลอลงตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
3. รัฐบาลสหรัฐช่วยเหลือ Citigroup ในวงเงิน 306 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ทางการสหรัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือธนาคาร Citigroup ที่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยอนุมัติเงินทุน 306 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อประกันสินทรัพย์และตราสารหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐได้เพิ่มทุนให้กับธนาคารอีก 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแลกกับหุ้นบุริมสิทธิ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนเพิ่มเติมจาก 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ต.ค. 51
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่ทางการสหรัฐเข้าช่วยเหลือ Citigroup นั้นเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากธนาคารดังกล่าวเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐและของโลกหากพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ รวมถึงมีสาขากว่า 100 แห่งทั่วโลก ดังนั้นหากปล่อยให้ล้มอาจกระทบลุกลามรุนแรงยิ่งกว่าในกรณีของ Lehman Brothers ได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเงินของ Citigroup น่าจะยังมีอยู่ เนื่องจาก Citigroup มีธุรกรรมนอกงบดุล (Off-balance sheet transaction) จำนวนมากถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและมีแนวโน้มว่าจะต้องนำมารวมในงบดุลหลังจากที่จะมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางบัญชีที่รัดกุมขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ Citi ต้องการการเพิ่มทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระต่อรัฐบาลมากขึ้นเช่นกัน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ