รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นประจำสัปดาห์ที่ 17-21 พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 26, 2008 13:42 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ถึงคราวธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นต้องเพิ่มทุน

วิกฤตการเงินเริ่มส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเกิดจากการส่งออกลดลงมาก มูลค่าสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ลดลงต่ำลงถึงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับเมื่อต้นปี ลูกค้าของธนาคารมีผลประกอบการที่แย่ลง NPLs เพิ่มสูงขึ้นจำนวนธุรกิจล้มละลายมากขึ้น ส่งผลให้ผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นรายหญ่ 6 อันดับแรกลดลงถึงร้อยละ 58 ในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณนี้ (1 เม.ย.-30 ก.ย.51)

ผลดังกล่าวได้ทำให้ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นรายใหญ่ ได้ทยอยประกาศแผนเพิ่มทุน ดังนี้

1.1 Mitsubishi UFJ Financial Group Inc.(ธนาคารรายใหญ่อันดับ 1) คาดว่าต้องเพิ่มทุนจำนวน 600 พันล้านเยน หลังผลกำไรลดลงถึงร้อยละ 64 และเข้าถือหุ้นใน Morgan Stanley ร้อยละ 20

1.2 Mizuho Financial Group Inc. (ใหญ่อันดับ 2) ต้องเพิ่มทุนจำนวน 300 พันล้านเยน ผลกำไรลดลงถึง 71 เนื่องจากเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ประสบการขาดทุนจากการลงทุนใน Subprime มากที่สุด

1.3 Sumitomo Mitsui Financial Group Inc.(ใหญ่อันดับ 3) ประกาศเพิ่มทุนจำนวน 400 พันล้านเยน หลังจากผลกำไรลดลงถึงร้อยละ 51

นอกจากนี้ คาดว่า ธนาคารอื่นๆ และธนาคารเล็กๆ ในต่างจังหวัด (Regional Bank) ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่น และมี NPLs เพิ่มขึ้นจำนวนมาก คาดว่าจะต้องเพิ่มทุนจำนวนมากเช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงการคลังญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระหว่างการเสนอร่างกฎหมายเพื่อต่ออายุกฎหมายเดิมที่หมดอายุไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบให้รัฐบาลนำเงินของรัฐเข้าฟื้นฟูสถาบันการเงินที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ในกรณีที่ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ด้วยตนเอง

2. จีนมีถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าญี่ปุ่น

จีนมีอัตราส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย.51 ประมาณร้อยละ 21 ของพันธบัตรสหรัฐฯ ทั้งหมด มีมูลค่า 585 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 43.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแทนที่ญี่ปุ่นที่เคยเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันมาตลอด ท่ามกลางภาวะราคาหลักทรัพย์ตกต่ำทั่วโลก เนื่องจากลงทุนในพันธบัตรรัฐฐาลสหรัฐฯมีความมั่นคงกว่า โดยญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสองประมาณร้อยละ 20 จำนวน 573.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 12.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ญี่ปุ่นเคยถือมากที่สุดในเดือน ส.ค.47 จำนวน 699 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

อังกฤษเป็นอันดับสาม ร้อยละ 12 หรือจำนวน 338.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยถือครองเพียงร้อยละ 1 จำนวน 18.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รองจากฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ที่ถือจำนวน 60.9, 36.1 และ 30.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

3. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 63.9 พันล้านเยนในเดือน ต.ค.

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดุลการค้าในเดือน ต.ค. ขาดดุลจำนวน 63.9 พันล้านเยนยอดการส่งออกลดลงร้อยละ 7.7 จำนวน 6.93 ล้านล้านเยน เป็นการลดลงครั้งแรกใน 7 ปี เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรปลดลงต่อเนื่อง และเอเซียลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังเอเซียลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี 8 เดือน เป็นผลมาจากวิกฤตการเงินโลกและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ดีมานด์ต่อสินค้ญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก ในขณะที่ยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.4 จำนวน 6.99 ล้านล้านเยน

                   ดุลการค้าประจำเดือนตุลาคม 2551                หน่วย:พันล้านเยน
                        ยอดการส่งออก        ยอดการนำเข้า            ดุลการค้า
                           (ร้อยละ)           (ร้อยละ)             (ร้อยละ)
สหรัฐฯ                  1,214.1 (-19.0)      694.9 (-11.1)      519.2 (-27.5)
สหภาพยุโรป                941.0 (-17.2)      583.6 (-11.7)      357.4 (-24.8)
เอเชีย (รวมจีน)          3,392.1 (-4.0)     2,943.1 (5.1)        449.0 (-38.7)
สาธารณรัฐประชาชนจีน      1,160.9 (-0.9)     1,389.2 (2.9)       -228.3 (27.3)
รวม                    6,926.1 (-7.7)     6,990.1 (7.4)        -63.9  (-)
ที่มา กระทรวงการคลังญี่ปุ่น

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

Update: พฤศจิกายน 2551

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ