สรุปแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3 และปี 2551 “กำลังดิ่งลงเหว”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 26, 2008 14:04 —กระทรวงการคลัง

บทนำ

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา Cabinet Office ประกาศว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Recession) เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของสหรัฐฯ และการถดถอยของเศรษฐกิจยุโรป จากการลุกลามของวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) การส่งออกสินค้าลดลงอย่างมาก จากสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญอันดับ 1 มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงติดต่อเป็นเป็นเวลา 7 เดือน ขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 27 ปี ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ค่าเงินเยนแข็งขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปี ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำลงที่สุดในรอบ 26 ปี ผลกำไรของบริษัทเอกชนลดลงถึงขาดทุน มีบริษัทล้มละลายเพิ่มมากขึ้น ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลงต่ำสุด การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง การลงทุนของเอกชนก็ลดลง ส่งผลให้รายได้จากการเก็บภาษีลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย จนทำให้รัฐบาลต้องออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมา 2 ฉบับเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และมีแนวโน้มว่าเป้าหมายวินัยการคลังที่ตั้งไว้เพื่อฟื้นฟูฐานะการเคลัง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2554 หรือการลดการออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงบประมาณจะต้องเลื่อนไป เพราะสภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

นอกจากนี้ ทางด้านการเมือง รัฐบาลมีปัญหาขาดเอกภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากพรรค Democratic Party of Japan: DPJ ฝ่ายค้านซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาสูง ในขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรค Liberal Democratic Party: LDP มีเสียงข้างมากในสภาล่าง ทำให้การผ่านกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญๆ ดำเนินไปโดยความยากลำบาก และล่าช้า

1. ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นปัจจุบัน

ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เนื่องจาก Real GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสและประมาณว่า Real GDP ในปี 2551 ทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ - 0.4 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2544 (รายละเอียดตามตาราง)

เปรียบเทียบ Real GDP ของญี่ปุ่นช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2550 ถึง ไตรมาสที่ 3 ปี 2551

      2550                        2551                 ประมาณการณ์ 2551

ทั้งปี (ณ ไตรมาสที่ 3) ไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ไตรมาส 1 ไตรมาส 2 ไตรมาส 3

    0.6     0.4          0.6      - 0.9     - 0.1           - 0.4
ที่มา Cabinet Office

1.2 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output

กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมได้เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(Industrial Output) ของเดือน ก.ย. 51 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 หลังจากการลดลงร้อยละ 3.5 ในเดือน ส.ค. 51 อยู่ที่ 105.6 (2005=100) จากการผลิตสินค้าประเภทอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น

1.3 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในญี่ปุ่น (Household Spending) กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ได้เปิดเผยว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เดือนก.ย.51 ลดลงร้อยละ 2.4 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า เป็นการลดลงหลายเดือนติดต่อกันแล้วการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในญี่ปุ่นนี้ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต คิดเป็นร้อยละ 55 ของ GDP

1. 4 การลงทุนของภาคเอกชน (Capital Spending) กระทรวงการคลังเปิดเผยว่าผลกำไรบรรดาบริษัทญี่ปุ่นในไตรมาส 2 (ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2551) ลดลงร้อยละ 5.2 และการใช้จ่ายภาคเอกชน (Capital Spending) เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัทญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ลดลงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (ตัวเลขล่าสุด)

1.5 อัตราการว่างงาน (Jobless) เดือน ก.ย 51 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ลดลงจากเดือน ส.ค.51 อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.2 แต่คาดกันว่าเป็นการปรับตัวลดลงเพียงชั่วคราว เนื่องจากวิกฤติการเงินสร้างความกังวลกับบรรดาบริษัทมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อสภาพการว่างงานอย่างมากด้วย

1.6 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core Consumer Price) กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร ได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนยกเว้นอาหารสด (CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือน ก.ย.51 เป็นร้อยละ 2.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น

1.7 อุปสงค์ภาครัฐ (Government Demand) ประกอบด้วย การลงทุนภาครัฐ (Public Investment) การบริโภคภาครัฐ (Government Consumption) ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 51 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า

1.8 ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance)

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานว่ายอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือน ก.ย.51 ลดลงร้อยละ 48.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แล้ว จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราลดลง ยอดดุลการค้าสินค้าและบริการขาดดุลเป็นจำนวน 96 พันล้านเยน ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นเกินดุลบัญชัเดินสะพัดมาตลอด (การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 4.7 ของ GDP ญี่ปุ่น)

ดุลการค้า (Trade Balance) ในเดือน ส.ค.มีการขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี ในเดือนก.ย. เกินดุลการค้าลดลงจากร้อยละ 86 เทียบกับที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.9 ระยะเดียวกันของปีที่แล้วเพราะการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2 โดยยอดการส่งออกยังสหรัฐฯ และ EU ลดลงร้อยละ 10.9 และ 9 ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 จากการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 เมื่อเทียบ กับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า

ดุลบัญชีบริการ (Services Balance) การขาดดุลในดุลบริการลดลง ในขณะที่ รายได้จากดอกเบี้ย/เงินปันผลจากการลงทุนในต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดดุลบัญชีทุนและการเงิน (Capital and Financial Account Balance) มีเงินทุนไหลออกสุทธิลดลงอย่างมาก จาก 2,433 พันล้านเยนในเดือน ก.ย.50 เหลือเพียง 85.7 พันล้านเยนในระยะเดียวกันของปีนี้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้าจาก 12,618 พันล้านเยนในปี 2550 เป็น 8,270.7 พันล้านเยนในปี 2551 แต่การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นยังคงเพิ่มขึ้นจาก 204 พันล้านเยนในปี 2550 เป็น 642.6 พันล้านเยนในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมดุลบัญชีทุนและการเงิน ยังขาดดุลอยู่ แสดงถึงการไหลออกของเงินทุนไปลงทุนในต่างประเทศยังมากกว่าเงินทุนไหลเข้า ส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกิจญี่ปุ่นรวมทั้งธนาคารพาณิชย์เข้าไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงินและธุรกิจของสหรัฐฯและยุโรปที่มีบัญหาหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

1.9 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือน ต.ค. 51 มีจำนวน 977.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 18.2 พันล้านเยนจากเดือน ก.ย. 51

2. สถานการณ์ภาคการเงิน

2.1 นโยบายอัตราดอกเบี้ย

ญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการส่งออกเพื่อแข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้นมาตลอด อันเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญเติบโต อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯและยุโรป ญี่ปุ่นได้ร่วมแก้ปัญหาวิกฤตการเงินกับธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกโดยร่วมกันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 BOJ ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงจากร้อยละ 0.5 เหลือร้อยละ 0.3

2.2 อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ Yen Carry Trade ได้ลดลง จากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ทำนักลงทุนญี่ปุ่นซื้อเงินเยนเพิ่ม เพื่อนำเงินกลับประเทศมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลง โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แข็งตัวขึ้นถึงระดับ 90 เยน ซึ่งเป็นอัตราที่แข็งที่สุดในรอบ 13 ปี จนเป็นความกังวลต่อธุรกิจญี่ปุ่น ที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าลดลง และยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาคการส่งออกของญี่ปุ่นที่กำลังประสบปัญหาการลดลงอย่างมาก

2.3 สถานการณ์ธนาคารพาณิชย์

ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นได้เสียเวลาไปนับ 10 ปีเพื่อแก้ปัญหา NPLs จากวิกฤตการเงินในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจธนาคารญี่ปุ่นมีความล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก ในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมาได้ถูกธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเข้าซื้อกิจการอยู่เนืองๆ อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวได้กลายเป็นข้อดีของธนาคารญี่ปุ่นในภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนใน Subprime มากนัก

นอกจากนี้ ก่อนวิกฤตการเงิน ธนาคารต่างประเทศในญี่ปุ่นได้ให้บริการคำปรึกษาการลงทุนแก่นักลงทุนญี่ปุ่นเพื่อลงทุนในต่างประเทศให้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนในญี่ปุ่นต่ำ หรือที่เรียกว่า Yen carry Trade ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมาก พร้อมๆกับการขยาย ธุรกิจของธนาคารต่างประเทศในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเงินมีผลให้การขยายกิจการของธนาคารต่างประเทศในญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมาก ในทางกลับกันได้มีธนาคารญี่ปุ่นจะเข้าไปช่วยซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ประสบการขาดทุน เช่น ธนาคาร Mitsubishi UFJ Financial Group Inc.เข้าถือหุ้นร้อยละ20ใน Morgan Stanley และ Mizuho ญี่ปุ่นเข้าซื้อหุ้นของ Merrill Lynch & Co. เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเงินได้ทำให้ผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นรายใหญ่ 6 อันดับแรกหรือ Mega Banks ลดลงถึงร้อยละ 58 ในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ (1 เม.ย.-30 ก.ย.51) และต้องเพิ่มทุนกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย

2.4 สัดส่วน NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ Financial Services Agency: FSA หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่า NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นรายใหญ่ 11 แห่ง ณ ก.ย. 51 อยู่ที่ระดับร้อยละ1.52 เพิ่มขึ้นจาก มี.ค.51 อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.38 สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) ณ เดือน ก.ย. 51 อยู่ระหว่างร้อยละ 11.73 สูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ร้อยละ 8 แสดงว่าระบบธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นโดยรวมยังแข็งแกร่งอยู่อย่างไรก็ตาม NPLs ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 NPLs ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ จำนวน 6 แห่ง และธนาคารท้องถิ่นในญี่ปุ่น (Regional Bank) ประจำจังหวัดใหญ่ๆ รวมกันแล้ว เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในญี่ปุ่น ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยเงินกู้มากขึ้น

2.5 สถาณการณ์ตลาดทุน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์เฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์ลดลงถึง 7,162 เยน เมื่อเดือน ต.ค. 51 ระดับต่ำที่สุดในรอบ 26 ปี เปรียบเทียบกับ เมื่อเดือน มี.ค. 43 ที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 20,081 เยน

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ญี่ปุ่น โดยเฉพาะตราสารหนี้ของเอกชน (Corporate Bond) ยังล้าหลังอยู่ และมีจำนวนน้อย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้เอกชนนิยมระดมเงินจากธนาคารพาณิชย์แทน ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) จากการที่รัฐบาลมีหนี้สาธารณะที่อยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2550 พันธบัตรรัฐบาลมีจำนวนร้อยละ 83.3 ในขณะที่ Corporate Bond มีเพียงร้อยละ 3.3 ของการออกพันธบัตรในญี่ปุ่นทั้งหมด

3. นโยบายการคลัง ฐานะการคลังของญี่ปุ่นอยู่ในขั้นวิกฤต ด้วยภาระหนี้ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลในประเทศสูงถึงประมาณร้อยละ 180 ของ GDP หรือประมาณเกือบ 8,000 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจที่มีคนแก่มากขึ้น (Aging Economy) ปัจจุบันประชากรร้อยละ 21 อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่ประชากรในวัยทำงานของประเทศมีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง แต่คนมีอายุยืนขึ้น ทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและประกันสังคมมากขึ้น ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาล ที่จะต้องหารายได้ให้เพียงพอสำหรับรายจ่ายในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงฐานะการคลัง โดยมีเป้าหมายการจัดทำงบประมาณเกินดุลใน ปี 2554 จากที่ปัจจุบันขาดดุลอยู่ร้อยละ 2.7 ต่อ GDP รวมทั้งได้กำหนดเพดานไว้ว่าจะไม่ออกพันธบัตรรัฐบาลสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของงบประมาณปีละไม่เกิน 30 ล้านล้านเยน ซึ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบันทำให้มีการคาดการณ์ว่า เป้าหมายการคลังดังกล่าวจะต้องเลื่อนออกไป เพราะปัจจุบันรายได้จากการจัดเก็บภาษีในปี 2551 ต่ำกว่าเป้าหมายมาก ในขณะที่รัฐบาลออกมีภาระงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลมากขึ้น

สำหรับงบประมาณปี 2551 ซึ่งได้ใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.51 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณของญี่ปุ่น มีจำนวนประมาณ 83 ล้านล้านเยน (รวมงบประมาณรายจ่ายบัญชีทั่วไป (General Account Budget) และงบประมาณบัญชีพิเศษ (Supplementary Budget) มีการจัดสรรดังนี้ ประกันสังคมร้อยละ 25 ชำระหนี้รัฐบาล ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร้อยละ 24 จัดสรรให้รัฐบาลท้องถิ่นร้อยละ 18 จัดสรรสำหรับ Official Development Assistance (ODA) สำหรับช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 8 (ลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปีแล้ว) จะเห็นได้ว่างบประมาณส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นใช้ไปในภาคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่ภาคการผลิต ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เกิดจากการใช้จ่ายภาครัฐ แต่จะเป็นภาคเอกชนแทน

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยปัจจุบัน รัฐบาลอาจต้องทบทวนเพิ่มบทบาทของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจแทน ซึ่งคาดว่านอกจากไม่สามารถลดหนี้ได้แล้ว ยังจะทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

ปัจจุบัน กระทรวงการคลังญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายงบประมาณปี 2552 เพื่อเสนอต่อรัฐสภา คาดว่าจะมีงบประมาณรายจ่ายทั่วไป (General Account Budget) ประมาณ 47.8 ล้านล้านเยน เพิ่มจากปีงบประมาณ 2551 จำนวน 600 พันล้านเยน (จากเดิม 47.3 ล้านล้านเยน) โดยจะให้ความสำคัญกับการดูแลความเพียงพอด้านอาหาร (ญี่ปุ่นผลิตอาหารไม่เพียงพอบริโภคในประเทศต้องนำเข้าผลิตอาหารจากต่างประเทศถึงประมาณร้อยละ 60) นอกจากนี้ จะเน้นการใช้จ่ายเพื่อสร้างเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การประกันสังคม และส่งเสริมสังคมที่เป็น Low-carbon ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ จะมีการลดงบประมาณด้านอื่นเช่น การลงทุนของภาครัฐ (Public Works Spending)เป็นต้น

4. นโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

4.1 ภายหลังรัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านพระราชบัญญัติจำนวน 6 ฉบับ ในเดือนตุลาคม 2548 เพื่อแปรรูป Japan Post ซึ่งดำเนินการมากกว่า 130 ปี และได้มีการจัดตั้ง Japan Post Holding Company ที่มีรัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด มีบริษัทย่อยๆ 4 บริษัทได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.50 ที่ผ่านมาได้แก่ 1) Postal Network Co. 2) Japan Post Service Co. 3) Japan Post Bank Co. และ 4) Japan Post Insurance Co. โดยจะทยอยขายหุ้นของบริษัทย่อยดังกล่าวในปีงบประมาณ 2553 จนกระทั่งแปรรูปเป็น เอกชนทั้งหมดภายในปี 2560

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรัฐบาลกำลังพิจารณาชะลอการขายหุ้นของ 4 บริษัทย่อยดังกล่าวออกไป เพราะราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันลดลงมาก ทำให้ราคาที่ขายได้ลดลง

4.2 นอกจากนี้ รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 8 แห่ง ซึ่งรวมถึง การยุบ การควบรวม การแปรรูป เพื่อลดการสนับสนุนจากภาครัฐและปรับปรุงฐานะการคลังให้ดีขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการแล้ว นับตั้งแต่ 1 ต.ค. 51 ที่ ผ่านมา ดังนี้

1) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่งได้แก่ 1) JBIC (ส่วน ธุรกรรมต่างประเทศ (International Financial Department หรือ EXIM Bank) 2) บรรษัทเงินทุนเพื่อลูกค้าขนาดย่อม(National Life Finance Corporation) 3) บรรษัทเงินทุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (Japan Finance Corporation for Small and Medium Enterprises) 4) และบรรษัทเงินทุนเพื่อการเกษตร ป่าไม้และประมง (Agriculture, Forestry, and Fisheries Finance Corporation) ได้ควบรวมกันและเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งใหม่ชื่อ Japan Finance Corporation (JFC)

นอกจากนี้ บรรษัทเงินทุนเพื่อพัฒนาเกาะ Okinawa (Okinawa Development Finance Corporation) จะต้องควบรวมกับ 4 สถาบันการเงินที่กล่าวข้างต้นภายในปีงบประมาณ 2555

2) เปลี่ยนโครงสร้างบรรษัทเงินทุนเพื่อวิสาหกิจของเทศบาล (Japan Finance Corporation for Municipal Enterprises) จากการเป็นสถาบันการเงินของรัฐบาลกลาง เป็นสถาบันการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งนี้ รัฐบาลกลางจะยุติบทบาทการสนับสนุนการระดมเงินทุนไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงินโดยตรง หรือการค้ำประกันการออกพันธบัตรของท้องถิ่น โดยในอนาคตบรรษัทเงินทุนเพื่อวิสาหกิจของเทศบาล จะระดมเงินทุนจากตลาดทุนในอนาคต

3) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่กำลังอยู่ในระหว่างการแปรรูปได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น (Development Bank of Japan: DBJ) และ Shoko Chukin Bank หรือธนาคาร SMEs นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2551 สถาบันการเงินทั้งสองแห่งจะถูกแปลงเป็นบริษัทเอกชนที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลและจะลดการถือหุ้นของรัฐบาลลงในปี 2556 จนกลายเป็นเอกชนภายในปี 2558

4) ตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่วนงาน Yen Loans Implementation (ดูแลเงินกู้สำหรับสร้างรถไฟฟ้าในประเทศไทย) จะโอนจาก JBIC เดิมไปอยู่กับ Japan International Cooperation Agency (JICA) ภายใต้การดูแลของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น JICAรับผิดชอบด้านความร่วมมือทางวิชาการที่ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ JICA ได้มีแผนให้ความช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคในสาขาต่างๆ ได้แก่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Construction)โครงการลดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate Change) การรักษาพยาบาล ( Medical, Health Care) ซึ่งรวมการให้เงินกู้ Yen Loan เพื่อสร้างโรงพยาบาล ฝึกอบรมหมอและพยาบาล โครงการป้องกันการก่อการร้าย ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญและเป็นประโยชน์ชาวญี่ปุ่นโดยรวม

4.3 สถาบันการเงินของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจ เพื่อหารายได้ในการฟื้นฟูฐานะการคลัง โดยคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มถึง 8.4 ล้านล้านเยน

อย่างไรก็ตาม แผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมดนี้ อาจจะต้องทบทวนใหม่ ภายหลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถอย

5. นโยบายเศรษฐกิจภายใต้นายกรัฐมนตรี Aso

ปัจจุบันนาย Taro Aso นายกรัฐมนตรีคนที่ 92 ซึ่งรับตำแหน่งมาตั้งแต่ในวันที่ 24 ก.ย.51 หลังนายกรัฐมนตรี Fukuda ดำรงตำแหน่งครบ 1 ปี ท่ามกลางปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่พรรคฝ่ายค้านมีเสียงข้างมากในวุฒิสภา ในขณะที่พรรครัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา ผู้แทนราษฎร ทำให้ยากในการผ่านกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในขณะที่ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าต่างๆ อันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ทำให้มีแนวโน้มว่าแผนการปรับปรุงฐานะการคลังที่ดำเนินการมาตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี Koizumi ต้องเลื่อนออกไป และ ยังต้องเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทน นอกจากนี้ พรรครัฐบาลกำลังสูญเสียความนิยมจากประชาชนทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในไม่ช้านี้ เพียงแต่กำลังรอเวลาที่เหมาะสม

6. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.51 รัฐบาลได้แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่สองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤตทางการเงินของโลก ต่อจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ในครั้งนั้นรัฐบาลใช้เงินงบประมาณจำนวน 11.7 ล้านล้านเยน ในการบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและวัตถุดิบ รวมทั้งช่วยเหลือ SMEs มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ ใช้เงินงบประมาณประมาณ 27 ล้านล้านเยน สรุปได้ดังนี้

6.1 จะขยายเวลา/ขยายฐานการลดภาษีสำหรับผู้กู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย จากเดิมที่จะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้

6.2 แจกเงินครัวเรือนโดยตรง ซึ่งหากคำนวนจากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดเมื่อเดือนมีนาคม 2551 แต่ละครัวเรือนจะได้เงินสนับสนุนประมาณ 38,000 เยนต่อหนึ่งครัวเรือนต่อ 1 ปี

6.3 จะลดจากภาษีรายได้และภาษีที่อยู่อาศัย โดยจะมีการเพิ่มเพดานการลดภาษีสูงสุดถึง 6 ล้านเยน ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

6.4 จะลดค่าใช้บริการทางด่วนของท้องถิ่นในวัน เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการโดยจะเก็บค่าบริการสูงสุดเพียง 1,000 เยน รวมไปถึงการลดค่าบริการร้อยละ 30 ให้แก่ผู้ใช้บริการในวันธรรมดาด้วย ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 500 พันล้านเยน โดยจะเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปีนี้จนถึงสิ้นปี 2553

6.5 ลดเงินเบี้ยประกันการว่างงาน (National Unemployment Insurance) ให้สิ่งจูงใจบริษัทรับคนงานนอกเวลาทำงานมาเป็นพนักงานประจำมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการจ้างงานในวิสาหกิจขนาดเล็กในต่างจังหวัดให้มีงานทำ จำนวน 600,000 คน

6.6 อุดหนุนเงินแก่เทศบาลต่างๆ จำนวน 600 พันล้านเยน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค ที่ปัจจุบันกำลังประสบภาวะถดถอยทั่วประเทศ

6.7 หลังจากนี้อีก 3 ปี จะพิจารณาลดภาษีต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลังจาก 3 ปีเป็นต้นไปจะปฏิรูปภาษีใหม่ โดยขึ้นภาษีบริโภคเพื่อนำเงินรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมที่กำลังเพิ่มขึ้นจากการเป็นสังคมที่มีคนแก่มากขึ้น

แหล่งเงินงบประมาณ จะนำมาจากงบประมาณพิเศษ (Special Account) และเงินงบประมาณโครงการ Fiscal Investment and Loan Programme (FILP) ซึ่งรัฐบาลกลางได้จัดสรรงบประมาณแก่ FILP เป็นประจำทุกปี ให้แก่หน่วยงานของรัฐ/รัฐบาลท้องถิ่น/สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล (นอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั่วไป)

7. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกระเตี้องขึ้น ตัวเลขดุลการค้าล่าสุดในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า ต่อเนื่องจากเดือน ส.ค. (เดือน ก.ย.เกินดุลเล็กน้อย) นอกจากนี้ดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ส่งผลในทางลบแทบทั้งสิ้น เช่น การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของเอกชนก็ลดลง ธุรกิจล้มละลายมากขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นลดลงต่ำสุด ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากความมั่งคั่ง (Wealth) ลดลง อันเป็นผลจากการส่งออกลดลงและราคาหลักทรัพย์ลดลงดังกล่าว

ทางด้านสถาบันการเงิน ถึงแม้ในครี่งปีงบประมาณแรก ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นจะยังมีผลกำไรอยู่ แต่ก็ลดลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ หนี้เสียในสถาบันการเงินเพิ่มมากขึ้น และต้องเพิ่มทุนกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังกังขาว่าจะสามารถเพิ่มทุนได้ตามที่ต้องการหรือไม่ รัฐบาลเตรียมต่ออายุกฎหมายเดิมที่หมดอายุลงเพื่อให้รัฐบาลสามารถนำเงินไปเพิ่มทุนสถาบันการเงินได้

ทางด้านการคลัง รายได้จากการเก็บภาษีลดลง ในขณะที่มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นเพราะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอาจจะต้องชะลอออกไป เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย และคาดว่ารัฐบาลจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต ด้านการเมือง การออกกฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และล่าช้า เพราะขาดเอกภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคต

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

Update: พฤศจิกายน 2551

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ