รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2008 11:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ธ.ค. 2551

SUMMARY:
  • สถาบันจัดอันดับโลกลดเครดิตไทย
  • ค่ายรถฟันธงตลาดวูบเกินร้อยละ 10 ปีหน้า
  • ตัวเลขการว่างงานในทวีปยุโรปและอเมริกาประจำเดือนตุลาคมปรับตัวสูงขึ้น
HIGHLIGHT:
1. สถาบันจัดอันดับโลกลดเครดิตไทย
  • บริษัททริสเรทติ้ง เผยว่าสถาบันจัดอันดับโลกได้ทยอยปรับลดอันดับไทย และมีแนวโน้มว่าผลของความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเพิ่มขื้น จะทำให้คะแนนและเครดิตประเทศถูกปรับลดลงไปอีก โดยบ.เอสแอนด์พี ซึ่งได้จัดอันดับของไทยที่ BBB-ได้ระบุว่าอาจปรับลด หากสถานการณ์การเมืองไทยเริ่มกระทบกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในวงกว้างรวมถึงธนาคารโลกที่จากเคยให้คะแนนเสถียรภาพทางด้านการเมืองของไทยเพียง 16.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อาจปรับลดเหลือต่ำกว่า 10 ซึ่งทำให้คนไทยมีต้นทุนสูงขึ้นในทุกด้าน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ณ ปัจจุบันบ.เอสแอนด์พี จัดอันดับของไทยอยู่ที่ BBB+ อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนทางการเมืองได้เริ่มส่งผลกระทบให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ R&I ได้ปรับแนวโน้มจากระดับที่เป็นบวก (Positive Outlook) เป็นระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 51 โดยมีเหตุผลจากเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยทางการเมืองยืดเยื้อและเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก
2. ค่ายรถฟันธงตลาดวูบเกินร้อยละ 10 ปีหน้า
  • บริษัท โตโยต้า มอเตอร์(ประเทศไทย) เผยว่า ผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงนี้จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เข้าสู่ภาวะวิกฤตมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขยอดจำหน่ายที่คาดการณ์ว่าจะทำได้ 6.3 แสนคัน อาจต่ำกว่าที่คาดไว้ และเป้าที่คาดในปี 2552 ตลาดรถยนต์จะหดตัวเพียงร้อยละ 10 และอาจต้องปรับตัวเลขหดตัวมากกว่าเดิม รวมไปถึงตลาดส่งออกที่ต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากปัญหาผลกระทบทางการเมืองในขณะนี้รวมถึงผลกระทบจากวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกรวมถึงในประเทศ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายยนต์ในไตรมาส 4 ปี 51 จนถึงปี 52 มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งสะท้อนได้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 51 หดตัวร้อยละ -28.3 ต่อปี ดังนั้น ภาครัฐควรกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ในขณะเดียวกันออกมาตรการต่างๆเพื่อลดต้นทุนการผลิตแก่ผู้ประกอบการซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ เพื่อชดเชยยอดส่งออกจากต่างประเทศที่น่าจะชะลอลงตามภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
3. ตัวเลขการว่างงานในทวีปยุโรปและอเมริกาประจำเดือนตุลาคมปรับตัวสูงขึ้น
  • กระทรวงแรงงานของสหรัฐแถลงตัวเลขการว่างงานในสหรัฐประจำเดือนตุลาคมที่ระดับร้อยละ 6.5 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 6.1 โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (nonfarm payrolls) ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 240,000 ตำแหน่ง
  • ในขณะที่ตัวเลขการว่างงานในประเทศกลุ่มยูโรโซนประจำเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 7.6 โดยตัวเลขผู้ไม่มีงานทำปรับตัวเพิ่มขึ้น 225,000 คน มาอยู่ที่ 12 ล้านคนในเดือนตุลาคม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สภาพการว่างงานทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้จนถึงครึ่งปีแรกของปีหน้า เนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับความผันผวนของราคาน้ำมัน ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับลดจำนวนพนักงาน ชะลอการผลิตและการลงทุนออกไป ทั้งนี้ตัวเลขการว่างงานเฉลี่ยของประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกันยายนยังอยู่ที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ตาม คาดว่าการว่างงานภายในประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้าเช่นเดียวกัน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ