Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 ธ.ค. 2551
SUMMARY:
- กระทรวงพาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ พ.ย.เพิ่มร้อยละ 2.2 ต่อปี
- ธุรกิจขนส่งทางบก/น้ำ/อากาศ อ่วม
- ดัชนีภาคการผลิตของจีนหดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์
HIGHLIGHT:
1. กระทรวงพาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ พ.ย.เพิ่มร้อยละ 2.2 ต่อปี
- กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 51 สูงขึ้นร้อยละ 2.2 ต่อปี แต่เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ลดลงและขยายตัวต่ำสุดในรอบ 14 เดือน สาเหตุเนื่องจากสินค้าในหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 2.9 ต่อปี สินค้าที่ลดลงสำคัญ คือ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงร้อยละ 17.1 ต่อปี ค่าโดยสารรถประจำทาง ลดลงร้อยละ 3.3 ต่อปี แต่สินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันปรับขึ้น ร้อยละ 0.6 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องสะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ต.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นและผลจากมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านอื่นๆ (การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออก) มีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 51 และปี 52 อาจชะลอตัวต่อเนื่อง
2. ธุรกิจขนส่งทางบก/น้ำ/อากาศอ่วม
- สภาอุตสาหกรรมงานโลจิสติกส์ (ส.อ.ท.) เผยว่า ขณะนี้ธุรกิจขนส่งในประเทศเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ โดยขนส่งทางเรือลดลงแล้วร้อยละ 16-17 ที่คำนวณจากค่าระวางเรือ ขณะที่การขนส่งทางถนนหรือขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุก หรือตู้คอนเทนเนอร์ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 12 ส่วนการขนส่งทางอากาศซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดสนามบิน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแผงวงจร อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากปัญหาผลกระทบทางการเมืองภายในประเทศในขณะนี้รวมถึงผลกระทบจากวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ส่งออก ซึ่งเริ่มมีการชะลอตัวของการขนส่งหรือด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ และต่างประเทศลดลง ส่งผลให้ยอดการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศในช่วงไตรมาส 4 ปี 51 จนถึงปี 52 มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งสะท้อนได้ปริมาณการส่งออกสินค้าในเดือน ต.ค. 51 หดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งและหาตลาดใหม่ในภูมิภาคที่เศรษฐกิจยังไม่ชะลอตัวลงมากเพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อเป็นการชดเชยการส่งออกไปกลุ่มประเทศที่สำคัญที่น่าจะชะลอลง
3. ดัชนีภาคการผลิตของจีนหดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ดัชนีภาคการผลิตของจีนลดลงอยู่ในระดับ 35.5 ในเดือน พ.ย. จากเดือน ต.ค.44.3 เมื่อเดือน ต.ค. ขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ลดลงอยู่ในระดับ 38.8 ในเดือน พ.ย. จาก 44.6 เมื่อเดือน ต.ค. การปรับลดของดัชนีดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศคู่ค้าสำคัญของจีน ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น จนมีผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออกและธุรกิจก่อสร้างที่ปรับตัวลดลงในปัจจุบัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของดัชนีดังกล่าวส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเหลือ 7.5 % ในปี 2552 จาก 9.2 % ที่ได้ประมาณการณ์ไว้ในเดือน มิ.ย. ถึงแม้ว่าในเดือน ต.ค. ทางการจีนได้ประกาศมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจมูลค่า 5.86 แสนล้าดอลลาร์ และได้ปรับลดอัตราเบี้ยครั้งใหญ่ในรอบ 11 ปี มาตรการกระตุ้นดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอและมีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะต้องพิจารณามาตรการทางการเงินและการคลังอื่นๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th