รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 1-4 ธันวาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 8, 2008 10:53 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 51 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี และใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับลดลงร้อยละ 17.1 จากเดือนก่อน ประกอบกับค่าโดยสารที่ปรับลงตั้งแต่เดือนก่อนหน้าทำให้ดัชนีในหมวดค่าโดยสารสาธารณะลดลงร้อยละ 3.3 จากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ราคาอาหารสดประเภทผักสด เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ฯลฯ มีการปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 17.7 จากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากภาวะน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ย. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 5.9 และ 2.5 ต่อปี ตามลำดับ

ยอดขายปูนซีเมนต์ภายในประเทศเดือน ต.ค.51 หดตัวที่ร้อยละ -16.0 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.3 ต่อปี ส่งผลให้ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 51 หดตัวลงที่ร้อยละ -9.9 ต่อปี สาเหตุที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่หดตัวลงต่อเนื่องมาจากการลงทุนภายในประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 50 จากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่ายอดขายปูนซีเมนต์น่าจะปรับตัวดีขึ้น หากแรงกดดันทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลง และการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ (Mega Project) เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ที่บางส่วนอาจจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 52

การประชุม กนง. ในวันที่ 3 ธ.ค. 2551 มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1 จากร้อยละ 3.75 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมชะลอตัวอย่างรุนแรง และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 และเดือนตุลาคม ชะลอตัวอย่างรวดเร็วและมีความเสี่ยงต่อการขยายตัวในระยะต่อไปเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ แรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีข้อจำกัด และปัญหาการเมืองภายในประเทศมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าเดิม ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับลดลงมากจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงมากในภาวะเศรษฐกิจโลกอ่อนแรงลง จึงมีความเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระหว่างที่ความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจมีมาก ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างมากดังกล่าว จะเป็นปัจจัยที่ช่วยผ่อนคลายภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนักธุรกิจ และก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

Economic Indicators: Next Week

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถานการณ์ภาวะผันผวนทางการเมืองทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมส่งผลต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามการบริโภคภาคเอกชนยังได้รับ ปัจจัยบวกจากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และผลจากนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล สามารถช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 51

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ย. 51 คาดว่าชะลอตัวที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี จากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่อาจจะชะลอลงไปบ้าง ซึ่งสอดคล้องกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ และเหล็กในเดือน ต.ค. 51 ล่าสุดที่หดตัวลงร้อยละ -16.0 ต่อปี และ -46.4 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้คาดว่ายอดธุรกรรมภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอตัวลง

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน พ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.9 ต่อปี เนื่องจากจากการกลับมาขยายตัวของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่อยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในขณะที่ผลผลิตสินค้าอื่นๆ เช่น ยางพารา คาดว่าจะลดลงเนื่องจากภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง ประกอบกับราคายางที่ลดลงไม่จูงใจในการเก็บเกี่ยวผลผลิต

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงในเกือบทุกสกุล ยกเว้นดอลลาร์ฮ่องกง และค่าเงินบาท

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากตามกระแสการทำ risk aversion flow ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนกลับไปถือสินทรัพย์ใน safe haven และการทำ unwind carry trade ในเงินสกุลเยนอย่างต่อเนื่องในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยจากการที่ตลาดยังคงมีความวิตกกังวลจากภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา การประกาศตัวเลข PMIs ของประเทศจีนสหราชอนาจักรและสหภาพยุโรปได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจอีกทั้งปัจจัยจากการที่นักลงทุนต่างคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของอังกฤษและยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันนี้ (4 ธันวาคม) ได้ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์สเตอรลิงค์ปรับตัวลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่ค่าเงินภูมิภาคต่างๆได้อ่อนค่าลงเช่นกันจากภาวะการทำ risk aversion โดยค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมาที่ระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์โดยแตะ trading band จากแรงกดดันในการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจีนจะเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออกซึ่งการอ่อนค่าลงของค่าเงินหยวนได้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ของสิงค์โปร์อ่อนค่าลงเช่นกัน

ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระดับ 92.60 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากนักลงทุนยังคงไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจจึงต่างหันกลับไปถือสินทรัพย์ใน safe haven และทำ unwind carry trade อย่างต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักทุกสกุลเกือบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินเยนและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักในภูมิภาคเนื่องจากภาวะการอ่อนค่าลงของค่าเงินในภูมิภาคจากการจัดทำ risk aversion flow และ unwind carry trade ของค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักประกอบกับปัจจัยทางการเมืองของประเทศที่ดีขึ้นทำให้ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงเหมือนในช่วงสัปดาห์ก่อน โดยเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแรงซื้อบาทจากผู้ส่งออก ขณะที่มีแรงขายบาทจากผู้ผลิตและผู้นำเข้า ประกอบกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินต่อเนื่องทำให้เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อย

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย ปอนด์เสเตอลิงค์และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 4 ธ.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49
ร้อยละ 3.64 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.95

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 64.1) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 40.3) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 33.2) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 10.1) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 6.6) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 6.4) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 5.8) ยูโร (ร้อยละ 5.6) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2.2) และดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับหยวน (ร้อยละ 8.1) และเงินเยน (ร้อยละ 14.6)

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 28 พ.ย.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 112.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองสุทธิเพิ่มขึ้นน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น (Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.9 และ 0.4 ตามลำดับในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ประกอบกับคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าซื่อเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 21 พ.ย.51) ร้อยละ 0.57 จาก 35.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 35.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 28 พ.ย. 51

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลข GDP ของออสเตรเลียไตรมาสที่ 3 ปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะมีการขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 นับเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 8 ปี โดยเมื่อพิจารณาด้านการผลิตพบว่าเป็นผลจากการผลิตนอกภาคเกษตรที่หดตัวลง ส่วนการผลิตภาคเกษตรขยายตัวได้ดี สำหรับด้านการใช้จ่ายพบว่า การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสุทธิชะลอลงขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ดี

ตัวเลข GDP อินเดียไตรมาสที่ 3 ปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 ต่อปีชะลอลงจากไตรมาส 2 ที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี จากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นร้อยละ 12.6 ต่อปี ในไตรมาส 3 ประกอบกับผลจากวิกฤตการเงินสหรัฐทำให้การส่งออกอินเดียในไตรมาส 3 ขยายตัวชะลอลงมากมาอยู่ที่ร้อยละ 22.9 ต่อปี จากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 42.4 ต่อปี ส่งผลให้ธนาคารกลางอินเดียปรับลดคาดการณ์ GDP ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี จากเดิมที่คาดการณ์ที่ร้อยละ 7.5-8.0 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของเกาหลีใต้เดือนพ.ย.51 หดตัวลงเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -18.3 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -14.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 และ 10.4 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นการหดตัวมาก ที่สุดในรอบ 7 ปี โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยัง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปหดตัวลงทุกประเทศ ส่วนในแง่มิติสินค้า นอกจากการส่งออกเรือที่ขยายตัวร้อยละ 34.7 ต่อปีแล้ว การส่งออกสินค้าหลักหดตัวโดยถ้วนหน้าเช่น ส่วนประกอบรถยนต์และปิโตรเคมีภัณฑ์ หดตัวถึงร้อยละ -30.8 และร้อยละ -36.6 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกที่หดตัวในอัตราเร่งมากกว่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าเกาหลีใต้เดือนต.ค.51 เกินดุลลดลงที่0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียเดือน ต.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี ชะลอตัวลงมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 28.5 ต่อปี ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าเนื่องจากวิกฤตการเงินโลก โดยในแง่มิติคู่ค้าการส่งออกไปยังสหรัฐฯและจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 2.29 ต่อปีชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 31.08 ต่อปี และการส่งออกไปยังจีนหดตัวเร่งขึ้นจากเมื่อเดือนก่อนร้อยละ -12.79 ต่อปี เป็นร้อยละ -45.15 ต่อปี ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนต.ค. ขยายตัวร้อยละ 68.86 ต่อปีใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 65.04 ต่อปี

ISM Manufacturing Index ของสหรัฐเดือนพ.ย 51 ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 36.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 38.9 ทั้งนี้ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 40 เป็นเดือนที่สอง เป็นสัญญาณอันตรายว่าภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจนโดยเฉพาะภาคการผลิตรถยนต์

ดัชนีอุตสาหกรรมโดยทางการจีน (NBS PMI) ในเดือนพ.ย. 51 อยู่ที่ระดับ 38.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 45.2 ในเดือนต.ค. 51 ในขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมที่รวบรวมโดยบริษัท CLSA อยู่ที่ระดับ 40.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.2 ผลจากทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าอุตสาหกรรมของจีนลดลง และจากอุปสงค์ภายในที่ชะลอตัวลงโดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม

Major Trading Partners’ Economies: Next Week

อัตราดอกเบี้ยนโยบายเกาหลีใต้ คาดว่าจะปรับลดลงมาที่ร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 4.0 ในการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า เนื่องจากเศรษฐกิจเกาหลีเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจนประกอบกับภาคการธนาคารกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ