รายงานสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การคลัง และการเงินของสหราชอาณาจักรและยุโรป พฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 8, 2008 14:54 —กระทรวงการคลัง

Pre-Budget Report 2008 ที่กระทรวงการคลังเสนอต่อสภา

นาย Alistair Darling รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอ Pre-Budget Report 2008 ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2008 ภายใต้หัวข้อ "Facing Global Challenges: Supporting people through difficult times" ซึ่ง Pre-Budget Report มีการจัดทำและเสนอต่อสภาเป็นประจำทุกครึ่งปีงบประมาณในฤดูใบไม้ร่วงเพื่อเป็นการรายงานทบทวนการประเมินภาวะเศรษฐกิจและการคลังในปีงบประมาณปัจจุบันให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงคาดการภาวะเศรษฐกิจและการคลังในปีถัดไป นอกจากการนี้ ยังรายงานถึงนโยบายและมาตรการที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระยะยาว รวมทั้งอธิบายถึงการปฏิรูปที่รัฐบาลกำลังพิจารณาดำเนินการก่อนที่จะจัดทำงบประมาณปี 2009 ในเดือนมีนาคมหน้าต่อไป

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้หัวข้อ "Facing Global Challenges: Supporting people through difficult times" รัฐบาลจึงได้เสนอนโยบายและมาตรการสำคัญ ๆ ที่บรรจุอยู่ใน Pre-Budget Report ฉบับนี้ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่ดีขึ้น สรุปได้ ดังนี้

  • รักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค (maintaining macroeconomic stability)
  • เสริมสร้างเสถียรภาพของระบบการเงิน (ensuring financial stability)
  • สนับสนุนภาคธุรกิจ (supporting business)
  • ช่วยเหลือประชาชนอย่างเท่าเทียม (helping people fairly)
  • การปรับปรุงบริการภาครัฐ (improving public services)
  • ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม (delivering on environmental goals)
1. การรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค (maintaining macroeconomic stability)

ในรอบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินเป็นระลอกโดยเฉพาะวิกฤตด้านสินเชื่อที่กำลังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งเศรษฐกิจของอังกฤษกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ดังนั้น นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลยังคงเน้นให้การ สนับสนุนภาคเศรษฐกิจให้สามารถผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากนี้ไปได้ รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการเพื่อให้การเกื้อหนุนต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น

  • การปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 17.5 เหลือร้อยละ 15.0 เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2008 ถึง 31 ธันวาคม 2009
  • การเลื่อนรายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ (capital spending) วงเงิน 3 พันล้านปอนด์ที่เดิมต้องเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2010-11 มาเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2008-09 และ 2009-10 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบแรงที่สุด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็คำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลางเพื่อเป็นหลักประกันถึงเสถียรภาพและการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย โดยรัฐบาลมีมาตรการทางภาษีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการคลังที่จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2010-11 เนื่องจากคาด ว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว มาตรการเช่นว่า ได้แก่

  • การปรับลดค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้เกิน 100,000 ปอนด์ลง โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2010 และปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมขั้นสูงจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 45 สำหรับเงินได้เกิน 150,000 ปอนด์ โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2011
  • ปรับเพิ่มอัตราการส่งสมทบกองทุนประกันสังคมแห่งชาติ (National Insurance Contributions) ขึ้นอีกร้อยละ 0.5 ทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2011
  • รัฐบาลจะปรับเพิ่มเป้าหมายการให้บริการที่คุ้มค่าเงิน (value for money) ขึ้นอีก 5 พันล้านปอนด์ในปีงบประมาณ 2010-11 จากเป้าหมายเดิมภายใต้แผนปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐเพื่อควบคุมรายจ่าย
  • กำหนดเป้าหมายอัตราการเพิ่มของงบประมาณรายจ่ายประจำ (current spending) ระหว่างปีงบประมาณ 2011-12 และ 2013-14 ให้มีอัตราการเพิ่มที่แท้จริง (real term) ได้ไม่เกินร้อยละ 1.2 ต่อปี และรายจ่ายเพื่อการลงทุน (net investment) ให้ลดลงเหลือร้อยละ 1.8 ต่อปีภายในปีงบประมาณ 2013-14

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2008 จะขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 0.75 และจะขยายตัวติดลบร้อยละ 0.75 -- 1.25 ในปี 2009 ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.5-2.0 ในปี 2010 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2009 จะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.5

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังประมาณการภาวะเศรษฐกิจว่า

  • อัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2008 จะชะลอตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 0.75 เทียบกับที่เคยประมาณการไว้ในคราวเสนองบประมาณเมื่อเดือนมีนาคม 2008 ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 1.75 - 2.25
  • สำหรับปี 2009 คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลงระหว่างร้อยละ 0.75 - 1.25
  • เศรษฐกิจจะกลับฟื้นตัวในปี 2010 และ 2011 โดยขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.0 และร้อยละ 2.75 - 3.25 ตามลำดับ
  • สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ในปี 2009 ก่อนที่จะฟื้นตัวเข้าสู่ระดับใกล้เคียงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายโดยจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.25 และ 2.0 ในปี 2010 และ 2011 ตามลำดับ

การขาดดุลงบประมาณปี 2008-09 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.3 ของ GDP ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะสุทธิจะเท่ากับ 602.0 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 41.2 ของ GDP และจะสูงสุดเท่ากับร้อยละ 57.4 ในปี 2013-14

สำหรับฐานะการคลัง ประมาณการว่าในปีงบประมาณ 2008-09 รัฐบาลจะมีรายจ่าย(รวมรายจ่ายตามมาตรการที่ประกาศในครั้งนี้ด้วยแล้ว) ทั้งสิ้นจำนวน 623.2 พันล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 6.7) แยกเป็นรายจ่ายประจำ 569.0 พันล้านปอนด์ (91.1%) และรายจ่ายลงทุนสุทธิ 36.5 พันล้านปอนด์ (5.9%) และค่าเสื่อมราคา 18.7 พันล้านปอนด์ (3.0%) ขณะที่ประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เพียงประมาณ 545.5 พันล้านปอนด์ ส่งผลให้รัฐบาลมีฐานะงบประมาณขาดดุลเป็นจำนวน 77.6 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 5.3 ของ GDP และส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้สาธารณะสุทธิ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2008-09 อยู่ที่ระดับ 602.0 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 41.2 ของ GDP ซึ่งสูงกว่า กรอบความยั่งยืนทางการคลังภายใต้ the sustainable investment rule ที่กำหนดรักษาอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไว้ไม่เกินร้อยละ 40 ตลอดช่วงวัฎจักรเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังคาดการณ์ว่างบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2009-2010 จะมียอดรวมทั้งสิ้น 654 พันล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณปัจจุบนร้อยละ 4.9) ขณะที่สามารถจัดเก็บรายได้จำนวน 535 พันล้านปอนด์ ส่งผลให้มีการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 118 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 8.0 ของ GDP ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะจะเพิ่มเป็น 729 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 48.2 ของ GDP และคาดว่ายอดหนี้สาธารณะต่อ GDP จะสูงที่สุดที่ระดับร้อยละ 57.4 ของ GDP ในปี 2013-14

การปฏิรูปกรอบนโยบายด้านการคลัง (Government's reform to the fiscal framework) ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1997 ถูกออกแบบมาเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินนโยบายการคลังจะมีมาตรฐานที่สูงที่สุดในด้านความโปร่งใสและการเปิดกว้าง ซึ่งความโปร่งใสถือเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในการบริหารจัดการการคลังของภาครัฐภายใต้ Code for Fiscal Stability ที่ผูกพันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังโดยต้อง

  • กำหนดวัตถุประสงค์ของนโยบายการคลังไว้อย่างชัดแจ้ง
  • เปิดเผยถึงวิธีการที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง (fiscal rules)
  • ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับผลการดำเนินการตามนโยบายการคลังของรัฐบาลโดยเปรียบเทียบกับกรอบวินัยทางการคลัง โดยต้องดำเนินการอย่างชัดเจนและทันกาล

วัตถุประสงค์และกรอบวินัยทางการคลัง (Fiscal objectives and rules) ประกอบด้วย

1) วัตถุประสงค์ของนโยบายการคลัง

1.1) ในระยะปานกลาง เพื่อรักษาความมั่นคงของฐานะการคลัง รวมถึงผลกระทบของการใช้จ่ายและการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อคนในรุ่นเดียวกันและคนในรุ่นต่อไป

1.2) ในระยะสั้น สนับสนุนนโยบายการเงิน และโดยเฉพาะเพื่อเอื้อต่อการเป็นกลไกรักษาความสมดุลโดยอัตโนมัติเพื่อช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความราบรื่บ

2) กรอบวินัยทางการคลังมี 2 ประการ คือ

2.1) the golden rule กำหนดให้ตลอดช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจ รัฐบาลจะกู้ยืมได้ก็เพียงเพื่อการลงทุนเท่านั้น (only to invest) ไม่สามารถกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายงบประจำ (not to fund current spending)

2.2) the sustainable investment rule กำหนดให้ต้องรักษาสัดส่วนของยอดหนี้ภาครัฐสุทธิต่อ GDP ให้มีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่ปลอดภัยตลอดช่วงของวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยกำหนดไว้ว่าจะต้องต่ำกว่าร้อยละ 40 ต่อ GDP

อย่างไรก็ดี ใน Pre-budget Report 2008 รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะที่เบี่ยงเบนจากกรอบความยั่งยืนทางการคลังเป็นการชั่วคราวเนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ โดยรัฐบาลได้กำหนดเกณฑ์ดำเนินการชั่วคราว (temporary operating rule) ว่าจะดำเนินนโยบายเพื่อให้ดุลงบประมาณรายจ่ายประจำที่ปรับด้วยวัฎจักรเศรษฐกิจแล้ว (cyclically-adjusted current budget) มีสถานะที่ดีขึ้นในทุก ๆ ปีภายหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้วเพื่อนำไปสู่งบประมาณที่สมดุล รวมทั้งอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับลดลง

2. นโยบายและมาตรการหลัก ๆ ภายใต้ Pre-Budget Report 2008

2.1) เสริมสร้างเสถียรภาพของระบบการเงิน (ensuring financial stability)

นับจากเดือนกรกฎาคม 2007 เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากความไร้เสถียรภาพของระบบการเงินโดยที่รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพและฟื้นความเชื่อมั่นของระบบการเงิน การคุ้มครองเงินฝาก และการดูแลเพื่อให้เงินภาษีถูกใช้ไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นไปอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ดี ในเดือนกันยายน 2008 วิกฤตการเงินกลับเลวร้ายลงอีกและกลายเป็นปัญหาเชิงระบบไม่ใช่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของระบบธนาคารทั้งระบบซึ่งเสี่ยงต่อการล่มสลายและจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของประเทศ รัฐบาลจึงได้ดำเนินการแทรกแซงระบบการเงินใน 3 มาตรการด้วยกัน ได้แก่ มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงินผ่านธนาคารกลางอังกฤษ (Special Liquidity Scheme) วงเงิน 200 พันล้านปอนด์ มาตรการช่วยเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินวงเงิน 50 พันล้านปอนด์ และมาตการค้ำประกันให้กับสถาบันการเงินในการกู้ยืมเงินจากตลาด

สำหรับการดำเนินการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคตรัฐบาลจะดำเนินการใน 2 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

1) มาตรการในส่วนที่เกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศ

  • ในฐานะประธานกลุ่ม G20 ในปี 2009 รัฐบาลอังกฤษจะผลักดันการดำเนินการตามแผนการที่ได้รับความเห็นชอบในการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2008 ที่ผ่านมาที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ให้เกิดความคืบหน้ามากที่สุด ใน 5 สาขา ได้แก่ การปรับปรุงระบบความโปร่งใสและความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน การปรับปรุงการกำกับเพื่อให้แน่ใจว่าทั้งสถาบันการเงิน ตลาดการเงิน และตราสารทางการเงินจะได้รับการกำกับดูแลอย่างเหมาะสมสนับสนุนเพื่อให้ตลาดการเงินดำเนินธุรกรรมอย่างตรงไปตรงมา การปรับเพิ่มระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในอันที่จะป้องกันวิกฤตในอนาคต และประการสุดท้าย คือ การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศทั้ง IMF และ สถาบันการเงินระหว่างประเทศแห่งอื่นรวมถึงขยายบทบาทของ Financial Stability Forum ในการล่วงรู้และเท่าทันถึงปัญหาและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
  • ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า EU เรียนรู้ถึงบทเรียนจากวิกฤต โดยเฉพาะในประเด็นการกำกับดูและการจัดการด้านการคุ้มครองเงินฝากสำหรับธนาคารที่มีการดำเนินธุรกิจข้ามประเทศภายในกลุ่มสมาชิก
  • ศึกษาทบทวนถึงโอกาสและอุปสรรคในระยะยาวของศูนย์กลางทางการเงินนอกประเทศที่เป็นเขตอาณาของประเทศอังกฤษ

2) มาตรการในส่วนที่เกี่ยวกับการเงินภายในประเทศ

  • ติดตามดูแลระบบการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อให้สามารถสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก็รวมถึงการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนในระดับที่เหมาะสม
  • ปรับปรุงกฎหมายการธนาคาร (Banking Bill) เพื่อขยายอำนาจของกระทรวงการคลังในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งโอนธนาคารที่ประสบปัญหาเข้าเป็นของรัฐเป็นการชั่วคราวให้รวมไปถึงการดำเนินการกับบริษัทแม่ที่ถือหุ้น (banking group holding companies) ได้ด้วย รวมทั้งจะเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาของวาณิชธนกิจ (investment bank) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและเงินฝากของลูกค้าเช่นที่เกิดกับบริษัทลูกในอังกฤษของ Lehman Brothers

2.2) สนับสนุนภาคธุรกิจ (supporting business)

นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว รัฐบาลยังจำเป็นต้องช่วยเหลือภาคธุรกิจในการฟันฝ่าภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว โดย

1) มาตรการระยะสั้น

  • มาตรการให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่กำลังประสบปัญหาสินเชื่อตึงตัวให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ โดยรัฐบาลจะดำเนินโครงการ Small Business Finance Scheme ซึ่งเป็นการให้การค้ำประกันสินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเป็นวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 พันล้านปอนด์ นอกจากนี้ ยังจะมีการให้การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออก (export credit guarantee) แก่ผู้ส่งออกรายเล็กเป็นวงเงินไม่เกิน 1 พันล้านปอนด์เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงจะมีการจัดสรรวงเงิน 50 ล้านปอนด์เพื่อใช้ในการร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่มีปัญหาสัดส่วนเงินกู้ต่อทุนสูงเกินไป (overleveraged)
  • ดำเนินมาตรการที่เรียกว่า HMRC Business Payment Support Service ที่อนุญาตให้ธุรกิจที่มีภาระต้องชำระภาษี (tax bill) แต่กำลังประสบปัญหาฐานะทางการเงินเป็นการชั่วคราว สามารถผลัดผ่อนการชำระภาษีออกไปก่อนได้ตามกำลังของแต่ละกิจการ
  • เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระให้กับผู้ประกอบการ HMRC จะอนุญาตให้มีการนำผลขาดทุนในปีปัจจุบันไปหักออกจากกำไรที่ต้องเสียภาษีในปีที่แล้ว (loss carry-back) โดยขยายเวลาเพิ่มเป็นการชั่วคราวจาก 1 ปีเป็น 3 ปีสำหรับผลขาดทุนไม่เกิน 50,000 ปอนด์
  • การทบทวนการดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบภาษี (modification of planned tax reforms) ในหลายประการ เช่น การเลื่อนเวลาการบังคับใช้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 21 จากเดิมร้อยละ 20 ออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2009-10 แทน การปรับเพิ่มเพดานขั้นต่ำของอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ (empty property) ให้สูงขึ้นเป็นการชั่วคราวเพื่อให้กิจการขนาดเล็กไม่มีภาระต้องเสียภาษีสำหรับทรัพย์สินดังกล่าว และการยกเลิกแนวคิดจัดเก็บภาษีการเดินทางโดยเครื่องบิน (aviation tax) ที่เดิมคิดจะจัดเก็บต่อเครื่องบิน (per airplane) ก็จะหันกลับไปจัดเก็บต่อผู้โดยสาร (air passenger duty) ตามเดิมแต่จะมีการปรับปรุงการจัดเก็บแทน เป็นต้น

2) มาตรการระยะยาว

  • การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรในต่างประเทศ (taxation of foreign profits) รวมไปถึงการยกเว้นภาษีสำหรับเงินปันผลที่เกิดในต่างประเทศ และการจำกัดเพดานหนี้สูงสุดที่สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสำหรับกิจการระหว่างประเทศ (worldwide debt cap on interest) เป็นต้น
  • พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความเป็นกิจการต่างประเทศ (UK's controlled foreign companies: CFC) ให้มีความชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีกำไรจากต่างประเทศให้มีความสอดคล้องกับหลักเขตแดน (territorial approach) ต่อไป
  • มาตรการส่งเสริมเพื่อให้กิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มีโอกาสได้รับงานจากภาครัฐ (Government contracts) มากขึ้น รวมถึงการประกาศโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าเกิน 20,000 ปอนด์ใน website กลางที่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (single free online portal)

2.3) ช่วยเหลือประชาชนอย่างเท่าเทียม (helping people fairly)

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเพื่อให้ผ่านความยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลจะเพิ่มความสนับสนุนและช่วยเหลือกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการอย่างเร่งด่วน โดย

1) การให้การสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เช่น

  • ยกระดับการปรับเพิ่มชั่วคราวค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 600 ปอนด์ที่ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2008 ให้เป็นค่าลดหย่อนถาวร รวมทั้งจะมีการปรับเพิ่มค่าลดหย่อนขึ้นเป็น 130 ปอนด์เหนือระดับดัชนี (above indexation) นับจากเดือนเมษายน 2009 ซึ่งโดยรวมแล้วจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในข่ายเสียภาษีในอัตราขั้นต่ำ (basic rate) เสียภาษีน้อยละ 145 ปอนด์ในปีงบประมาณ 2009-10
  • ร่นการบังคับใช้การปรับเพิ่มเงินอุดหนุนบุตร Child Benefit ให้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในเดือนเมษายนมาเป็นเดือนมกราคมแทน และร่นการปรับเพิ่ม Child Tax Credit อีก 25 ปอนด์เหนือระดับดัชนี (above indexation) ให้เร็วขึ้นจากเดือนเมษายน 2010 เป็นเดือนเมษายน 2009
  • ร่นการปรับเพิ่มเงินยังชีพสำหรับผู้เกษียณอีก 60 ปอนด์จากเดิมจะเริ่มในเดือนเมษายนให้เป็นเดือนมกราคม

2) การให้การสนับสนุนแก่ครัวเรือนที่กำลังมีปัญหาทางการเงิน เช่น

  • เพิ่มการช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบปัญหาในการผ่อนชำระสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมจากมาตรการเดิมที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนกันยายน 2008 ตามโครงการ Mortgage Rescue Scheme ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยลดจำนวนครัวเรือนที่มีแนวโน้มว่าจะถูกยึดบ้านเนื่องจากมีปัญหาผ่อนชำระ (repossession) และ Support for Mortgage Interest Scheme ที่เป็นการช่วยลดระยะเวลาการขอสินเชื่อและการให้ได้รับสินเชื่อในวงเงินสูงที่สุด
  • ได้รับคำยืนยันจากสถาบันการเงินที่ร่วมใน New Lending Panel ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยว่าจะไม่รีบดำเนินการยึดทรัพย์ที่อยู่อาศัยในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากที่ลูกหนี้ขาดผ่อนชำระ (in arrears) รวมถึงผลักดันเพื่อให้สถาบันการเงินพิจารณาดำเนินการยึดทรัพย์ที่อยู่อาศัยเป็นทางเลือกสุดท้าย

3) การให้การสนับสนุนแก่ผู้ตกงาน เช่น

  • จัดตั้ง National Employment Partnership โดยนำผู้บริหารของฝ่ายนายจ้างเข้าร่วมและมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือเพื่อช่วยเหลือให้เกิดการจ้างงานใหม่โดยเร็ว รวมทั้งเพิ่มเงินทุนและขยายบทบาทของนายจ้างใน Jobcentre Plus ทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคเพื่อเอื้อต่อการเร่งกระบวนการจ้างงาน
  • เพิ่มวงเงินสำหรับการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการฝึกอบรม รวมถึงการจัดให้มี Skills Hubs ซึ่งจะเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงหน่วยงานที่เข้าร่วมในระดับท้องถิ่นในการให้บริการจัดหางาน ฝึกอบรม และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน
ปรับปรุงระบบภาษีให้มีความทันสมัย และเป็นธรรม (a modern and fair tax system)

1) การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้มีความทันสมัย (modernizing tax administration)

โดยจะปรับปรุงระบบการปรับค่าภาษี (penalty) ให้ทันสมัยและเป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับการยื่นแบบภาษีเงินได้ล่าช้ากว่าที่กำหนดและการชำระภาษีล่าช้า รวมถึงการปรับปรุงเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับดอกเบี้ยสำหรับภาษีที่ชำระล่าช้า (tax paid late) และภาษีที่ชำระไว้เกิน (tax overpaid) และการลดภาระของนายจ้างและผู้มีอาชีพอิสระด้วยการปรับปรุงขั้นตอนการจัดเก็บภาษีให้ง่ายขึ้น รวมถึงการลดขั้นตอนการจัดเก็บภาษีประเภท Pay as you Earn สำหรับนักศึกษาที่ทำงานพิเศษตั้งแต่เดือนเมษายน 2011 เป็นต้นไป

2) การคุ้มครองรายได้ภาษี (protecting tax revenues)

  • HMRC และ UK Borders Agency จะร่วมกันดำเนินการเพื่อปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีในรูปแบบของการเช่าใช้อสังหารมิทรัพย์และเครื่องจักร (leasing) ในรูปแบบต่าง ๆ

3) ปรับปรุงความเป็นธรรมทางภาษี (making fair contribution)

  • ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2008 เพื่อให้รายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีสรรพสามิตโดยรวมจากสินค้าประเภทนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลังจากที่รัฐบาลประกาศลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือร้อยละ 15.0
  • ปรับปรุงความเป็นธรรมทางภาษีอื่นๆ เช่น ขยายการผ่อนผันทางภาษี (tax relief) บางประการสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ปรับปรุงหลักเกณฑ์ภาษีสำหรับเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่เป็นบริษัทที่เชื่อมโยงกัน (connected companies) และการหารือร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทางภาษีสำหรับการชำระดอกเบี้ยล่าช้าระหว่างกิจการที่เกี่ยวโยงกัน (connected companies) เป็นต้น

2.4) การปรับปรุงบริการภาครัฐ (improving public services)

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการลงทุนและปฏิรูปการให้บริการภาครัฐอย่างต่อเนื่องทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และบริการภาครัฐอื่นๆ ซึ่งใน Pre-budget report 2008 รัฐบาลจะขยายแผนการดำเนินการเพื่อเป็นการเพิ่มความคุ้มค่าให้กับบริการภาครัฐ (value for money) ดังนี้

  • เร่งการใช้จ่ายโครงการลงทุนเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 3 พันล้านปอนด์จากกำหนดเดิมปี 2010-11 มาใช้จ่ายในปี 2008-9 และ 2009-10 ในโครงการด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา การคมนาคม และโครงการก่อสร้างอื่นที่จะช่วยการหมุนเวียนของธุรกิจและการจ้างงาน
  • นอกจากจะประสบความสำเร็จในการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการภาครัฐลงถึง 26.5 พันล้านปอนด์ รวมถึงลดข้าราชการได้ 86,700 คนในระหว่างปี 2004-2007 ในครั้งนี้รัฐบาลประกาศเพิ่มเป้าความคุ้มค่าเงินของภาครัฐขึ้นอีก 5 พันล้านปอนด์สำหรับปีงบประมาณ 2010-11
  • และเพื่อให้บริการภาครัฐมีความคุ้มค่าเงินในระยะยาว รัฐบาลตั้งเป้าควบคุมการขยายตัวของงบประมาณรายจ่ายประจำไว้ไม่เกินร้อยละ 1.3 1.2 และ 1.1 ต่อปีในระหว่างปีงบประมาณ 2011 ถึง 2013 ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ก็จะรักษางบรายจ่ายเพื่อการลงทุนสุทธิในระดับสูงไว้ต่อไปและตั้งเป้าว่างบรายจ่ายเพื่อการลงทุนจะมีสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 1.8 ในปีงบประมาณ 2013-14

2.5) ดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม (delivering on environmental goals)

รัฐบาลผูกพันที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนการชะลออัตราการเพิ่มของก๊าซคาร์บอน โดย

  • จัดสรรวงเงินจำนวน 535 ล้านปอนด์ภายใต้วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อใช้ลงทุนตามมาตรการ green stimulus เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดก๊าสคาร์บอน ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มการจ้างงาน เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การคมนาคมขนส่งด้วยระบบราง และโครงการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ
  • ดำเนินการเพื่อให้การขนส่งทางอากาศ (aviation) เข้ามาอยู่ภายใต้ EU Emission Trading Scheme ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นไป และจัดให้มีการประมูลต้นทุนการก่อมลพิษจากก๊าสคาร์บอนของยุโรปในระยะที่ 2
  • ยืนยันความผูกพันในโครงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (Renewable Obligation) ด้วยการให้ความสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการนำทรัพยากรเหลือใช้มาผลิตไฟฟ้า รวมถึงขยายเวลาออกไปไม่น้อยกว่า 10 ปี เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจที่จะเข้าร่วมลงทุน
  • ปรับปรุงอัตรา Air passenger duty เพื่อให้สอดคล้องกับระยะทางของการเดินทางโดยเครื่องบิน ดังนี้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ