Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ธ.ค. 2551
SUMMARY:
- สศช. เตือนรับมือคนตกงานปี 52 จำนวน 9 แสนคน
- บีโอไอ ชี้ ตปท. ผวาการเมืองส่งผลให้การลงทุน ปี 51 ลดลงร้อยละ 25
- จีนทบทวนนโยบายเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่
HIGHLIGHT:
1. สศช. เตือนรับมือคนตกงานปี 52 จำนวน 9 แสนคน
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ปี 52 จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 แสนคน คิดเป็นอัตราร้อยละ 2 -2.5 ของจำนวนผู้ใช้แรงงาน ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ที่มีอัตราว่างงานที่ระดับร้อยละ 4.4 ของจำนวนผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ คาดว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานที่ตกงานในปีหน้าประมาณ 3,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีแรก อาจว่างงานอีกประมาณ 3 แสนคน ทำให้ในช่วงต้นปีหน้า จะมีคนตกงานทั้งสิ้น 9 แสนคน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะการจ้างงานที่ลดลงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัจจัยลบภายในประเทศจากความวุ่นวายทางการเมือง ส่งผลต่อการจ้างงานทั้งในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง แม้ว่าภาคเกษตร ยังมีความต้องการแรงงานและสามารถรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานจาก 2 ภาคเศรษฐกิจได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรมีบทบาทในการเพิ่มนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวและโรงแรม ให้สามารถฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด พร้อมกับการสนับสนุนการประกอบธุรกิจอิสระ SME และให้ความรู้ด้านวิชาชีพแก่ประชาชนมากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานในภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานกว่าร้อยละ 46.6 ของการจ้างงานทั้งหมด ทั้งนี้ อัตราการว่างงาน 10 เดือนแรกปี 51 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4 ของจำนวนแรงงานรวม
2. บีโอไอ ชี้ ตปท. ผวาการเมืองส่งผลให้การลงทุน ปี 51 ลดลงร้อยละ 25
- คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยว่า ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี(ม.ค.-พ.ย. 51) มีมูลค่ารวม 4.36 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25 โดยปี 50 มีมูลค่ารวม 5.86 แสนล้านบาท แต่จำนวนโครงการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ต่อปี เนื่องจากปี 51 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในส่วนโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และรถยนต์ลดลง และอยู่ระหว่างการลงทุน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้นทั้งจากปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลง ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ส่งผลให้ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนชะลอตัวลงจากปัจจัยดังกล่าว ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อเป็นการกระตุ้นให้การลงทุนภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น
3. จีนทบทวนนโยบายเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่
- เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ทางการจีนได้จัดประชุมผู้นำระดับสูงเพื่อกำหนดนโยบายเศรษฐกิจครั้งใหญ่สำหรับ ปี 2552 การประชุมดังกล่าวคาดว่าจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหาที่จีนอาจจะเผชิญในปีหน้า ได้แก่ ความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่า ทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (588 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งอาจส่งผลดีต่อภาคเอกชนในด้านการลงทุนโครงการสาธารณูปโภค โทรคมนาคม ในปีหน้า แต่นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายดังกล่าวอาจผลกระทบต่อการผลิตทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อนแรงเกินไป เนื่องจากการลงทุนไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสม
- สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤตการเงินโลกในปัจจุบันทำให้เกิดความผันผวนของราคาสินค้า อัตราดอกเบี้ย และมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นักวิชาการจากหลายสำนักได้สนับสนุนให้รัฐบาลในแต่ละประเทศใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลง อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการดังกล่าวนั้นจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเนื่องจากจะมีผลกระทบโดยตรงกับฐานะการคลังของภาครัฐ โดยเฉพาะแนวโน้มการจัดเก็บภาษีที่ต่ำกว่าเป้าซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอาจก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th