รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 1-5 ธันวาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 11, 2008 11:52 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ดัชนีเศรษฐกิจที่ประกาศในสัปดาห์นี้

1.1 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) เดือน ต.ค. 51 ลดลงร้อยละ 3.1

กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมได้เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(Industrial Output) ของเดือน ต.ค. 51 ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 102.3(ปี 2005=100) มีแนวโน้มว่าดัชนีของเดือนพ.ย.51 จะลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงส่งผลให้การผลิตรถยนต์ลดลงอย่างมาก มียอดคงค้างใน Stock เพิ่มขึ้น นาย Toshihiro Nikaido รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมให้ความเห็นว่า การลดลงของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมากนับแต่นี้ต่อไป

1.2 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในญี่ปุ่น (Household Spending) เดือน ต.ค.51 ลดลงร้อยละ 3.8

กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ได้เปิดเผยว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เดือน ต.ค.51 ลดลงร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้าเป็นผลมาจากผู้บริโภคได้ประหยัดการใช้จ่ายลงอย่างมาก

2. ยอดขายรถยนต์ใหม่ เดือนพ.ย.51 ลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

สมาคมผู้ค้ารถญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.51 ว่ายอดขายรถมือหนึ่งภายในประเทศ ( ยกเว้นรถประเภทที่มีเครื่องต่ำกว่า 1,000cc ) ประจำเดือน พ.ย.51 ลดลงร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า มีจำนวน 215,783 คัน เป็นการลดลงติดต่อกัน 4 เดือนแล้ว และนับเป็นยอดขายที่ต่ำที่สุดในรอบ 39 ปี นับจากปี 2512 จากวิกฤตการเงินสหรัฐฯและยุโรป ได้ทำให้ดีมานด์จากต่างประเทศต่อ รถยนต์ลดลง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้สู่ญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยิ่งตกต่ำลงมากขึ้น

ถึงแม้ว่าหากยอดขายรถยนต์ประจำเดือนธ.ค. จะกลับมาเป็นปกติได้ แต่ยอดขายรวมประจำปี 2551 นั้นก็ยังคงจะลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 3.2 ล้านคันซึ่งเป็นการลดต่ำลงเป็นครั้งแรกนับจากเมื่อปี 2517 ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 ซึ่งมียอดขายเท่ากับ 3.13 ล้านคัน โดยยอดขายประจำเดือนพ.ย.นี้ได้ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 13.1 และเมื่อดูจากยอดขายแบ่งตามบริษัทแสดงให้เห็นว่าบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่จำนวน 8 แห่งนั้นมีผลประกอบการติดลบทั้งหมดเช่น Mitsubishi ลดลงร้อยละ 45.5 Daihatsu ลดลงร้อยละ 46.5 Nissan ลดลงร้อยละ 29.5 และ Toyota ลดลงร้อยละ 27.6 เป็นต้น การลดลงครั้งนี้ได้ส่งผล ให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ จะลดจำนวนการผลิต ลดจำนวนพนักงาน และลดการจ่ายโบนัสลง ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีการลดจำนวนพนักงานมากขึ้น

3. BOJ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทเอกชน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นปัจจุบัน ได้ทำให้บริษัทเอกชนประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ในการนี้ BOJ ได้จัดการประชุมพิเศษเพื่อหามาตรการเสริมสภาพคล่องแก่บริษัทเอกชนเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.51 โดยตกลงที่จะยอมให้บริษัทนำหลักทรัพย์หรือพันธบัตรที่ได้รับการจัดอันดับความเสี่ยงประเภท BBB- มาเป็นหลักประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสภาพคล่องได้ประมาณ 3 ล้านล้านเยน

BOJ ตัดสินที่จะคงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.3 ต่อไป เนื่องจากเห็นว่า การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างเดียว หลังจากที่ได้เคยใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายพิเศษ (Quantitative Easing Policy) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ซึ่งใช้ในปี 2544 และได้เพิ่มเป็นร้อยละ 0.25 ในเดือน ก.ค. 49 และเพิ่มเป็นร้อยละ 0.5 ในเดือน ก.พ. 50 แต่ได้ลดลงเมื่อเดือน ต.ค.51 ที่ผ่านมาเหลือ 0.3

4. รัฐบาลเลื่อนการใช้เป้าหมายวินัยทางการคลัง ออกไปอีก 3 ปี

เป้าหมายวินัยการคลัง (Fiscal Discipline) ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรี Koizumi มีเป้าหมายที่ฟื้นฟูฐานะการคลังโดยลดหนี้สาธารณะ ปัจจุบันอยู่รูปของพันธบัตรรัฐบาลภายในประเทศสูงถึงประมาณร้อยละ180 ของ GDP (รวมหนี้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น) มากกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ มีการจัดทำงบประมาณขาดดุลติดต่อกันมาหลายปี โดยรัฐบาลมีเป้าหมายวินัยการคลังที่จะการจัดทำงบประมาณเกินดุลในปี 2554 รวมทั้งได้กำหนดเพดานการออกพันธบัตรไว้ว่าจะออกพันธบัตรรัฐบาลสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของงบประมาณปีละไม่เกิน 30 ล้านล้านเยน ในขณะที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมที่มีคนแก่มากขึ้น (Aging Economy) ได้เป็นภาระสำคัญของรัฐบาลในด้านค่าใช้จ่ายสวัสดิการและประกันสังคมในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรตาม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ทำให้นายกรัฐมนตรี Aso ประกาศเลื่อนการใช้เป้าหมายทางการคลังดังกล่าวออกไปอีก 3 ปี ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลจะเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

5. Norinchukin Bank ประกาศเพิ่มทุนจำนวน 1 ล้านล้านเยน

Norinchukin Bank หรือธนาคารกลางสหกรณ์ญี่ปุ่น ได้ประกาศเมื่อวันที่ 27 พ.ย.51 ว่าผลกำไร ณ เดือน ก.ย.51 (ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 51) ได้ลดลงถึงร้อยละ 92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า มีสาเหตุมาจากการดำเนินมาตรการกำจัดความเสียหายจำนวน 100 พันล้านเยนที่เกิดจากวิกฤตการเงินโลก โดยเมื่อช่วงสิ้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา Norinchukin Bank มียอดความเสียหายรวมทั้งหมดเป็นจำนวนถึง 1.5 ล้านล้านเยน นับเป็นยอดเงินเพิ่มทุนที่สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินภายในประเทศทั้งหมดของญี่ปุ่น โดย Norinchukin Bank ได้ประกาศเพิ่มทุนจำนวน 1 ล้านล้านเยนหรือ 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปีนี้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการคลัง

สหกรณ์การเกษตรต่างๆ ถือหุ้นประมาณ 41.6 ล้านล้านเยน ใน Norinchukin Bank การเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นผลจากความเสียหายที่ Norinchukin Bank ได้ลงทุนในหลักทรัพย์ พันธบัตร และบริการการเงินต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินครั้งนี้อย่างมาก โดยขาดทุนเป็นผลมาจากการลงทุนในสินทรัพย์ Subprime สหรัฐฯ และราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงอย่างมาก

--------------------------------------------------------------

***หมายเหตุ สถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในญี่ปุ่นหลักๆ มี 2 แห่งคือ

1.) Japan Agricultural Cooperatives Bank Group (JA Bank Group) เกิดจากการรวมตัวของสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์สินเชื่อเพื่อการเกษตรจำนวน 3 แห่งได้แก่ (1) Norinchukin Bank (2) Shinnoren (3) Japan Agricultural Cooperatives (JA) ซึ่งมีระบบการบริหารแบ่งเป็น 3 ระดับคือระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับเทศบาลตำบล ดังนี้

1.1 Japan Agricultural Cooperatives เป็นสหกรณ์เพื่อการเกษตรระดับเทศบาลตำบลที่มีสมาชิกเป็นเกษตรกร มีหน้าที่ให้ความรู้และความช่วยเหลือเกษตรกรในการบริหารกิจการเกษตร เช่นการเป็น ตัวกลางในการรวบรวมผลผลิตและจัดจำหน่ายเพื่อเป็นการรักษาราคา ให้ความช่วยเหลือในการจัดซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร รวมถึงสนับสนุนด้านชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร เช่นการจัดตั้งระบบสวัสดิการต่างๆ และการให้บริการด้านการเงิน เช่นการรับฝากเงิน การให้สินเชื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสหกรณ์เพื่อการประมง (Japan Forestry Cooperatives:JF) สหกรณ์ป่าไม้ (Shinrin Kumiai) ซึ่งดำเนินงานในระดับเทศบาลตำบลด้วย

1.2 Shinnoren หรือ Prefecture Banking Federations of Fishery Cooperative เป็นสมาพันธ์ของสหกรณ์การเกษตรในระดับจังหวัด ซึ่งสนับสนุนกิจกรรมของ JA ในระดับจังหวัด และให้การบริการด้านการเงินโดยร่วมมือกับ JA ในระดับท้องถิ่น

1.3 Norinchukin Bank เป็นธนาคารกลางของ JA ที่เกิดจากการรวมทุนของสหกรณ์เพื่อการเกษตร (JA) สหกรณ์เพื่อการประมง (JF) สหกรณ์ป่าไม้ (Shinrin Kumiai) มีหน้าที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจการเกษตร การประมง และป่าไม้

2) Agriculture, Forestry and Fisheries Finance Corporation ( AFC ) หรือ บรรษัทเงินทุนเพื่อการเกษตร ป่าไม้และประมง เป็นสถาบันการเงินเพื่อการเกษตรของรัฐบาล คล้ายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในประเทศไทย

AFC เป็นหนึ่งในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ควบรวมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอื่นๆ อีก 3 สถาบันได้แก่ 1) ส่วนงาน EXIM Bank ของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank of International Cooperation: JBIC) 2) บรรษัทเงินทุนเพื่อลูกค้าขนาดย่อม (National Life Finance Corporation) 3) บรรษัทเงินทุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (Japan Finance Corporation for Small and Medium Enterprises) เป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งใหม่ชื่อ Japan Finance Corporation (JFC) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.51 ที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลต้องการปรับปรุงฐานะด้านการคลังให้ดีขึ้นจากการที่มีหนี้สาธารณะเป็นจำนวนมาก

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

Update : ธันวาคม 2551

ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ