รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 12, 2008 13:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 ธ.ค. 2551

SUMMARY:
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.51 ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 67.1
  • ส่งออกจีนทรุดครั้งแรกรอบ 7 ปี
  • จำนวนผู้ขอความช่วยเหลือจากการว่างงานในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น
HIGHLIGHT:
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.51 ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 67.1
  • มหาวิทยาลัยหอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.51 ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 67.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 68.6 ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี ตลอดจนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานเดือนพ.ย.51 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ร้อยละ 67.9 และ 87.8 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 69.2 และ 89.5 เนื่องจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งภาพลักษณ์และระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.51 ปรับตัวลดลงต่ำสุดส่งผลให้การใช้จ่ายมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องไปถึงปีหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน พ.ย. 51 ปรับตัวลดลงสาเหตุสำคัญ เนื่องมาจาก (1) เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น (2) วิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งสะท้อนจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงบวกกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวลง และ (3) ความผันผวนของค่าเงินบาทซึ่งอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ ดังนั้น รัฐบาลที่จัดตั้งใหม่ต้องเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาเป็นลำดับแรกเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยไม่หดตัวเหมือนประเทศอื่น
2. ส่งออกจีนทรุดครั้งแรกรอบ 7 ปี
  • จีนเผยตัวเลขส่งออกเดือน พ.ย. หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี (ขณะที่เมื่อ ต.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 19.1) ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกรอบ 7 ปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -17.9 ทั้งนี้ สาเหตุการลดลงของการส่งออกเนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกทรุด เพิ่มความเสี่ยงเกิดปัญหาคนตกงานจำนวนมหาศาล และอาจจุดชนวนนำไปสู่ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมือง และจีนจะเผชิญภาวะขาลงทางเศรษฐกิจรุนแรงในที่สุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การหดตัวลงของมูลค่าการส่งออกของจีนสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนตกต่ำลง ซึ่งจะบั่นทอนศักยภาพในการนำเข้าของจีนและบั่นทอนความหวังของบรรดาผู้ส่งออกต่างชาติที่หวังพึ่งพาจีนเป็นตัวช่วยกระตุ้นอุปสงค์สินค้าในตลาดโลก ขณะที่ความต้องการจากสหรัฐและยุโรปลดลง ทั้งนี้ จีนถือเป็นตลาดใหม่สำหรับการส่งออกของไทย แต่มีสัดส่วนที่ขยายตัวเร็วจนมาเป็นอันดับ 4 โดยมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 9.5 รองจาก อียู สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ตามลำดับ
3. จำนวนผู้ขอความช่วยเหลือจากการว่างงานในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น
  • กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ รายงานตัวเลขผู้ขอความช่วยเหลือจากการว่างงานในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม (วันที่ 1- 6 ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 58,000 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ขอความช่วยเหลือฯ ที่ปรับความผันผวนของฤดูกาล (seasonally adjusted) เท่ากับ 573,000 ราย ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของจำนวนผู้ขอความช่วยเหลือฯ ในสี่สัปดาห์เท่ากับ 540,500 ราย เพิ่มขึ้น 14,250 ราย จากสี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทำให้จำนวนผู้ขอความช่วยเหลือฯ สูงสุดในรอบ 26 ปี นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ขอความช่วยเหลือฯ เป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 24-29พ.ย. เพิ่มขึ้น 338,000 ราย สูงสุดในรอบ 36 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้ว่างงานต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นในการหางานใหม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่าตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะได้ให้ช่วยเหลือแก่ภาคเอกชนแล้วในบางรายสาขา เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์และภาคการธนาคาร อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้ภาคการผลิตและการส่งออกของสหรัฐฯ ชะลอตัว สศค.คาดว่า ปี 52 เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวร้อยละ -0.7

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ