รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 8-12 ธันวาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 15, 2008 11:44 —กระทรวงการคลัง

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 8-12 ธ.ค.51

Economic Indicators: This Week

รายได้สุทธิรัฐบาลประจำเดือน พ.ย.51 เท่ากับ 111.42 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -6.3 โดยเป็นรายได้สุทธิของ 3 กรมจัดเก็บภาษี เท่ากับ 108.82 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -8.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รายได้ภาษีอากรที่จัดเก็บได้ลดลง ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตโดยเฉพาะจาก ภาษีน้ำมัน ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์จากมาตรการของรัฐบาล ภาษีรถยนต์ ภาษีสุราฯ และภาษีเบียร์ ซึ่งสะท้อนภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลง และเมื่อพิจารณาฐานภาษี ภาษีฐานรายได้ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล) จัดเก็บได้ 43.04 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ 36.71 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -6.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากมูลค่าการนำเข้าและการบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ย. 51 หดตัวลงร้อยละ -4.6 ต่อปี หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี และต่ำกว่าที่คาดไว้มาก โดยมีสาเหตุหลักจากความกังวลต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้การนำเข้าลดลง ส่งผลให้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าลดลงตามไปด้วย

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ย. 51 หดตัวลงร้อยละ -6.4 ต่อปี หดตัวลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี และต่ำกว่าที่คาดไว้มาก โดยมีปัจจัยจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กำลังซื้อที่อยู่อาศัย ประกอบกับสภาพคล่องในระบบตึงตัว อย่างไรก็ตาม ผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะและมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุดที่มีการขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี นั้น อาจช่วยพยุงให้ยอดการจัดเก็บภาษีในระยะต่อไป

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน พ.ย. 51 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 67.1 ต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี และใกล้เคียงกับที่ สศค. คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 67.0 เนื่องมาจาก (1) เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นจนเป็นเหตุให้ต้องมีการปิดล้อมสนามปิดทั้ง 2 แห่งเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 51 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลทำให้รัฐบาลได้มีการประกาศใช้ พรบ.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 51 เป็นต้นมา (2) วิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งสะท้อนจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงบวกกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวลง และ (3) ความผันผวนของค่าเงินบาทซึ่งอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้

ยอดขายรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ย. 51 หดตัวที่ร้อยละ -3.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 ต่อปี และเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ลดลงอันเนื่องมาจากราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ทิศทางชะลอลงอย่างชัดเจน และสะท้อนถึงการบริโภคระดับล่างเริ่มได้รับผลกระทบทางลบแล้ว

อัตราการว่างงานเดือนต.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม โดยที่มีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.5 แสนคน เมื่อพิจารณาด้านการจ้างงานพบว่า การจ้างงานรวมขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี โดยเป็นผลจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาการศึกษาและค้าส่งค้าปลีก และการหดตัวน้อยลงของการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วน

Economic Indicators: Next Week

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน พ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 15.0 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 20.4 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานที่ต่ำช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับมีการจัดงานมหกรรมสินค้ารถยนต์ (Motor Expo) ที่จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพ.ย.- ต้นเดือนธ.ค. 51

มูลค่าการส่งออกสินค้าเดือน พ.ย.51 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -3.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี ตามแนวโน้มการหดตัวของการส่งออกในหลายๆประเทศ ผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้า คาดว่าจะขยายตัวชะลอตัวลงที่ร้อยละ 9.6 ต่อปี จากร้อยละ 21.7 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการนำเข้าสินค้าทุนและราคาสินค้าเชื้อเพลิงที่ลดลง โดยดุลการค้าเดือน พ.ย. 51 คาดว่าจะขาดดุลประมาณ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นในเกือบทุกสกุล ยกเว้นดอลลาร์ฮ่องกง

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากการประกาศตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐฯประจำเดือนต.ค. ที่ออกมาขาดดุลมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ประกอบกับการประกาศตัวเลขการจ้างงานประจำเดือน พ.ย. ของสหรัฐฯที่ปรับลดลงต่ำที่สุดในรอบ 26ปี ซึ่งเป็นการปรับลดลงกว่า 533,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้ sentiment ต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯและความต้องการในการที่นักลงทุนจะถือเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง

  • ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากที่นักลงทุนต่างลดการถือสินทรัพย์ในเงินสกุลดอลลาร์ลงและหันมาลงทุนในเงินสกุลยูโรประกอบกับปัจจัยที่ธนาคารแห่งชาติสวิสได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.5 (50 basis points)

-ในขณะที่ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่ตลาดและนักลงทุนได้รับข่าวว่าทางการเกาหลีใต้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง ค่าเงินหยวน ในขณะที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับค่าเงิน
วอน ค่าเงินรูปีย์ และค่าเงินยูโร

ค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมือเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากการที่นักลงทุนต่างลดการถือสินทรัพย์ใน safe haven และหันมาลงทุนในตลาดอื่นๆ ประกอบกับปัจจัยภาวะทางการเมืองภายในประเทศเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการเดิมที่อ่อนค่าลงในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ผู้ส่งออกต่างพากันขายดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อบาทจากการที่เก็งว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก ทั้งนี้ แรงซื้อขายเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นจากธุรกรรมที่หนาแน่นจากแรงซื้อของผู้เล่นในประเทศ ในขณะที่แรงขายดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกนั้นเร่งตัวขึ้นเช่นกันหลังจากที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี
ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย ปอนด์เสเตอลิงค์และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 12 ธ.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49
ร้อยละ 2.59 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.64

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 53.4) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 30.5) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 32.7) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 10.8) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 8.2) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 7.9) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.6) ยูโร (ร้อยละ 1.9) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.3)และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.0) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับหยวน (ร้อยละ 7.1)และเงินเยน (ร้อยละ 14.9)

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 5 ธ.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) ลดลงสุทธิ -0.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 112.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะจากการเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์(เนื่องจาก อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้สะท้อนว่า การเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องการขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 28 พ.ย.51) ร้อยละ 0.59 จาก 35.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 35.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 5 ธ.ค.51

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือนพ.ย. 51 ลดลง 533,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 34 ปี (อีกทั้งยังมีการแก้ไขตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนก.ย. และต.ค. เป็นลดลง 403,000 ตำแหน่ง และ 320,000 ตำแหน่ง ตามลำดับอีกด้วย) โดยทั้งนี้ เป็นการลดลงในภาคอุตสาหกรรม 85,000 ตำแหน่ง ภาคก่อสร้าง 82,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ภาคบริการลดลงถึง 370,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้ตัวเลขอัตราว่างงานของสหรัฐฯเดือน พ.ย.51สูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.7 สูงสุดในรอบ 15 ปี

ญึ่ปุ่นประกาศปรับตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปี 51 จากประมาณการเดิม(Advanced Estimated) ที่หดตัวร้อยละ -0.1 ต่อปี เป็นหดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี ในขณะที่เมื่อเทียบต่อไตรมาสยังคงหดตัวร้อยละ -1.9 เป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของไต้หวันเดือนพ.ย.51 หดตัวลงมากที่สุดในรอบในรอบ 7 ปี โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -23.3 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -13.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ-8.3 และ -7.0 ต่อปี ตามลำดับ โดยในแง่มิติคู่ ค้า การส่งออกไปตลาดสำคัญหดตัวลงแทบทุกตลาด มีเพียงการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 19.2 ต่อปี ส่วนในแง่มิติสินค้า การส่งออก สินค้าหลักมีการหดตัวโดยถ้วนหน้า เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกหดตัวถึงร้อยละ -25.3 และ -25.4 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ดุลการค้าไต้หวันเดือน พ.ย. 51 ยังคงเกินดุลที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของจีนเดือนพ.ย.51 หดตัวลงเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -17.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 19.2 และร้อยละ 15.6 ต่อปี ตามลำดับ ผลจากปัจจัยฐานสูง เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว และปัญหาสินค้าส่งออกจีนปนเปื้นสารเมลามีนอย่างไรก็ดี การนำเข้าที่หดตัวเร่งตัวมากกว่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าจีนเดือน พ.ย. 51 ยังคงเกินดุลที่ 40.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลที่ 35.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฟิลิปปินส์เดือน ต.ค. 51 หดตัวร้อยละ -14.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าเนื่องจากวิกฤตการเงินโลก โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ของฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างชัดเจน โดยการส่งออกมีการหดตัวร้อยละ -15.3 -5.3 และ -20.6 ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 2.4 และ5.6 ต่อปี ตามลำดับ โดยในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอัตราส่วนร้อยละ 58.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด มีการหดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากร้อยละ -2.7 ต่อปี เป็นร้อยละ -18.9 ต่อปี

ธนาคารกลางต่างๆได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ดังนี้ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 51 ธนาคารกลางเดนมาร์กปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 75 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 4.25 อินโดนีเซียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 9.5 เหลือร้อยละ 9.25 ผลจากเงินเฟ้อที่ลดลงและความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อมาวันที่ 5 ธ.ค.51 ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 75 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 ธนาคารกลางสวีเดนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 175 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 ในวันที่ 6 ธ.ค. 51 ธนาคารกลางอินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 100 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ในวันที่ 9 ธ.ค.51 ธนาคารกลางแคนาดาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 75 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 และวันที่ 11 ธ.ค. 51 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 100 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการใช้ดอกเบี้ยนโยบายในเกาหลีใต้ ธนาคารกลางไต้หวันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง 75 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 2 และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 50 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50

Major Trading Partners’ Economies: Next Week

อัตราดอกเบี้ยนโยบายญี่ปุ่น คาดว่าจะคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.3 โดยถึงแม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะส่อเค้าเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน แต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว อาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสภาพคล่องมากนัก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ