รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 15, 2008 12:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 ธ.ค. 2551

SUMMARY:
  • พาณิชย์คาดมูลค่าส่งออกปี 52 ขยายตัวร้อยละ 5 ต่อปี
  • แรงงานเหมาค่าแรง 2 แสนคนในกลุ่มยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ เสี่ยงถูกเลิกจ้าง
  • ญี่ปุ่นเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่
HIGHLIGHT:
1. พาณิชย์คาดมูลค่าส่งออกปี 52 ขยายตัวร้อยละ 5 ต่อปี
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยหลังจากหารือกับผู้ประกอบการสินค้าในกลุ่มต่างๆ และสอบถามความเห็นจากหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ (ทูตพาณิชย์) โดยคาดว่าการส่งออกจะยังคงมีอัตราการขยายตัว ซึ่งเป้าหมายการส่งออกปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ด้วยมูลค่า 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะปรับแผนเน้นการส่งเสริมธุรกิจบริการเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ
หน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกในปี 2552 น่าจะขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดและมีโอกาสสูงที่จะหดตัว เนื่องจากปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อลดลง ประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าส่งออกที่อาจหดตัวลงเนื่องจากฐานที่สูงมากในปี 2551 โดยจากข้อมูลล่าสุดเดือนต.ค. 2551 มูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 5.2 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวด้านปริมาณที่ร้อยละ -2.6 ต่อปีและราคาส่งออกที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2551 และ 2552 ในวันที่ 24 ธ.ค. 51 นี้
2. แรงงานเหมาค่าแรง 2 แสนคนในกลุ่มยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ เสี่ยงถูกเลิกจ้างปี
  • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เผยสถานการณ์การถูกเลิกจ้างขณะนี้ว่าสถานประกอบการหลายแห่งได้พยายามปรับตัว หลังจากประสบปัญหายอดคำสั่งซื้อที่ลดลงโดยส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กในประเภทอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ และสิ่งทอ ขณะที่สหพันธ์แรงงานเผยแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์มีประมาณ 5 แสนคน แต่ที่น่าห่วงคือแรงงานเหมาค่าแรงที่มีอยู่กว่า 2 แสนคนที่ทยอยการถูกเลิกจ้าง และสถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 เพราะออเดอร์เก่าหมดลงและออเดอร์ใหม่ไม่มีเข้ามา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทำให้อาจมีการเลิกจ้างในปี 2552 ซึ่งภาครัฐควรมีแผนรองรับเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ถูกยกเลิกจ้างงาน อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงาน ณ เดือน ต.ค. 2551 ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานคิดเป็น 451.4 พันคน ทั้งนี้การจ้างงานที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ภาคเกษตรและภาคบริการยังสามารถขยายตัวได้เล็กน้อย
3. ญี่ปุ่นเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่
  • ญี่ปุ่นเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ ทำให้ยอดเงินของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมูลค่าทั้งสิ้น 23 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่จะครอบคลุมถึงโครงการให้เงินกู้ยืมแก่พนักงานชั่วคราวที่ตกงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของแรงงานญี่ปุ่นทั้งหมด มาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยธนาคารที่รัฐฯให้การสนับสนุนจะเข้าซื้อหนี้ระยะสั้นของธุรกิจ โดยมีวงเงินสูงถึง 3 ล้านล้านเยน การขยายวงเงินช่วยเหลือสถาบันการเงินจาก 2 ล้านล้านเยนเป็น 12 ล้านล้านเยน และการปรับลดอัตราภาษีที่อยู่อาศัยและภาษีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณจากสภาของญี่ปุ่น

-สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นถือเป็นประเทศหลักแห่งแรกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจมีการหดตัวในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ที่มีการหดตัวร้อยละ -3.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาภาคการคลังที่หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าร้อยละ 180 .0 ทำให้มีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังในระยะต่อไป หากวิกฤตเศรษฐกิจโลกยืดเยื้อในอนาคต

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ