ประวัติและนโยบายเศรษฐกิจของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 16, 2008 15:45 —กระทรวงการคลัง

ในวันที่ 15 ธันวาคม ศกนี้ จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาฯ ซึ่งคาดว่าผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย เรามารู้จักประวัติและนโยบายด้านเศรษฐกิจของว่าที่ผู้นำประเทศคนใหม่

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2527 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ (จึงไม่น่าแปลกที่เขาจะเป็นแฟนของทีมสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ด) เขาจบปริญญาตรีด้านปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ) และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน นอกจากนั้นยังจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในช่วงที่ว่างจากการเรียน คุณอภิสิทธิ์ ชอบฟังดนตรีแนวร็อค ตั้งแต่ป๊อปร็อก ไปจนถึงเฮฟวี่เมทัลหลังจบปริญญาตรี คุณอภิสิทธิ์ก็เดินทางกลับประเทศไทย เข้ารับราชการทหารโดยสอนหนังสือที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ที่เขาชะโงก จังหวัดนครนายก และเมื่อจบปริญญาโท คุณอภิสิทธิ์ก็ได้มาสอนหนังสืออีกครั้งที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในทางการเมือง คุณอภิสิทธิ์เคยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้นยังเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจ คุณอภิสิทธิ์ได้เคยพูดไว้ในหลายเวที และจากบทความที่เคยเขียนตลอดจนแนวนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง และต่อสาธารณชนสามารถสรุปได้ดังนี้

1. จะทำโครงการลงทุน 300,000 ล้านบาท เพื่อขยายระบบชลประทานทั่วประเทศ โดยจัดทำแผนแม่บทการกระจายน้ำของประเทศ (Water grid) เพื่อทำโครงการต่างๆ ให้เสร็จภายใน 5 ปี

2. จัดงบประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท เพื่อประกันภัยพืชผลในสินค้าหลักได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย และยางพารา

3. ตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ในชนบทเป็นจำนวนเงิน 10,000 ล้านบาท โดยแต่ละตำบลจะได้เงินประเดิมจำนวน 1-2 ล้านบาท

4. ลดต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภค โดยยกเลิกการจัดเก็บเงินส่งกองทุนน้ำมันเฉพาะน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอลล์ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ได้ส่วนลดเพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยฟรีค่าไฟฟ้า 15 หน่วยแรก และงดเก็บค่าบริการ ตลอดจนตรึงราคาก๊าซหุงต้ม

5. ลงทุน 450,000 ล้านบาท ในระบบขนส่งมวลชนและระบบรถไฟ สร้างรถไฟรางคู่ไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อการขนผู้โดยสารและสินค้าด้วยต้นทุนที่ถูกลง สร้างท่าเรือ น้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเชื่อมประเทศไทยกับอินเดีย กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา เพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้นและค่าใช้จ่ายถูกลง นอกจากนั้นจะดำเนินโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ในภาคใต้เพื่อเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างงานและรายได้แก่ประชาชน

6. จะจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการเฉพาะโดยจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ดังนี้

  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมข้าว ครบวงจร
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมน้ำตาล ครบวงจร
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมยางพารา ครบวงจร
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ครบวงจร
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ครบวงจร
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสะอาด อีสเทิร์นซีบอร์ด ครบวงจร
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลาดกระบัง
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การค้าชายแดน ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้โดยมีปัจจัยส่งเสริมการลงทุน เช่น

6.1 ปลอดภาษีนำเข้าสินค้าทุนประเภทเทคโนโลยีสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6.2 ปลอดภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ใน 5 ปี ต่อมา

6.3 จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ

6.4 จัดให้มีศูนย์บริการภาครัฐครบวงจร

6.5 ตั้งศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิต พัฒนาสินค้า เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การแปรรูป และการตลาด

6.6 จัดโครงข่ายระบบขนส่งเพื่อเชื่อมโยงแหล่งผลิตกับโรงงานและการส่งออกหรือกระจายสินค้า

7. จัดตั้งกองทุนการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมให้เอกชนลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในกิจการที่ประเทศไทยมีศักยภาพ โดยให้มีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเป็นกลไกหลักในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และให้มีคณะกรรมการบูรณาการการวิจัยและพัฒนาแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและเป็นตัวเชื่อมระหว่าง

นักธุรกิจและสถาบันวิจัยต่างๆ โดยจัดตั้งกองทุนวิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน ซึ่งรัฐบาลจะร่วมลงทุนในการวิจัยร้อยละ 50 รวมทั้งจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคเอกชนที่ต้องการเข้าร่วมการวิจัย

8. ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 25 ในเวลา 4 ปี

9. ลดภาษีเครื่องจักรนำเข้าที่ไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ และเทคโนโลยีที่นำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตเหลือร้อยละ 0 ภายใน 4 ปี

10. จัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเพิ่มการสร้างงาน เป็นแหล่งทุนหมุนเวียนช่วยเหลือการฝึกอาชีพ และช่วยเหลือด้านปัจจัยพื้นฐานทางการผลิต เช่น เม็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องอบ และเครื่องจักรกลทางการผลิต ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้

11. จัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อให้เกษตรกรเช่าที่ดินของรัฐในราคาถูก เพื่อให้ทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และสนับสนุนรายได้ให้ถึง 5,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน

12. จัดให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงในรูปสวัสดิการชุมชน

13. ปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชนให้กับคนยากจน เกษตรกรและครู เป็นต้น โดยจัดให้มี “หมอหนี้” เข้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท

14. ออกมาตรการดูแลพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและมีธุรกิจต่อเนื่องในประเทศมาก เร่งผลิตบุคลากรด้านอาชีวะตามความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งเสริมการผลิตเครื่องจักรภายในประเทศ โดยอาจร่วมทุนกับบริษัทผลิตเครื่องจักรในต่างประเทศและเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ผมคิดว่านโยบายทั้งหมดที่กล่าวมานั้น คงต้องใช้เวลาพอสมควรในการทำให้เกิดผล แต่ในระยะสั้นปัญหาปัจจุบันที่เร่งด่วน คือ การแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกในขณะนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างแรง และอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้ หากไม่เร่งออกมาตรการมาเยียวยาแก้ไขและกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของคุณอภิสิทธิ์ คือการทำแผนและออกมาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในเร็ววันนี้

โดย ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ fsa@fpo.go.th

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ