รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 17, 2008 16:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 ธ.ค. 2551

SUMMARY:
  • สศอ.คาดว่าดัชนีผลผลิตในช่วงครึ่งแรกของปี 52 จะหดตัว
  • ตลาดรถยนต์ 11 เดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 1.88
  • ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 0-0.25
HIGHLIGHT:
1. สศอ.คาดว่าดัชนีผลผลิตในช่วงครึ่งแรกของปี 52 จะหดตัว
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประเมินว่า GDP ในช่วงปี 2552 จะสามารถขยายตัวได้ที่ประมาณร้อยละ 0 — 2 ต่อปี โดย GDP ในภาคอุตสาหกรรมในช่วงปีหน้าจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2 — 3 ต่อปี โดยมองว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรกจะหดตัวที่ร้อยละ -2.5 และ -1 ต่อปี ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 52 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน 1 ล้านคน โดยมีสาเหตุมาจากการเมืองที่ส่งผลกระทบกับนโยบายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สศอ.ได้กล่าวแนะให้รัฐบาลเร่งสร้างกลไกกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การเร่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่และควรพิจารณาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายการคลังจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2552 โดยรัฐบาลควรเร่งการดำเนินการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีกรอบวงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท สำหรับ ปี 2552-2555 เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและจะช่วยการบริโภคและการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อภาคเอกชน (crowding-in effect) เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 52 ทั้งนี้ สศค.จะมีการประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2551 และ 2552 ในวันที่ 24 ธ.ค. 51 นี้
2. ตลาดรถยนต์ 11 เดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 1.88
  • ยอดจำหน่ายตลาดรถยนต์รวมทุกประเภท 11 เดือนแรกของปี 2551 จำหน่ายได้ทั้งสิ้น 556,267 คัน ลดลงร้อยละ 1.88 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยโตโยต้ามียอดจำหน่ายเป็นอันดับ 1 มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 42.5 รองลงมาคือ อีซูซุ และฮอนด้ามีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 21.9 และ 14.4 ตามลำดับ สำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์รวมทุกประเภทประจำเดือน พ.ย.มียอดรวม 46,068 คัน ลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนต.ค. แยกประเภทเป็นตลาดรถปิกอัพ 1 ตัน มียอดจำหน่ายรวม 23,403 คัน ลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. และตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล มียอดจำหน่ายรวม 18,176 คัน ซึ่งลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดจำหน่ายตลาดรถยนต์รวมทุกประเภท 11 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวลดลง มีสาเหตุหลักมาจากตลาดรถปิกอัพขนาด 1 ตันมีการชะลอตัวเป็นอย่างมาก โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2551 มียอดจำหน่ายรวม 293,627 คัน ลดลงกว่าร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลสืบเนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลที่อยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรกจึงทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกซื้อรถ โดยหันมาใช้รถยนต์เครื่องยนต์เบนซินที่ใช้เชื้อเพลิง NGV แทน ประกอบกับภาคขนส่งที่เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้ชะลอการซื้อรถยนต์ออกไป อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง 11 เดือนแรกยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 27.8
3. ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 0-0.25
  • เมื่อวันอังคารที่ 16 ธันวาคม 2551 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสำหรับการกู้ยืมระหว่างธนาคารจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 0.25 นับเป็นอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำสุดที่เคยมีมาตั้งแต่มีการประกาศใช้ Fed Fund target rate ในปี 1990 เพื่อสู้กับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอย่างรุนแรงและยังส่งสัญญาณว่าจะยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำมากในระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ ยังได้ส่งสัญญาณถึงนโยบายรอบใหม่ในการสนับสนุนด้านการกู้ยืมเงินโดยนำวิธี ballooning balance sheet ซึ่งเป็นการผ่อนคลายตัวเลขการเงิน มาแทนการใช้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของธนาคารกลางสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาวิกฤตทางการเงินที่ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) มากขึ้น ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ของสหรัฐ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 0.7 ต่อปี จากครึ่งแรกของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ