ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 18, 2008 11:32 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมของสหรัฐฯ ประจำเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้

1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 42,400 ล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.3 หลังจากขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 ใน เดือนก่อนหน้า โดยการขยายตัวในเดือนตุลาคม นับเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้และเงินเดือนเป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากนี้ เฮอร์ริเคนไอค์ที่พัดถล่มมลรัฐเท็กซัสและหลุยส์เซียน่าในเดือนกันยายนนั้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ส่วนบุคคลสหรัฐฯ ไม่มากนักในขณะที่ การจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีตามพระราชบัญญัติกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2551 (EconomicStimulus Act 2008) ที่นับเป็นปัจจัยทางบวกแก่รายได้ส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ไม่มีผลกระทบต่อตัวเลขรายได้ส่วนบุคคลสหรัฐฯโดยรวมในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 45,100 ล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.4 ในเดือนตุลาคม เปรียบเทียบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนกันยายน

3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income — Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อ ที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริงนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ในเดือนตุลาคม หลังจากคงตัวในเดือนก่อนหน้า

4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคล (Real Personal Consumption Expenditures - PCE) ประชากรสหรัฐฯ มีการใช้จ่ายลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดลงร้อยละ 0.5 ในเดือนตุลาคม เปรียบเทียบกับการใช้จ่ายในเดือนกันยายนที่ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีการปรับลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods) ประเภทรถยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นองค์ประกอบหลัก ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการบริการ (Services) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยอัตราเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า

5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.6 ในเดือนตุลาคม หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ0.1 ในเดือนกันยายน โดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมัน อยู่ที่ระดับคงที่จากเดือนก่อนหน้า

6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง ประชากรมีระดับการออมที่ร้อยละ 2.4 ในเดือนตุลาคมลดลงจากเดือนกันยายนซึ่งมีระดับการออมที่ร้อยละ 1.0 โดยปริมาณการออมจากรายได้ในปัจจุบันยังคงอยู่ที่ระดับต่ำ เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน ใช้จ่ายรายได้จาก การขายหน่วยลงทุน หรือใช้จ่ายเงินออมจากช่วงก่อนหน้า

รายละเอียดข้างต้น สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้
                        Average Growth     September     October
                        last 12 months        2008         2008
Personal Income              0.3%             0.1%         0.3%
Real DPI                     0.0%             0.0%         1.0%
Real PCE                    -0.1%            -0.4%        -0.5%
PCE Price                    0.3%             0.1%        -0.6%
Personal Saving Rate         1.2%             1.0%         2.4%
ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov)

กล่าวโดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจข้างต้น โดยเฉพาะการลดลงของมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลนั้น ได้เพิ่มแรงกดดันให้ทางการสหรัฐฯ ต้องดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยทางการสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณรวม 800,000 ล้านเหรียญสรอ. มีเป้าหมายเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสร้างความมั่นใจว่ามีวงเงินกู้เพียงพอให้กับทั้งครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งนี้ การปรับลดของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ร้อยละ 1.0 นั้น นับเป็นการปรับลดที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2544 จากเหตุวินาศกรรม 9/11 ทั้งนี้ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง นับเป็นปัจจัยบวกซึ่งช่วยผ่อนคลายแรงกดดันเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่าสองในสามของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนถึงตัวเลขอุปสงค์ในประเทศที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และจะยังคงกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปอีกระยะหนึ่ง

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ