รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 25, 2008 11:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 ธ.ค. 2551

SUMMARY:
  • การส่งออกปี 2552 อาจจะเผชิญความเสี่ยงรุนแรงกว่าที่คาด
  • นักเศรษฐศาสตร์หวั่นเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่
  • ญี่ปุ่นทุ่มงบเกินพิกัดหวังหนีถดถอย
HIGHLIGHT:
1. การส่งออกปี 2552 อาจจะเผชิญความเสี่ยงรุนแรงกว่าที่คาด
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกในเดือนธ.ค. น่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงวันแรกๆ ของการปิดท่าอากาศยาน ส่งผลให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2551 นี้ อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15.5 ต่อปี ทั้งนี้สภาวะที่การส่งออกจะขยายตัวในอัตราที่ติดลบนี้ น่าจะยังคงต่อเนื่องไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 และถ้าคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าสำหรับช่วงฤดูกาลส่งออกในรอบปีหน้าเริ่มกลับเข้ามา ก็น่าจะเป็นผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2552 อยู่ในช่วงระหว่างขยายตัวร้อยละ 0.0 ถึงหดตัวร้อยละ 5.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกในเดือนธ.ค. คาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่องจากพ.ย.ทำให้การส่งออกในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 17.0 ต่อปี ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย และราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปในปี 2552 ในขณะเดียวกันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ซึ่งได้แก่ อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก น่าจะยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการส่งออกของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2552 จะหดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี
2. นักเศรษฐศาสตร์หวั่นเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่
  • นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส โกลบอลอินไซด์ กล่าวว่าเศรษฐกิจอเมริกาได้รับผลกระทบรุนแรงอีกครั้งเมื่อกระทรวงพานิชย์สหรัฐอเมริการายงานยอดขายบ้านใหม่ในเดือนพ.ย.51 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.9 ต่อปี ด้วยจำนวน 407,000 หลัง นับเป็นระดับต่ำสุดจากเดือนน ม.ค.34 ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ราคาต่ำลงและทำให้ปริมาณบ้านในตลาดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปี 51ที่หดตัวลงร้อยละ -0.5 ต่อปี ต่ำสุดในรอบ7 ปี นับจากไตรมาส 3 ปี 44 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จาก IMF เตือนว่ารัฐบาลประเทศต่างๆควรกระตุ้นความต้องการในประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในลักษณะที่เกิดขึ้นทั่วโลกเมื่อทศวรรษ 2473
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2551 คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ปรับลดลงจากสมมติฐานครั้งก่อน(ณ ก.ย. 51) โดยคาดว่าในไตรมาส4 ปี 51 เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี ในขณะที่ปี 52 คาดว่า วิกฤตการเงินที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องจะเริ่มส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยโดยหดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี
3. ญี่ปุ่นทุ่มงบเกินพิกัดหวังหนีถดถอย
  • รัฐบาลญึ่ปุ่นทุ่มสุดตัวเพื่อดึงเศรษฐกิจของประเทศจากภาวะถดถอย ล่าสุดรัฐบาลอนุมัติงบประมาณสำหรับปีหน้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 88.55 ล้านล้านเยน (ราว 33.89 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณปีนี้ถึง 6.6% ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้รวมถึงการลดภาษีครัวเรือน เงินกู้สำหรับคนว่างงาน และงบประมาณภาครัฐสำหรับอัดฉีดสถาบันการเงินทั้งยังลดงบประมาณช่วยเหลือสำหรับต่างประเทศ โดยนายทาโร อาโสะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวระหว่างการแถลงนโยบายว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ผิดปกติ และคาดว่าสภาพการณ์ทั่วโลกในปีหน้าจะถดถอยลงอย่างรุนแรง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นถือซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11.3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม ได้เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 51 และมีแนวโน้มว่าจะหดตัวต่อเนื่องลงไปอีก ทำให้ญี่ปุ่นต้องใช้ทั้งเครื่องมือทางการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 51 ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.1 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ