รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 22-26 ธันวาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 29, 2008 15:12 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 51 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,408.63 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36.92 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้จำนวน 299 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่สำคัญจากหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ซึ่งเพิ่มขึ้นสุทธิ 36.02 พันล้านบาท โดยมีรายการที่สำคัญได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้วงเงิน 18 พันล้านบาท บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เบิกจ่ายเงินกู้ระยะยาว 4 พันล้านบาท และการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศเมื่อแปลงเป็นเงินบาท เพิ่มขึ้น 12.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ ร้อยละ 87.99 และร้อยละ 96.75 ของหนี้สาธารณะคงค้าง เป็นหนี้ในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกรวมในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน พ.ย. 51 หดตัวที่ร้อยละ-18.6 ต่อปี เทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี โดยปริมาณการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -21.7 ต่อปี ผลจากมูลค่าการส่งออกข้าวและยางพาราที่หดตัวลงถึงร้อยละ -36.2 และ -33.6 ต่อปีตามลำดับ สินค้ากลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 17.6 และร้อยละ 10.2 ของการส่งออกรวม มีอัตราการหดตัวถึงร้อยละ -20.2 และร้อยละ -12.7 ต่อปี ด้านการส่งออกสินค้ายานยนต์ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 10.5 ต่อปี ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกสินค้า เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาสินค้าส่งออกสำคัญลดลง และการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ในด้านมิติคู่ค้า การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย มีการหดตัวเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกกับไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ ยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ มีการหดตัวที่ร้อยละ -16.7 -14.5 -8.4 -36.3 และ -50.8 ต่อปีตามลำดับ

มูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เดือน พ.ย. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี โดยปริมาณนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.7 ต่อปี ผลจากการนำเข้าที่ชะลอตัวและหดตัวในเกือบทุกหมวด ด้านสินค้าวัตถุดิบ มีการชะลอตัวลงจากร้อยละ 34.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 6.3 ต่อปี แต่หากหักสินค้าทองคำออกจากการคำนวณแล้ว การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ จะหดตัวถึงร้อยละ -12.6 ต่อปี ซึ่งเป็นสัญญาณของการผลิตในประเทศที่จะหดตัวลง ในหมวดสินค้าทุนมีการขยายตัวของมูลค่าร้อยละ 10.0 ต่อปี ขยายตัวจากร้อยละ 5.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า การขยายตัวของสินค้าทุนเกิดจากการนำเข้าแท่นขุดเจาะก๊าซ แต่ถ้าหักสินค้าชนิดพิเศษออก จะขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ในหมวดอุปโภคบริโภคที่เคยขยายตัวร้อยละ 41.6 ต่อปี โดยในเดือนต.ค. 51 หดตัวเป็นร้อยละ -8.0 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่หดตัวลงและสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวที่ร้อยละ -11.3 ต่อปี ชะลอตัวลงจากร้อยละ 25.6 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ผลจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบโลก

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพ.ย.51 มีจำนวน 1.1 ล้านคน หดตัวร้อยละ -18.9 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี ตามความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในทางการเมืองโดยเฉพาะการปิดสนามบิน ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนพ.ย.51 ลดลงร้อยละ -30.8 ต่อปี ตามที่ได้คาดไว้ และจากข้อมูลล่าสุด ในเดือนธ.ค. มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งนับเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของจำนวนด่านทั้งหมด พบว่า ณ วันที่ 22 ธ.ค.51 มีจำนวนที่เดินทางเข้าแล้วประมาณ 3.5 แสนคนคน ทั้งปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน หดตัวที่ร้อยละ -2.7 ต่อปี

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 51 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -9.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในรอบปี 51 เนื่องจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกหดตัวลง เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกที่ชะลอตัวลงมากทั้ง 3 รายการ ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัวลงมาก (Global Slowdown) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ ขณะเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การปั่น การทอ ก็หดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมเช่นกัน ทั้งนี้ MPI ที่คาดว่าจะหดตัวลงมากในไตรมาส 4 (Q4) จะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ GDP หดตัวลง (ติดลบ) ใน Q4 ปี 2551

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงในเกือบทุกสกุล ยกเว้นค่าเงินยูโร ค่าเงินดอลลาร์สิงค์โปร์ ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง และค่าเงินหยวน

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยหลายสกุลอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงที่ร้อยละ 0.20 พร้อมทั้งแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะถอถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีครึ่งซึ่งส่งผลให้ค่าเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคอ่อนค่าลงจากการที่แรงขายทำกำไรและผลจาก risk appetite ของนักลงทุนที่ลดลงตามการลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ความต้องการเงินดอลลารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีตามความต้องการที่จะนำมาใช้ในการปิดงวดปีบัญชีของบริษัท และการที่ทางการสหรัฐฯได้ประกาศจะให้ความช่วยเหลือบริษัทรถยนต์ General Motors และ Chrysler เป็นมูลค่ารวมกว่า 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านโครงการ TARP ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากที่ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมากล่าวว่าทางการ ECB จะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาไว้ ซึ่งคำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปได้ส่งผลให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

ในขณะที่ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเช่นกัน หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรงพาณิชย์ของจีนออกมากล่าวว่าจะไม่ใช้ค่าเงินหยวนเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้ส่งออก

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ค่าเงินปอนด์ ค่าเงินเปโชและค่าเงินดอลลาร์ไต้หวัน ในขณะที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆของคู่ค้าโดยเฉพาะค่าเงินยูโรและค่าเงินดอลลาร์สิงค์โปร์

ค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินในสกุลคู่ค้าหลักส่วนใหญ่และมีแนวโน้มการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆท่ามกลางธุรกรรมที่เบาบางในช่วงก่อนวันหยุดคริสมาส โดยการอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทเมือเทียบกับค่าเงินสกุลของคู่ค้าส่วนใหญ่เป็นผลมาแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐของผู้นำเข้าในช่วงก่อนสิ้นปีและบริษัท ซึ่งการอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี
ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย ปอนด์เสเตอลิงค์และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 26 ธ.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49
ร้อยละ 1.56 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.74

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 46.6) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 35.9) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 30.5) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 10.2) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 8.6) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 8.4) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 3.2) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.8) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.2) ยูโร (ร้อยละ 2.6) หยวน (ร้อยละ 6.9) และเงินเยน (ร้อยละ 15.4)

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 19 ธ.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserves) เพิ่มขึ้นสุทธิ 3.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 117.80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 3.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองสุทธิเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น (Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ร้อยละ 4.1 และ 2.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในสัปดาห์นี้ น่าจะเป็นผลจากการที่ผู้ส่งออกเทขายเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้อบาทจากการที่คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 12 ธ.ค.51) ร้อยละ -1.47 จาก 34.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 19 ธ.ค.51

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ยอดจำหน่ายบ้าน (Existing home sales) ของสหรัฐเดือนพ.ย. 51 หดตัวลงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -8.6 (mom annualized) มาอยู่ที่ 4.49 ล้านหลัง ในขณะที่ราคาบ้าน (Median Home Price) อยู่ที่ 181,300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวลงร้อยละ -13.2 (mom) โดยเป็นการหดตัวติดกันเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐยังคงไม่หมดไป และคาดว่าจะปรับตัวลงต่อเนื่องไปอีก จากภาวะการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น และภาคการเงินโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์ที่ตกต่ำ

ยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศในยูโรโซนเดือนต.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -15.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.9 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวลงต่ำสุดที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวลงของยอดคำสั่งซื้อยานยนต์และชิ้นส่วนที่หดตัวถึงร้อยละ -33.3 ต่อปี ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมันและฝรั่งเศสบางรายได้เริ่มปิดโรงงานชั่วคราวในช่วงคริสมาสต์เร็วขึ้น และขอ ความช่วยเหลือจากภาครัฐท่ามกลางภาวะที่ความต้องการสินค้าตกต่ำลงมากเช่นเดียวกันกับผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ทางการฝรั่งเศสได้ออกมากล่าวว่าพร้อมที่ช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากต้องการที่จะรักษาการผลิตเอาไว้ในประเทศ

อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงเดือน พ.ย. 51 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ผลจากการที่ทางการเริ่มกลับมาเรียกเก็บค่าเช่าที่พักอาศัยของรัฐ หลังจากที่งดเว้นไปเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนส.ค.-ต.ค. 51 ตามมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ดี หากหักราคาสินค้าหมวดสาธารณูปโภคและค่าเช่าบ้านออกไป จะอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี ผลจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

ผลผลิตอุตสาหกรรมไต้หวันในเดือนพ.ย.51 หดตัวถึงร้อยละ -28.4 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -12.6 ต่อปี ผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดหลักที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยโดยการผลิตเครื่องจักรกลโลหะ การก่อสร้าง และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ มีการหดตัวถึงร้อยละ -32.0 -31.5 และ -29.9 ต่อปีตามลำดับ

มูลค่านำเข้าสินค้าของฟิลิปปินส์เดือน ต.ค. 51 หดตัวร้อยละ -11.1 ต่อปีหดตัวต่ำสุดในรอบ 61 เดือน โดยหดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของการนำเข้าทั้งหมด มีการหดตัวร้อยละ -30.0 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนไปผลิตเพื่อการส่งออก โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของฟิลิปปินส์ ในเดือนต.ค.หดตัวร้อยละ -18.9 ต่อปี เป็นผลจากอุปสงค์ในสหรัฐลดลง ด้านดุลการค้าขาดดุล 606 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากที่ขาดดุล 425 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนก่อน

ตัวเลขดุลการค้าญี่ปุ่นเดือนพ.ย. 51 ขาดดุล -223.4 พันล้านเยนเนื่องจากภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เฉลี่ยร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า) ที่ส่งผลให้การส่งออกเดือนพ.ย. อยู่ที่ 5,326.6 พันล้านเยน หดตัวถึงร้อยละ -26.7 ต่อปี (โดยหดตัวสูงกว่าการหดตัวของการนำเข้าที่ร้อยละ -14.4 ต่อปี) เนื่องจากอุปสงค์สินค้าญี่ปุ่นจากตลาดสหรัฐฯได้ลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 15 เดือน ขณะที่ตลาดส่งออกไปยังเอเชียเริ่มหดตัวลง โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดหดตัวถึงร้อยละ -24.5 ผลจากอุปสงค์ต่อสินค้าประเภทเซมิคอนดัคเตอร์กล้องดิจิตอล และอิเล็กทรอนิกส์ ชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว

ยอดขายรถยนต์ของมาเลเซียในเดือนพ.ย. 51 หดตัวร้อยละ -6.7 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -12.6 ต่อปี โดยยอดขายรถยนต์นั่งมีการหดตัวร้อยละ -9.5 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -14.7 ต่อปี ส่วนยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีการขยายตัวร้อยละ 23.6 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 10.1 ต่อปี ผลจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ทำให้อัตราการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในเดือน ม.ค.-พ.ย.51 อยู่ที่ร้อยละ 15.8 ต่อปี

ธนาคารกลางจีนและเวียดนามประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 27 bps โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงจากร้อยละ 5.58 เป็นร้อยละ 5.31 และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงจากร้อยละ 2.52 เป็นร้อยละ 2.25 และธนาคารกลางเวียดนามลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 150 bps จากร้อยละ 11.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.5

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ