รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 5, 2009 12:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 ม.ค. 2552

SUMMARY:
  • นักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องกันว่า GDP ไทยปี 52 อาจต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อปี
  • การส่งออกข้าวไทยทั้งปริมาณและราคาในปี 2552 ส่งสัญญาณชะลอตัวลง
  • การส่งออกเกาหลีใต้หดตัวต่อเนื่อง
HIGHLIGHT:
1. นักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องกันว่าGDPไทยปี 52 อาจต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อปี
  • นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนัก ต่างเห็นพ้องกันว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 52 นี้อาจจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อปี ผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จึงเห็นพ้องกันว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจหลักต้องมาจากการใช้จ่ายภาครัฐควบคู่ไปกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยมานาน มีสัญญาณการหดตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนพ.ย.51 ดังนั้นการใช้เครื่องมือทางการคลังและทางการเงิน โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จึงต้องเป็นกำลังสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกคราวนี้ อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งภายในและภายนอก ยังคงอยู่ในระดับดี จึงไม่น่าวิตกว่าเศรษฐกิจไทยจะถดถอยเหมือนเมื่อครั้งวิกฤตปี 40 ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ว่า GDP ในปี 2552 จะเติบโตที่ช่วงร้อยละ 0-2.0 ต่อปี
2. การส่งออกข้าวไทยทั้งปริมาณและราคา ในปี 2552 ส่งสัญญาณชะลอตัวลง
  • สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2552 จะชะลอตัวลงมาก ทั้งในเชิงปริมาณและราคา โดยคาดว่าจะส่งออกได้ 8-8.5 ล้านตัน น้อยกว่าปี 2551 ที่ส่งออกได้ 10 ล้านตัน สาเหตุจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ซื้อเก็บสต๊อกลดลง ประกอบกับเวียดนามและอินเดียกลับมาส่งออกได้อีก นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้เตือนผู้ส่งออกให้ระมัดระวังการปนเปื้อนของสาร “อะฟลาท็อกซิน” ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปตรวจพบปริมาณสารดังกล่าวในข้าวไทยในระดับที่เกินกว่าที่กำหนด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2552 ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าที่มีสัญญาณชะลอตัวลง จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับตัวลดลงอีกจากในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 2551 ที่ สศค. คำนวณอัตราการขยายตัวของรายได้ภาคเกษตร และอัตราการขยายตัวของรายได้ภาคเกษตรกรที่แท้จริง ที่ร้อยละ 11.7 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกข้าวที่ชะลอลงอาจจะทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระการรับจำนำข้าวที่เพิ่มขึ้นในปี 52
3. การส่งออกเกาหลีใต้หดตัวต่อเนื่อง
  • มูลค่าการส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือน ธ.ค. หดตัวที่ร้อยละ -17.4 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือน พ.ย. ที่หดตัวร้อยละ -19.0 และรุนแรงที่สุดเป็นเดือนที่สองในรอบ 6 ปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวรุนแรงกว่าที่ร้อยละ -21.5 ทำให้ดุลการค้าเกาหลีใต้ในเดือน ธ.ค. เกินดุลที่ 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในปี 52 ทางการเกาหลีใต้คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1 อันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ในขณะที่คาดว่ามูลค่าการนำเข้าจะหดตัวลงร้อยละ -4.7 เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของเกาหลีใต้รวมถึงเอเชียหดตัวต่อเนื่องเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการจากเอเชียลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกในระดับสูง เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ชะลอตัวลงมาก อย่างไรก็ตาม การที่เอเชียตะวันออกหลายประเทศยังมีงบประมาณภาครัฐที่เกินดุล หนี้สาธารณะที่ต่ำ และดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในจีน และเกาหลีใต้ ทำให้สามารถใช้นโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ