รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 6, 2009 14:47 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 ม.ค. 2552

SUMMARY:
  • เงินเฟ้อธ.ค. 51 เพิ่มร้อยละ 0.4 เฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 5.5
  • ภาคเอกชนเสนอ 4 มาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
  • ดอยช์แบงก์วิตกเศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง
HIGHLIGHT:
1. เงินเฟ้อธ.ค. 51 เพิ่มร้อยละ 0.4 เฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 5.5
  • ก.พาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนธ.ค. 51 อยู่ที่ 119.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ต่อปี จากเดือนธ.ค. 50 แต่ลดลงร้อยละ 1.6 จากเดือนพ.ย. 51 โดยเฉลี่ยทั้งปี 51 ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนธ.ค. 51 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 เป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่ส.ค. 45 โดยเหตุผลของการลดลงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก อีกทั้งผลจากราคาอาหารสดบางชนิดที่มีราคาลดลงตามฤดูกาลโดยเฉพาะราคาข้าวที่ลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 51 ขยายตัวในระดับสูงในช่วง 7 เดือนแรกของปี 51 (ม.ค. 51 — ก.ค. 51) ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ได้ปรับตัวลดลงมากในตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 52 จะขยายอยู่ที่ร้อยละ 0.0-2.0 ต่อปี จากสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวในปี 52
2. ภาคเอกชนเสนอ 4 มาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
  • สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาธนาคารไทย เสนอ 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (1) การสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองและเศรษฐกิจ (2) การเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน เช่น เพิ่มค่าลดหย่อนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็น 200,000 บาท ลดอัตราภาษีนิติบุคคลเหลือร้อยละ 20-25 ขยายเวลาการนำผลขาดทุนมาลดหย่อนภาษีเป็น 8 ปี (3) แก้ปัญหาการว่างงาน โดยกระทรวงแรงงานตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง และรัฐบาลออกมาตรการเพื่อชะลอการเลิกจ้างงาน เช่น การงดเก็บเงินประกันสังคมเป็นการชั่วคราว ลดภาษีให้กับบริษัทที่จะลดการจ้างงาน (4) ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ทั้ง 4 มาตรการที่ภาคเอกชนได้เสนอไว้นี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามของภาคเอกชนในการที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยมาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรการของหลายๆ ประเทศ เช่น การปรับลดอัตราภาษี ในประเทศฝรั่งเศส และขยายเวลา Loss-carry back ในประเทศอังกฤษ สำหรับภาครัฐของไทย ควรมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลและ อปท. และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามเป้าหมาย
3. ดอยช์แบงก์วิตกเศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง
  • ดอยช์แบงก์หวั่นเศรษฐกิจไทยปี 52 หดตัวแรงตามเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าไทยจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.5 ต่อปี หลังจากปีที่ผ่านมาคาดการณ์การเติบโตไว้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี จากนั้นปี 53 จะสามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้มาขึ้นเป็นร้อยละ 4.2 ต่อปี ด้วยแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการลงทุนภาคเอกชน ตามด้วยการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งในปีนี้การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 2.4 และ -1.0 ตามลำดับ โดยการคาดการณ์ตั้งอยู่บนสมมติฐานเป็นกลาง และสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประมาณการเศรษฐกิจไทยของ สศค. คาดว่า ในปี 51 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ผลจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้า การขยายตัวลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการท่องเที่ยว และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากการปิดสนามบิน สำหรับในปี 52 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 0.-2.0 ต่อปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกสินค้าและบริการที่จะชะลอตัวในปี 52 คาดว่าขยายตัวร้อยละ (-0.6) — 1.6 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ