รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 8, 2009 11:03 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ม.ค. 2552

SUMMARY:
  • รัฐบาลพิจารณา 1 แสนล้าน ช่วยเหลือ 9 กลุ่ม ตั้งแต่รากหญ้าจนถึงภาคธุรกิจ
  • ศูนย์วิจัยกสิกร คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนปี 52 จะหดตัวมาก ส่งผลลบต่อลงทุนรวม
  • ส่งออกสินค้าไต้หวันเดือน ธ.ค. 51 ทรุดหนัก หดตัวถึงร้อยละ -41.9 ต่อปี
HIGHLIGHT:
1. รัฐบาลพิจารณา 1 แสนล้าน ช่วยเหลือ 9 กลุ่ม ตั้งแต่รากหญ้าจนถึงภาคธุรกิจ
  • มติคณะรัฐมนตรีวานนี้ (7 ม.ค.52) มีการพิจารณาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะใช้งบประมาณกลางปี 100,000 ล้านบาท ครอบคลุม 9 กลุ่มได้แก่ 1) เกษตรกร=แทรกแซงราคาพืชผล 2) แรงงาน=ฝึกอบรมฝึกอาชีพคนที่ว่างงาน 5 แสนคน 1-1.5 เดือน 3) เด็กและผู้ปกครอง=เรียนฟรี 15 ปี 4) ผู้มีรายได้น้อย=ต่ออายุ 6 มาตรการ ไปอีก 6 เดือน เริ่ม 1 ก.พ.52 (แต่จะยกเลิกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน) 5) คนชรา=ให้เบี้ยยังชีพ 6) ธุรกิจเอกชน=สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 7) ภาคเอกชน / ครัวเรือน=เร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และ อปท.ให้เกิด Crowding-in 8) เศรษฐกิจในภาพรวม=ฟื้นความเชื่อมั่น การลงทุน การท่องเที่ยว และ 9) มนุษย์เงินเดือน=รอรายละเอียดเพื่อออกมาตรการ โดยคาดว่าเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในเดือน เม.ย.2552
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลออกแผนในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครอบคลุมถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้ง 9 กลุ่ม ซึ่งได้รับผลกระทบทางลบจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างมาก จะช่วยพยุงรายได้ภาคครัวเรือน ลดภาระค่าครองชีพ เสริมสร้างความแข็งแรงให้ภาคเอกชน และฟื้นความเชื่อมั่นในทุกภาคส่วน จาก Macro Model ให้ผลว่างบเพิ่มเติม 1 แสนล้านนี้จะช่วยให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 52 เพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 0.4 ต่อปี จากรณีฐานที่คาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 1.0 ต่อปี (ช่วงร้อยละ 0.0-2.0 ต่อปี) หมายความว่ามีโอกาสมากขึ้นที่เศรษฐกิจจะเติบโตไปในด้านที่เข้าใกล้ร้อยละ 2.0 ต่อปี
2. ศูนย์วิจัยกสิกร คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนปี 52 จะหดตัวมาก ส่งผลลบต่อลงทุนรวม
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มการลงทุนรวมปี 2552 จะหดตัวร้อยละ 1.4 - 3.4 ผลจากการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนในส่วนเครื่องมือเครื่องจักรราวร้อยละ 6.2 - 7.5 และในส่วนการก่อสร้างหดตัวร้อยละ 5.0-7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงการส่งออก การผลิต และภาคการเงิน ในขณะที่มาตรการอื่นๆ ก็อาจมีผลช่วยการลงทุนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยแนวโน้มการลงทุนในปีนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญด้านการเมือง โดยเฉพาะความมีเสถียรภาพและความสามารถในการผลักดันนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการลงทุนจะสะท้อนให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจในอนาคต โดยการประมาณการเศรษฐกิจไทยของ สศค. คาดว่า ในปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนจะชะลอตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี (ช่วงร้อยละ 2.0-4.0 ต่อปี) จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี เนื่องจากนักลงทุนยังชะลอการตัดสินใจลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังจากที่มีมาตรการต่างๆ ออกมา ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนของภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ จะเป็นปัจจัยหลักที่จะ Crowding-in ให้ภาคเอกชนเร่งการลงทุนมากขึ้น หมายความว่ามีโอกาสมากขึ้นที่การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงจะเติบโตไปในด้านที่เข้าใกล้ร้อยละ 4.0 ต่อปี
3. ส่งออกสินค้าไต้หวันเดือน ธ.ค. 51 ทรุดหนัก หดตัวถึงร้อยละ -41.9 ต่อปี
  • การส่งออกสินค้าไต้หวันในเดือนธ.ค. 51 หดตัวมากเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ -41.9 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -44.6 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าไต้หวันเดือนธ.ค.51 เกินดุลที่ 1.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้การส่งออกไต้หวันทั้งปี 2551 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.6 ต่อปี โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าการขยายตัวของการส่งออกในปี 2552 อาจชะลอตัวลงมากกว่าเดิม โดยเห็นได้จากยอดสั่งซื้อสินค้าส่งออกเดือนธ.ค.51 ที่จะมีการส่งมอบต้นปี52 หดตัวลงถึงร้อยละ -28.5 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไต้หวันเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก โดยมีสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP ถึงร้อยละ 68.4 ในปี 2550 การส่งออกที่หดตัวลงมาก ย่อมส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 มีโอกาสหดตัวมากกว่าไตรมาส 3 ที่หดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไต้หวัน สะท้อนว่าประเทศไทยซึ่งมีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สัดส่วนร้อยละ 17 ของการส่งออกทั้งหมด ย่อมหดตัวลงมากด้วย ถือเป็นเครื่องชี้ถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเร็วและรุนแรงกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ไทยส่งออกไปไต้หวันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.5 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย การหดตัวของไต้หวันจึงกระทบทางตรงต่อไทยไม่มาก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ