Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ม.ค. 2552
SUMMARY:
- กระทรวงพาณิชย์คาดปี 52 เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ -0.5 ถึง 1.2 ต่อปี
- ทั่วโลกว่างงานพุ่ง ตอกย้ำวิกฤตเศรษฐกิจ
- ดัชนี PMI ของตลาดเกิดใหม่หดตัวต่อเนื่อง
HIGHLIGHT:
1. กระทรวงพาณิชย์คาดปี 52 เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ -0.5 ถึง 1.2 ต่อปี
- ปลัดกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2552 ไว้ที่ระดับร้อยละ 0-1.2 โดยใช้ราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 50-60 ดอลล่าร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35-36 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ แต่ถ้าหากราคาน้ำมันดิบปรับลดลงมากกว่านี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปีได้ สำหรับประเด็นเรื่องเงินฝืด ไม่ควรพิจารณาปัจจัยด้านเงินเฟ้อต่ำอย่างเดียว แต่ต้องมองคู่กับปัจจัยอื่นๆด้วยเช่น สถานะการว่างงานในภาคแรงงาน, สภาพเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น ว่าทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเป็นอย่างไร นอกจากนั้นในปีนี้จะมีการเพิ่มรายการสินค้าและบริการเข้ามาคำนวณเพิ่มขึ้นจาก 374 รายการเป็น 418 รายการ เช่น Memory ของกล้องถ่ายรูป, ค่าโดยสารรถไฟฟ้าฟ้าและรถไฟใต้ดิน เพื่อให้สะท้อนอัตราเงินเฟ้อได้ชัดเจนมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 52 จะลดลงต่อเนื่องจากช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0-2.0 ต่อปี) โดยมีสมมุติฐานที่ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50-60 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าไปอยู่ที่ 34-36 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ อีกทั้ง การต่ออายุ 6 มาตรการ 6 เดือน (ยกเลิกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน) ออกไปอีก 6 เดือน จะช่วยลดเงินเฟ้อได้ ซึ่งจะช่วยประคับประคองให้การบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงไม่ชะลอตัวลงมากนักจากปีก่อน ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันดูไบลดลง 10 $/barrel เงินเฟ้อจะลดลง 0.3% แต่หากราคาน้ำมันดูไบขึ้น 10 $/barrel เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 0.3% จากกรณีฐานที่ 1.0%
2. ทั่วโลกว่างงานพุ่ง ตอกย้ำวิกฤตเศรษฐกิจ
- ADP องค์กรที่ให้บริการด้านข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การว่างงานของแรงงานนอกภาคเกษตรเดือน ธ.ค. พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 693,000 คน เพิ่มจากเดือน พ.ย. ที่อยู่ที่ 476,000 คน สะท้อนถึงภาวการณ์จ้างงานที่แย่ลงอย่างมากของบริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย ส่วนการจ้างงานภาคบริการลดลง 473,000 คน และภาคการผลิตสินค้าลดลง 220,000 คน ลดลงเป็นเดือนที่ 23 ส่วนภาคอุตสาหกรรมลดลง 120,000 คน ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 27 ในประเทศเยอรมนี จำนวนผู้ว่างงานเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 114,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 7.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 รวมจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดอยู่ที่ระดับ 3.1 ล้านคนและเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 33 เดือน
- สศค. คาดว่า ปัญหาการว่างงานในสหรัฐฯ จะยังคงมีต่อไปและเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 6.5-7.0% ของกำลังแรงงาน และมีแรงงานตกงานแล้วกว่า 2.7 ล้านคน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ และในอนาคตคาดว่าจะมีการปรับลดพนักงานในส่วนภาคการผลิตมากขึ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ จากอุปสงค์ตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ลดลง
3. ดัชนี PMI ของตลาดเกิดใหม่หดตัวต่อเนื่อง
- ดัชนีจัดซื้อจากโรงงาน (PMI) ของประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นความหวังที่จะเป็นผู้ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในวิกฤตเศรษฐกิจโลก ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน หดตัวอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือน โดยในเดือนธ.ค. 51 ดัชนี PMI ของบราซิลในเดือนธ.ค.51 อยู่ที่ระดับ 40.0 โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ดัชนี PMI ของรัสเซียอยู่ที่ระดับ 33.8 ดัชนี PMI ของอินเดียอยู่ที่ระดับ 44.4 และดัชนี PMI ของจีนอยู่ที่ระดับ 41.2 โดยดัชนี PMI ของทั่วโลกในเดือนธ.ค.51 อยู่ที่ระดับ 33.2 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการเงินโลก เริ่มแสดงสัญญาณของการหดตัวของการผลิตและกิจกรรมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก G3 (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) ที่หดตัวลง ทำให้คาดการณ์ได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้จะยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่คาดไว้ และลามไปยังเศรษฐกิจเปิดได้ทุกประเทศ ทำให้การส่งออกของไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวของประเทศบราซิล รัสเซีย และ อินเดียมากนัก หากภาคอุตสาหกรรมยังคงทรุดตัวต่อเนื่อง จะส่งผลให้การลงทุนชะลอตัว เกิดปัญหาการว่างงาน และอัตราการเติบโตชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าหากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัวลง 1.0% เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง 1.0%
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th