Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 ม.ค. 2552
SUMMARY:
- คลังเพิ่มวงเงินกู้ผ่านตราสารรัฐเป็น6แสนล้าน
- โอฬารแนะรัฐบาลเพิ่มงบกลางปีร้อยละ 10 เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ
- IMF มีความต้องการเพิ่มเงินช่วยทุนเพื่อเหลือวิกฤตการเงินอีกกว่า 150 พันล้านดอลลาร์
HIGHLIGHT:
1. คลังเพิ่มวงเงินกู้ผ่านตราสารรัฐเป็น6แสนล้าน
- สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานว่า เตรียมปรับการก่อหนี้ภาครัฐสำหรับปีงบประมาณรายจ่าย 2552 เพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มขึ้นอีก 1.2 แสนล้านบาท ทำให้ต้องมีการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเป็น 3.54 แสนล้านบาทนอกจากนี้ ยังมีแผนรีไฟแนนซ์เงินกู้วงเงิน 2 แสนล้านบาท และการออกพันธบัตรให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยในปีงบประมาณรายจ่าย 2552 กระทรวงการคลังจะเน้นการออกพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2-3 ปีเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของตั๋วเงินคลังจะปรับเพิ่มวงเงินจาก 1.96 แสนล้านบาท เป็น 2.5 แสนล้านบาท ส่วนการออกพันธบัตรออมทรัพย์จะลดจาก 6 หมื่นล้านบาท เหลือ 1 หมื่นล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1.835 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลวางแผนจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 1.2 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ในเดือนมี.ค.52 โดยหากสามารถเร่งเบิกจ่ายงบเพิ่มเติมได้ภายในปี 2552 จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากกรณีฐาน (คาดไว้ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี) ได้อีกร้อยละ 0.4 ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี ในปี 2552
2. ดร.โอฬารแนะรัฐบาลเพิ่มงบกลางปีร้อยละ 10 เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ
- ดร.โอฬาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจประเทศหลักของโลก ทั้ง อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 ตามที่ผู้นำหลายประเทศคาดการณ์ แต่จะใช้เวลามากกว่า 1 ปี ดังนั้น ภาคเอกชนต้องช่วยเหลือตัวเองเพราะมาตรการของภาครัฐช่วยได้เพียงร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 70 ภาคเอกชนต้องรับผิดชอบเอง
- ทั้งนี้ แผนการกู้วิกฤตที่ทั่วโลกใช้เยียวยาเศรษฐกิจ คือ นโยบายด้านการคลังเพิ่มการใช้จ่ายเงินและลดภาษี ถือเป็นนโยบายทางเลือกสุดท้าย ซึ่งปกติที่ใช้อยู่มีถึง 3—4 นโยบาย คือ ลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายการเงิน เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลควรเพิ่มงบกลางปีอีกร้อยละ 10 ในงบประมาณปี 52-53 โดยเป็นการเน้นการเบิกจ่ายตามความต้องการของท้องถิ่น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลมีเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณจำนวน 2.5 แสนล้านบาท หรือร้อยละ -2.5 ของ GDP ซึ่งหากรัฐบาลจะจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 จะทำให้มีเม็ดเงินขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก 1.8 แสนล้านบาท (จากวงเงินงบประมาณที่ 1.835 ล้านล้านบาท) และทำให้ยอดการขาดดุลรวมเท่ากับ 4.3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การขาดดุลงบประมาณจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายวิธีการงบประมาณ ที่กำหนดให้ การขาดดุลในแต่ละปีงบประมาณไม่เกินร้อยละ 20 ของกรอบวงเงินงบประมาณบวกกับร้อยละ 80 ของงบชำระคืนต้นเงินกู้ในแต่ละปีงบประมาณ
3. IMF มีความต้องการเพิ่มเงินช่วยทุนเพื่อเหลือวิกฤตการเงินอีกกว่า 150 พันล้านดอลลาร์
- กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุน IMF ได้เสนอว่ากองทุน IMF เพิ่มเงินกองทุนเพื่อช่วยประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกอีกกว่า 150 พันล้านดอลลาร์ จากที่คาดการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ประกอบกับการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 0.7 ญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 0.2 และ EU หดตัวร้อยละ 0.5 จึงมีแนวโน้มที่อีก 6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ คาดว่าประเทศสมาชิกจะประสบปัญหาทาง เศรษฐกิจที่รุนแรงกว่ากว่าที่คาด และทำให้ปริมาณเงินช่วยเหลือของกองทุน IMF อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ได้เสนอให้ประเทศจีน และซาอุดิอารเบีย เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการให้เงินสนับสนุนแก่กองทุน IMF
- สศค. วิเคราะห์ว่า กองทุน IMF นั้นถือเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาวิกฤตการเงิน อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างการเงินโลกควรมีการพัฒนาแหล่งเงินกู้อื่นๆ เพื่อจะเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับประเทศที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และมีผลกำไรจากการประกอบธุรกิจน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา และรวมทั้งสร้างความสมดุลให้แก่ระบบการเงินโลกในปัจจุบัน
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th