รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2009 11:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 ม.ค. 2552

SUMMARY:
  • ครม. อนุมัติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิมเติม 1.15 แสนล้านบาท
  • โรงงานปิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 คนงานตกงาน 6 หมื่น
  • จีนเตรียมทุ่มอีก 6 แสนล้านหยวน ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระตุ้นเศรษฐกิจ
HIGHLIGHT:
1. ครม. อนุมัติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิมเติม 1.15 แสนล้านบาท
  • ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ม.ค. คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการจัดทำงบประมาณกลางปี 2552 เพิ่มเติมเป็น 1.15 แสนล้านบาท ได้แก่การเพิ่มรายได้ให้ข้าราชการด้วยการช่วยเหลือค่าครองชีพ 1.9 หมื่นล้าน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 9 พันล้านบาท ขยายเวลาโครงการ 6 มาตรการ 6 เดือน 1.1 ล้านบาท การจำหน่ายสินค้าราคาถูก 1 พันล้านบาท เรียนฟรี 1.9 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือผู้ที่ถูกเลิกจ้างและผู้จบการศึกษาใหม่ 6.9 พันล้านบาท กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น โดยคาดว่าเม็ดเงินจะถึงมือของประชาชนได้ในช่วงกลางถึงปลายเดือน ม.ค. 52 พร้อมทั้งอนุมัติกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อสัปดาห์ก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวในช่วงที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกและวิกฤติการทางการเงิน ซึ่งหากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบเพิ่มเติมได้ภายในปี 2552 จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากกรณีฐาน (คาดไว้ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี) ได้อีกร้อยละ 0.9 ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยจะช่วยให้การบริโภคสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี (จากกรณีฐานที่คาดไว้ที่ 3.1 ต่อปี) และการลงทุนขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี (จากกรณีฐานที่คาดไว้ที่ 3.7 ต่อปี)
2. โรงงานปิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 คนงานตกงาน 6 หมื่น
  • กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า สถานการณ์การเปิด-ปิดโรงงานอุตสาหกรรมปี 2551 มีโรงงานแจ้งเลิกกิจการกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2,294 แห่ง มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.13 ส่งผลให้คนงานตกงาน 6.15 หมื่นราย เพิ่มร้อยละ 41.2 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลการดำเนินงานของธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหามาก ได้แก่ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์หนังสัตว์และผลิตหนังสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ จังหวัดที่ปิดโรงงานมากได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม ตรัง ปทุมธานี ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าปัญหาวิกฤตการทางการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ จนหลายประเทศเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และบางประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ส่งผลทางลบต่อสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรกในปี 2551 การจ้างงานรวมขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี ในขณะที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมกลับหดตัวลงร้อยละ -2.9 ต่อปี ดังนั้น การจัดงานนัดพบแรงงานของกรมจัดหางานและการให้คำแนะนำการปล่อยสินเชื่อแก่จากสถาบันการเงินของรัฐจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาการว่างงานได้
3. จีนเตรียมทุ่มอีก 6 แสนล้านหยวน ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เปิดเผยว่ารัฐบาลกำลังจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม มูลค่า 6แสนล้านหยวน หรือราว 88 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวที่รัฐบาลประกาศใช้ในปี 2006 ถึง 2020 โดยครอบคลุมถึงโครงการที่เกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสีย, การป้องกันโรคเอดส์, อุตสาหกรรมผลิตไมโครชิฟ, เทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย และโครงการด้านพลังงาน ทั้งนี้รายละเอียดของโครงการต่างๆยังไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน โดยบางสื่อระบุว่าอาจรวมถึงโครงการส่งมนุษย์ไปอวกาศ และโครงการผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ อีกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่เพิ่มเติมของรัฐบาลจีนในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น โดยอาศัยกลไกหลักคือการลงทุนของภาครัฐ เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศ หลังจากรัฐบาลจีนได้ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ในช่วงปลายปี 51 มูลค่ากว่า 4 ล้านล้านหยวนหรือคิดเป็นร้อยละ 13.94 ของ GDP มาแล้ว ทำให้ทาง สศค. คาดว่าเศรษฐกิจของจีนในปี 52 ยังคงจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7ต่อปี จากเดิมขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.4 ในปี 2551

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ