รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 15, 2009 11:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 ม.ค. 2552

SUMMARY:
  • กนง.ลดดอกเบี้ยลง 0.75% เหลือ 2.0% เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ
  • ยอดขายรถยนต์ในปี 2551 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี
  • กสิกรไทยหั่นเป้า GDP ปี 52 เมินรัฐอัดงบกลาง
HIGHLIGHT:
1. กนง.ลดดอกเบี้ยลง 0.75% เหลือ 2.0% เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันลง 0.75% มาอยู่ที่ 2.0% ซึ่งเป็นอัตราการปรับลดลงมากกว่าที่ตลาดมีการคาดการณ์ไว้ในระดับ 0.50% ทั้งนี้ กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 8 ไตรมาสหน้ามีโอกาสติดลบจากผลกระทบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจในระหว่างที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมีมากจากปัจจัยทั้ง ภายในและภายนอกประเทศ และแรงกระตุ้นจากภาคการคลังอาจใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินลงเหลือร้อยละ 2.0 ต่อปี เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ติดต่อกัน รวม 2 ครั้งลดลงร้อยละ 1.75 ต่อปี เนื่องจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค.51 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี แต่กลับมีความเสี่ยงเรื่องการเติบโตที่ชะลอตัวลงมาก ทั้งนี้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ครม.ได้อนุมัติการอัดฉีดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.15 แสนล้านบาทไปก่อนหน้านี้
2. ยอดขายรถยนต์ในปี 2551 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี
  • ภาพรวมตลาดรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2551 พบว่ามีปริมาณจำหน่ายได้ทั้งสิ้น 59,002 คัน หรือหดตัวลงร้อยละ -8.3 ต่อปี ส่งผลให้ทั้งปี 2551 มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 615,269 คัน หรือหดตัวที่ร้อยละ -2.5 ทั้งนี้ หากแยกรายประเภทพบว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในปี51 พบว่าขยายตัวร้อยละ 33.3 ต่อปี ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวลงที่ร้อยละ -15.8 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากจำแนกออกเป็นรถยนต์นั่ง พบว่า ในเดือน ธ.ค. 51 มีการขยายตัวของยอดขายถึงร้อยละ 98 ต่อปี สะท้อนว่ากำลังซื้อของคนระดับกลางยังดีอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปี ธ.ค. 50 ที่คนรอซื้อรถ E 20 ส่วนรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -33 ต่อปี สะท้อนว่าการลงทุนยังคงชะลอตัว ส่วนปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งปี 51 ยังขยายตัวได้ในระดับสูงเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำ ในขณะเดียวกัน ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั้งปี 51 หดตัวลง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในปี 51 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 และ 4.3 ต่อปี ตามลำดับ
3. กสิกรไทยหั่นเป้า GDP ปี 52 เมินรัฐอัดงบกลาง
  • บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 52 เหลือร้อยละ 1.5 — 2.5 ต่อปี จากที่เคยคาดในระดับร้อยละ 2.5 — 3.5 ต่อปี แม้จะคาดหมายว่าการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐน่าจะมีโอกาสขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นจากการขยายวงเงินงบประมาณใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากคาดว่า เงื่อนไขข้อจำกัดทางการคลังอาจเป็นสาเหตุให้มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถสร้างผลในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนได้ในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะมีอัตราการเติบโตร้อยละ -0.5 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 52 การชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 52 ชะลอตัวลงจากปี 51 ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้ยละ 0.0-2.0 ต่อปี) อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ 1.835 ล้านล้าน รายจ่าย อปท. 2.8 แสนล้าน และรายจ่ายรัฐวิสาหกิจ 2.1 แสนล้าน จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มาก รวมถึงรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 1.15 แสนล้าน ได้เร็ว จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.9 ต่อปี จากรณีฐาน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ