ทิศทางการดำเนินนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อการทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย - สหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 15, 2009 16:21 —กระทรวงการคลัง

1. ภาพรวม

โดยที่รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ จะเข้ามารับหน้าที่ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ประกอบกับมีวิกฤติการณ์ทางการเงินเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น คาดว่ารัฐบาลจะมุ่งให้ความสำคัญในลำดับแรกกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหภาคทั้งในภาคการผลิต การจ้างงาน และการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินให้สามารถหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจได้ตามปกติ นโยบายด้านการค้าจึงถือเป็นเรื่องรองและไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก ในการเปิดเผยทิศทางนโยบายของนายบารัก โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

จากการวางตัวผู้บริหารระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Secretary of Treasury) เป็นหลัก ซึ่งก็สอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายโอบามาที่ต้องการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก โดยภาระของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เห็นได้ชัดอยู่แล้วในขณะนี้ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยค่า (Troubled Asset Relief Program) ซึ่งสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อปลายปี 2551 อีกทั้งคาดว่าจะมีการประกาศใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมอีกเร็วๆ นี้ จากภารกิจดังกล่าว ประกอบกับกระแสต่อต้านจากประชาชนสหรัฐฯ บางส่วนเกี่ยวกับการทำข้อตกลงการเปิดการค้าเสรี จึงคาดว่างานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศและข้อตกลงด้านภาษีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีจะถูกลดความสำคัญลงไปในระดับที่เห็นชัดเจน โดยเฉพาะในระยะสั้นที่รัฐบาลต้องมุ่งแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนก่อน

2. ทิศทางการทำข้อตกลงการค้าเสรี

ในระดับทวิภาคี มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ อาจหยิบยกข้อตกลงการค้าเสรีที่ค้างการพิจารณา ได้แก่ ข้อตกลง สหรัฐฯ — โคลัมเบีย สหรัฐ — ปานามา และสหรัฐฯ — สาธารณรัฐเกาหลี ขึ้นมาทบทวน สำหรับข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ คาดว่าจะยังไม่มีความคืบหน้าต่อไปและหากมีการเจรจาต่อ สหรัฐฯ ก็จะผลักดันประเด็นเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ได้ใช้เป็นประเด็นในการหาเสียงและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้อย่างท่วมท้น

ในส่วนของการเจรจาในรอบโดฮาขององค์การการค้าโลก คาดว่าสหรัฐฯ จะลดบทบาทลงในการเจรจาด้านสินค้าเกษตรและ NAMA โดยเฉพาะในประเด็นการลดภาษี (Traiff Cut) ส่วนในด้านบริการทางการเงิน (Financial Services) คาดว่าสหรัฐฯ จะผลักดันต่อไปให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ด้วย

3. ผลกระทบต่อการทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย — สหรัฐฯ

จากการที่รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายการค้ามากนักและมีท่าทีไม่สานต่อการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาที่ยังคั่งค้างอยู่จนกว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้ จึงคาดว่าการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะยังไม่มีการหยิบยกขึ้นในระยะ 1 — 2 ปี ข้างหน้านี้ อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่บวก จะเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีนโยบายสนับสนุนการค้าเสรีหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ต่อต้าน อีกทั้งทีมงานคนสำคัญของรัฐบาล อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายทิมโมธี ไกท์เนอร์) ก็มีความเชื่อมในระบบการเปิดตลาดและการค้าเสรีอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายด้านการค้าเสรีต่อไปเมื่อสหรัฐฯ มีความพร้อม

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ