รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 12-16 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 19, 2009 10:41 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รายจ่ายรัฐบาลในเดือน ธ.ค. 51 เบิกจ่ายได้ 145.4 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 31.2 ต่อปีเนื่องจากมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณหลังจากที่ได้มีการเบิกจ่ายล่าช้าในเดือน ต.ค. 51 จาก พรบ.งบประมาณปี 52 มีผลบังคับใช้ล่าช้าสำหรับไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 52 (ต.ค. - ธ.ค. 51) รัฐบาลเบิกจ่าย 404.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี โดยเป็นส่วนของงบประมาณประจำปี 52 จำนวน 362.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.7 ของกรอบวงเงินงบประมาณ 1.835 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ตั้งไว้ร้อยละ 22.5 ของกรอบวงเงินงบประมาณ ทั้งนี้ ในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปีงบประมาณ 52 จำเป็นต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายร้อยละ 94 ของกรอบวงเงินงบประมาณ

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ธ.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -17.7 ต่อปี หดตัวลงอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี โดยเป็นเพราะปัจจัยฐานสูงของช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากมีการเร่งทำธุรกรรมการโอน และปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่อาจจะชะลอลง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ธ.ค. 51 อยู่ที่ระดับ 67.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 67.1 โดยได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลงหลังจากได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 51 ที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังคงเป็นปัจจัยลบทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ธ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 98.2 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.2 ต่อปี เป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำของช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อเพื่อรอรถยนต์ E20 ที่จะเริ่มขายต้นปี 51 ประกอบกับในช่วงปลายเดือน พ.ย. — ต้นเดือนธ.ค. 51 มีการจัดงานมหกรรมงานแสดงรถยนต์ (Motor Expo) ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เดือนธ.ค. 51 หดตัวลงต่อเนื่องที่ร้อยละ -32.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -36.7 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 จากการหดตัวของยอดจำหน่ายรถปิกอัพและรถบรรทุกขนาด 2 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -34.2 และ -46.1 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการสะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน พ.ย. 51 หดตัวที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี เป็นผลมาจากการหดตัวในผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลงต่อเนื่องตามราคาที่ลดลง

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค.51 มีจำนวน 1.1 ล้านคน หดตัวลงร้อยละ -25.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนพ.ย.ที่หดตัวร้อยละ -20.5 ต่อปี แต่ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเป็นอัตราการเดินทางเข้าที่เร่งขึ้นมากในช่วงปลายเดือนซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวหลังจากที่เหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ทั้งนี้ทำให้ ไตรมาส 4 ปี 51 หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -18.1 ต่อปี ส่งผลให้ ทั้งปี 51 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศทั้งสิ้น 14.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี เทียบกับปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 14.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี และต่ำกว่าเป้าเดิมที่การท่องเที่ยวกำหนดไว้ที่ 15.9 ล้านคน

Economic Indicators: Next Week

มูลค่าการส่งออกสินค้าเดือน ธ.ค.51 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -12.5 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -18.6 ต่อปี สาเหตุจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก อย่างไรก็ดี การปิดสนามบินเมื่อปลายเดือนพ.ย.ถึงต้นเดือนธ.ค. 51 ทำให้มีการเลื่อนการส่งออกสินค้าในช่วงปลายเดือนพ.ย.มาส่งออกในเดือนธ.ค. การส่งออกสินค้าในเดือนธ.ค.จึงหดตัวไม่มากนัก โดยคาดว่าทั้งปี 2551 การส่งออกของไทยจะขยายตัวร้อยละ 16.9 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าเดือนธ.ค. 51 คาดว่าจะหดตัวลงที่ร้อยละ -6.5 ต่อปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ผลจากราคาสินค้าเชื้อเพลิง และปริมาณนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลงตามอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง โดยดุลการค้าเดือน ธ.ค. 51 คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงแทบทุกสกุล ยกเว้นเยนและบาท

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากกระแสนักลงทุนกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจหลังจากยอดค้าปลีกของสหรัฐ เดือนธ.ค. หดตัวลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ทำให้บริษัทจดทะเบียนเสี่ยงตอ่ การขาดทุนมากขึ้น นอกจากนั้น ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมในยุโรปที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ขณะเดียวกันทิศทางเศรษฐกิจอังกฤษที่ชะลอลงมากทำให้ธนาคารกลางอังกฤษปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากยุโรปและอังกฤษและหันไปลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่ำแทนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับยูโรและปอนด์สเตอลิงค์จึงแข็งค่าขึ้น

ด้านค่าเงินเอเชียยกเว้นเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจเอเชียยังคงตกต่ำต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกจีนและฟิลิปปินส์หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลข GDP ของเกาหลีคาดการณ์ว่าจะหดตัวลงถึงประมาณร้อยละ -4 ในไตรมาส 4 ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลและถอนการลงทุนออกจากเอเชีย ค่าเงินเอเชียจึงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลารส์ หรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากการที่นักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่นเกิดความกังวล จึงรีบเข้าซื้อสกุลเยนเพื่อคืนเงินกู้ (Unwind Yen Carry Trade) ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงแข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศคู่ค้าหลักเกือบทุกสกุล แต่อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมือเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคโดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 75 basis points ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ประกอบกับการที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณกลางปีเป็นจำนวน 1.16 แสนล้านบาท ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น จึงเข้าซื้อพันธบัตรในระยะสั้นมากขึ้นส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลง ค่าเงินบาทจึงไม่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ยกเว้นเยน ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นแข็งค่าขึ้นมาก ยกเว้นเมื่อเทียบกับเยนที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย ปอนด์เสเตอลิงค์และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 16 ม.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49
ร้อยละ 3.33 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 2.42

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 57.3) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 32.2) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 36.8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 11.4) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 8.8) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 8.7) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 6.4) ยูโร (ร้อยละ 3.9) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.3)และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.1) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ หยวน (ร้อยละ 6.7) และเงินเยน (ร้อยละ 15.9)

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 12 ธ.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 2.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 114.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 0.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองสุทธิเพิ่มขึ้นน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น (Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ร้อยละ 5.0 และ 1.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้น่าจะเป็นผลจากการที่ผู้ส่งออกเทขายเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้อบาทจากการที่คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 5 ธ.ค.51) ร้อยละ -1.68 จาก 35.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 12 ธ.ค.51

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือนธ.ค. 51 ลดลง 524,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน (อีกทั้งยังมีการแก้ไขตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนต.ค. และพ.ย. เป็นลดลง 423,000 ตำแหน่ง และ 584,000 ตำแหน่ง ตามลำดับอีกด้วย) ทั้งนี้เป็นการลดลงในภาคอุตสาหกรรม 149,000 ตำแหน่ง ภาคค้าขายและขนส่ง 121,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ภาคบริการลดลงถึง 273,000 แหน่ง ส่งผลให้ตัวเลขอัตราว่างงานของสหรัฐฯเดือนธ.ค. 51 สูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.2 สูงสุดในรอบ 16 ปี โดยรวมทั้งปี 2551 การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯลดลงถึง 2.6 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 63 ปี

ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือนธ.ค. 51 หดตัวลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ร้อยละ -2.7(mom) (โดยถ้าไม่รวมสินค้ายานยนต์แล้ว จะหดตัวที่ร้อยละ-3.1(mom)) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) ที่หดตัวลงร้อยละ -2.1(mom) ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ถดถอยกว่าที่คาดไว้ได้อย่างชัดเจน โดยยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวลงถึงร้อยละ -15.9(mom) แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์พลังงานที่ลดลงอย่างมากถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูหนาว โดยทั้งปี 51 ยอดค้าปลีกสหรัฐฯหดตัวลงถึงร้อยละ -0.8 ต่อปี

ผลผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน พ.ย. 51 หดตัวลงร้อยละ -7.7 ต่อปี หดตัวลงต่อเนื่องจากเดือน ต.ค. 51 ที่หดตัวลงร้อยละ -5.7 ต่อปี ถือเป็นการหดตัวลงต่ำสุดในประวัติศาสตร์ โดยเป็นผลมาจากการหดตัวลงอย่างมากของการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทคงทน สินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบขั้นกลาง ในเกือบทุกประเทศสมาชิก ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เบื้องต้นของเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี ผลมาจากการชะลอตัวของผลผลิตในสาขาอุตสาหกรรม และการก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ10.0 และ 6.3 ต่อปีจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 และ 7.0 ต่อปี ตามลำดับสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของเวียดนามที่ในไตรมาส 4 ปี 51 ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 33.4 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 37.7 ต่อปี ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 51 ของเวียดนามขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของจีนเดือนธ.ค. 51 หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปีหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -2.2 ต่อปี ผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ-21.3 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.9 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าวัตถุดิบปรับตัวลดลง โดยรวมทั้งปี 2551 การส่งออกและนำ เข้าสินค้าของจีนขยายตัวร้อยละ 17.2 และร้อยละ 18.5 ต่อปีตามลำดับ อย่างไรก็ดี การนำเข้าที่หดตัวเร่งตัวมากกว่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าจีนเดือน พ.ย. 51 ยังคงเกินดุลที่ 39.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลที่ 40.1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าโดยรวมทั้งปี 2551 เกินดุลที่ 295.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฟิลิปปินส์เดือน พ.ย. 51 หดตัวร้อยละ-11.9 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -14.8 ต่อปี ทำให้การส่งออก 11 เดือนแรกปี 51 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 ต่อปี โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ หดตัวร้อยละ-17.0 ต่อปี จากร้อยละ -18.9 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังสหรัฐฯและญี่ปุ่น ประเทศคู่ค้าใหญ่ของฟิลิปปินส์ ซึงประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ยังคงมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง ที่ร้อยละ-18.8 และ -3.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.3 และ-5.3 ต่อปี

ตัวเลขมูลค่าค้าปลีกของสิงคโปร์ ณ ราคาปัจจุบัน ในเดือน พ.ย.51หดตัวลงร้อยละ -3.4 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนผลประกอบการระยะสั้นด้านการขายปลีกที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องเนื่องจากยอดการค้าปลีกอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านและอัญมณีที่ลดลง

ธนาคารกลางสหภาพยุโรปประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.00 เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 52 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 51 ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนมี.ค. 52

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ