ปาฐกถาของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 16, 2009 11:13 —กระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552 นาย บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัย George Mason มลรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งนับเป็นการแสดงปาฐกถาครั้งแรกของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นับตั้งแต่วันเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยนายโอบามา กล่าวถึงภาวะการณ์ปัจจุบันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ตกต่ำถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ครัวเรือนทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาจากรายได้ที่ลดลงประกอบกับอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น หากขาดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพจากภาครัฐ ทั้งในด้านการใช้จ่าย และการปรับลดอัตราภาษีนั้น สหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจจะหดตัวลงมากกว่านี้และอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤติที่รุนแรงยืดเยื้อ นอกจากนี้ นายโอบามาได้กล่าวกระตุ้นให้สภาคองเกรสผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว อีกด้วย

นายโอบามากล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้การดำเนินมาตรการของภาครัฐในการสร้างงานและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐนับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สหรัฐฯ รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงได้ทั้งนี้ นายโอบามาได้เตรียมเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า The American Recovery andReinvestment Plan มูลค่ากว่า 775,000 ล้านเหรียญสรอ. โดยร้อยละ 40 ของงบประมาณที่กล่าวหรือประมาณ 300,000 ล้านเหรียญสรอ. จะใช้ในการปรับลดอัตราภาษีโดยเฉลี่ย 1,000เหรียญสรอ. ต่อครัวเรือนอย่างไรก็ตาม จะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้งบประมาณดังกล่าวตามความรุนแรงของสถานการณ์ต่อไป

อนึ่ง นายโอบามาได้กล่าวถึงมาตรการด้านอื่น ๆ ดังนี้ (1) การสร้างงานในประเทศซึ่งนับเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (2) แผนการเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานทดแทนเป็นสองเท่า ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยปรับปรุงระบบการผลิตให้ทันสมัยขึ้น เพิ่มปริมาณการลงทุนด้านการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และปรับปรุงสมรรถนะการเผาผลาญเชื้อเพลิงของรถยนต์ให้สูงขึ้น (3) แผนการปรับปรุงระบบการจัดการด้านสุขภาพ และ (4) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในประเทศ อาทิ ปรับปรุงผิวถนน สะพาน โรงเรียน สายไฟฟ้า และระบบอินเตอร์เนตความเร็วสูง

แนวทางนโยบายโครงการ Trouble Asset Relief Program ภายใต้รัฐบาลของนายโอบามา นายทิโมธีไกธ์เนอร์ (Timothy Geithner) ว่าที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้วางแผนจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบโครงการ Trouble Asset Relief Program (TARP)

โดยตรง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงการทำงานภายใต้โครงการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากที่นักวิเคราะห์จากภาคเอกชนได้จัดทำรายงานวิพากย์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพการใช้งบประมาณภายใต้โครงการ TARP ของคณะรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จดับเบิลยู บุช ทั้งนี้ รัฐบาลของนายโอบามาจะปรับเปลี่ยนแนวทางนโยบายมามุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ซื้อบ้าน เพื่อสนับสนุนให้อัตราการยึดทรัพย์จากการผิดนัดชำระหนี้ (Foreclosure) ลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นการผ่อนคลายความตึงตัวของตลาดสินเชื่อของทั้งผู้บริโภค ธุรกิจขนาดเล็ก และเขตเทศบาล อย่างไรก็ตาม จะยังคงนโยบายการให้ช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินต่อไป แต่จะเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลด้านการจัดการผลตอบแทนแก่ผู้บริหาร (Executive Compensation) มากขึ้น อนึ่ง ได้มีการคาดการณ์ว่านายไกธ์เนอร์ จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 15 มกราคม 2552 ทั้งนี้ สำนักงานที่ปรึกษาฯ จะรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายการใช้งบประมาณคงเหลือ 350,000 ล้านเหรียญสรอ. ภายใต้โครงการ TARP ในการกู้วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ

คณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) คาดการณ์การหดตัวรุนแรงของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 ก่อนที่เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี จากผลของตลาดแรงงานที่อ่อนตัว ภาวะตลาดสินเชื่อตึงตัวประกอบกับปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภค เม็ดเงินลงทุนภาคเอกชน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงในขณะที่ความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำมาก ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดนั่นเอง

ในการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ FOMC จึงตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป้าหมายมาอยู่ในช่วงร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 25 และมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำต่อไป นอกจากนี้ คณะกรรมการ FOMC เห็นพ้องว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องใช้เครื่องมือทางการเงินทุกประเภทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน และเพื่อรักษาระดับราคาให้คงที่ นอกจากนี้ในช่วงสองถึงสามไตรมาสที่จะมาถึง คณะกรรมการ FOMC จะดำเนินนโยบายซื้อคืนตราสารหนี้ประเภท Agency Debt และตราสารหนี้หนุนโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีเป้าหมายเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้ต่ำลง เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดการอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัว

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ