รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2009 13:51 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 ม.ค. 2552

SUMMARY:
  • ครม.อนุมัติประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 7 มาตรการ
  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขอรัฐให้ช่วยเสริมสภาพคล่อง
  • ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยปี 2551 ลดลงกว่าร้อยละ 56
HIGHLIGHT:
1. ครม.อนุมัติประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 7 มาตรการ
  • ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 7 มาตรการ ได้แก่ (1) ยกเว้นภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านใหม่ที่โอนกรรมสิทธิ์ภายในปี 52 โดยสามารถนำเงินต้นลดหย่อนภาษีไม่เกิน 300,000 บาท และนำดอกเบี้ยเงินกู้หักลดหย่อนอีก 100,000 บาท (2) ภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ด้วยการขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีร้อยละ 0.5 (3) เพิ่มวงเงินรายได้ยกเว้นภาษีจาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาท/ปี (4) ช่วยเหลือการท่องเที่ยว โดยให้บริษัทห้างหุ้นส่วนต่าง ๆ สามารถนำรายได้จากการสัมมนาค่าฝึกอบรมไปคำนวณหักภาษี 2 เท่าของที่จ่ายจริง (5) ช่วยเหลือกองทุนร่วมลงทุน สำหรับนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียน เพื่อประโยชน์ด้านภาษี (6) ยกเว้นภาษีเงินได้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น (7) ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ์ และนิติกรรม กรมที่ดินที่เกิดจากการโอนกิจการบางส่วนให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทมหาชนหรือบริษัทจำกัด พร้อมทั้งขยายเวลาและปรับหลักเกณฑ์การลดรายจ่ายค่าน้ำประปา ไฟฟ้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่ามาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจไทยซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวจากลงในปี 52 นี้สามารถขยายตัวได้มากกว่ากรณีฐานที่คาดไว้ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมมาตรการการใช้จ่ายของภาครัฐแทนภาคการส่งออกที่อาจจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี 7มาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขอรัฐให้ช่วยเสริมสภาพคล่อง
  • ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ในวันที่ 21 ม.ค. 2552 (กกร.) จะเสนอมาตรการเร่งด่วนฟื้นเศรษฐกิจ 3 ข้อต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ (1) การเสริมสร้างสภาพคล่องซึ่งขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดสรรงบสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 6.67 หมื่นล้านบาท ให้กับธนาคาร นิติบุคคลธรรมดา (2) การสร้างความเชื่อมั่นด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจโดยการตั้ง กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ และ (3) การแก้ไขปัญหาว่างงาน เสนอให้ก.แรงงานจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ประสบปัญหาด้านแรงงาน แบบศูนย์วัน one stop service
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่า ณ เดือน พ.ย. 2551 มีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์รวม 1.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากเดือนก่อนหน้าแต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในอนาคต ทั้งนี้ สศค. คาดว่าหการัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจอย่างไรก็ตามก็ดี 7 มาตรการด้านภาษีที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในการแบ่งเบาภาระด้านภาษี ซึ่งน่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ SME ในระยะนี้ได้
3. ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยปี 2551 ลดลงกว่าร้อยละ 56
  • ไอเอ็นจี เผยรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนรายไตรมาสว่า ความเชื่อมั่นของการลงทุนในประเทศไทยลดลงชัดเจนถึงร้อยละ 56 ในปี 51ทั้งนี้เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อนักลงทุนไทยตลอดปีที่ผ่านมาสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไตรมาส 4/51 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 59 หรือลดลงกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/51 ที่ระดับ 84 นอกจากนั้นรายงานยังบ่งชี้ว่าร้อยละ 71 ของนักลงทุนไทยเห็นว่านโยบายของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจการลงทุนในไตรมาส 4/51
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความเชื่อมั่นของการลงทุนในประเทศไทยที่ปรับตัวลดลงเป็นผลสืบเนื่องมาจากผลกระทบเชิงลบของปัญหาวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ที่ลุกลามจนทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัวและปัญหาการเมืองในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำรวมทั้งถือครองเงินสดเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลในปี 52 จะช่วยกระตุ้นให้การลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 52 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2-4 ต่อปี ชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 51 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ