ผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินสหรัฐ โดยในวันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย ซึ่งนำไปสู่ความผันผวนในตลาดการเงิน และการขาดสภาพคล่องของธนาคารในประเทศสหรัฐ และประเทศในแถบยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบในตลาดเงิน ตลาดทุนอย่างกว้างขวาง
(1) ความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
นักลงทุนทั่วโลกเกิดความตื่นตระหนกและทำการเทขายทรัพย์สินในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนกันยายน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ในแต่ละวันหลายครั้ง ในหลายประเทศทั่วโลก
(2) การขาดแคลนสภาพคล่องในตลาดเงิน
หลังจากเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งการประกาศล้มละลายของ Lehman Brothers นั้น ทำให้ภาคการเงิน และสถาบันการเงินต่างๆขาดสภาพคล่องอย่างมาก ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างระวัง และไม่ยอมทำธุรกรรมกู้ยืมระหว่างกัน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร (Interbank Rate) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังการประกาศล้มละลายของ Lehman Brothers อัตราดอกเบี้ยข้ามวัน หรือ Overnight Rate ปรับตัวสูงขึ้นภายในวันเดียวกว่า ร้อยละ 3.3 สูงขึ้นเป็น ร้อยละ 6.43 โดยสูงกว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอื่น อาทิเช่น LIBOR 3 เดือน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ ร้อยละ 2.7 ซึ่งการกระโดดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยข้ามวัน สะท้อนถึงการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงของธนาคารพาณิชย์ และความตื่นตระหนกในตลาดการเงิน
ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางในหลายประเทศต่างเข้าร่วมมือกันในการออกนโยบายเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายร่วมกันของธนาคารกลางหลัก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และสวีเดน โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นยังได้แสดงความสนับสนุนในความร่วมมือกันของธนาคารกลาง นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯยังได้ทำการเพิ่มสภาพคล่องของเงินเหรียญสหรัฐให้กับระบบธนาคารเป็นจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการให้วงเงินกู้แก่สถาบันการเงินและธุรกิจ การเพิ่มปริมาณ Term Auction Facility (TAF) รวมทั้งการออก Forward TAF เป็นต้น
นอกจากนี้ เครื่องมือหลักที่ถูกนำมาใช้เพื่อการเพิ่มสภาพคล่องครั้งนี้ ได้แก่ การจัดวงเงินสำหรับธุรกรรม Swap (Swap lines) กับธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ซึ่งก็คือวงเงินชั่วคราวที่ธนาคารกลางสหรัฐสามารถทำการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเงินดอลลาร์สหรัฐกับธนาคารกลางในประเทศต่างๆ โดยที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศเพิ่มวงเงิน Swap หลายครั้ง เป็นจำนวนมหาศาล และไม่มีการกำหนดวงเงินในบางประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และ อังกฤษ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา
ความร่วมมือของธนาคารในการทำ Swap เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1962 โดยวัตถุประสงค์ในช่วงแรกนั้น เป็นการสร้างแหล่งเงินทุนสำหรับธนาคารกลางในการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ โดยการ Swap จะต้องทำภายใน 3 เดือน แต่สามารถจะต่ออายุได้ในกรณีที่ยังไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐไม่มีความจำเป็นต้องมีทุนสำรองตราต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อทำการแทรกแซง ในขณะที่ประเทศอื่นๆจำเป็นต้องถือสินทรัพย์เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่ธนาคารกลางสหรัฐสามารถทำการ Swap เพื่อเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องเผชิญก็คือความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ในวิกฤตการณ์ทางการเงินและธนาคารของสหรัฐฯครั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ประกาศเพิ่มวงเงิน Swap (Swap Lines) ให้กับธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมกับเปิดวงเงิน Swap ใหม่ให้กับประเทศต่างๆอีก 12 ประเทศ ซึ่งการเพิ่มวงเงิน Swap จำนวนมหาศาลในครั้งนี้ นับว่ามีวัตถุประสงค์ที่ต่างไปจากอดีต วัตถุประสงค์หลักของการทำ Swap ครั้งนี้ เป็นการเพิ่มปริมาณอุปทานของเงินเหรียญสหรัฐ เนื่องจาก ระบบการเงินการธนาคาร และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ธนาคารในประเทศต่างๆจำเป็นต้องถือครองสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐในสัดส่วนที่มากขึ้น เพื่อเป็นการลดความตื่นตระหนกของระบบการเงินการธนาคาร ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากอัตราดอกเบี้ย LIBOR ที่สูงขึ้นอย่างมาก ธนาคารกลางสหรัฐจึงได้ทำการเพิ่มปริมาณอุปทาน เงินเหรียญสหรัฐเข้าไปในระบบอย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่ Lehman Brothers ประกาศล้มละลายในวันที่ 15 กันยายน 2551 เพียง 3 วัน ธนาคารกลางสหรัฐฯก็ได้ประกาศเพิ่ม Swap lines ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2551 รวม 180 พันล้านเหรียญสหรัฐ กับธนาคารกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อังกฤษ และแคนาดา และหลังจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐได้เปิดวงเงิน Swap lines กับธนาคารกลางประเทศต่างๆเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากความจำเป็น และความต้องการเงินเหรียญสหรัฐจากการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และในช่วงต้นเดือนตุลาคม ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศให้วงเงิน Swap lines อย่างไม่มีกำหนดกับประเทศต่างๆ 4 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ นอกจากนี้ การเปิดวงเงิน Swap lines ยังได้ให้กับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศในแถบเอเชียในช่วงปลายเดือนตุลาคม อาทิเช่น บราซิล เม็กซิโก และ เกาหลี เป็นต้น
การทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Cross Currency swap) คือข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่ายที่จะนำเงินในสกุลที่แตกต่างกันมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ณ อัตราแลกเปลี่ยนอัตราหนึ่ง ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในวันทำสัญญาหรืออัตราแลกเปลี่ยนตามที่ตกลงกันระหว่างคู่สัญญาทั้งสอง หลังจากครบสัญญาตามกำหนดแล้วนั้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำเงินที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนในวันทำสัญญามาคืนให้ฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ต่างฝ่ายได้รับเงินต้นสกุลเดิม ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในวันทำสัญญา ตามที่ตกลงกัน
ธนาคารต่างๆ จึงใช้เงินที่มีอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวแลกเปลี่ยนไปเป็นเงินสกุลอื่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในช่วงเวลานั้น ตัวอย่างของการทำ Swaps เช่น ธนาคารกลางของสหภาพยุโรป อาจมีปริมาณเงินยูโรเกินกว่าที่ต้องการแต่มีเงินเหรียญสหรัฐไม่เพียงพอ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐมีเงินเหรียญสหรัฐเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ธนาคารกลางทั้งสองสามารถทำข้อตกลงแลกเปลี่ยน (Swap agreement) โดยธนาคารกลางทั้งสองตกลงที่จะแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับยูโรวันนี้ และแลกเงินยูโรกลับเป็นเงินดอลลาร์ในอนาคต
ในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงินการธนาคารของประเทศตัวเอง ธนาคารกลางจะนำเงินเหรียญสหรัฐที่ได้ออกประมูลให้กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆในประเทศของตัวเอง ซึ่งการเพิ่มปริมาณเงินเหรียญสหรัฐในระบบจะส่งผลให้อัตราการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารลดลง
หลังจากการประกาศล้มละลายของ Lehman Brothers ส่งผลให้ระบบการเงิน การธนาคารสหรัฐประสบภาวะขาดสภาพคล่องเป็นอย่างมาก สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาต่างๆ จำเป็นต้องทำการขายทรัพย์สินที่มีอยู่ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการของตัวเอง ประกอบกับกองทุนต่างๆก็ต้องการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับระบบการเงิน หลังจากการล่มสลายของ Lehman Brothers จึงทำให้เกิดแรงขายทรัพย์สินของสถาบันการเงิน และกองทุนต่างๆที่ลงทุนอยู่ในต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง จนมีการนำ circuit breaker มาใช้อยู่หลายครั้ง ในหลายตลาดทั่วโลก เมื่อสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆขายทรัพย์สินของตัวเองที่มีอยู่ในต่างประเทศเพื่อนำกลับมาเสริมสภาพคล่องในประเทศสหรัฐฯ ทำให้ประเทศต่างๆต้องเตรียมเงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐเป็นจำนวนมหาศาล สำหรับสถาบันและกองทุนจะนำเงินกลับสู่ประเทศสหรัฐ
จากความตื่นตระหนกในระบบการเงิน และการที่ประเทศต่างๆมีทรัพย์สินในรูปเงินเหรียญสหรัฐอย่างจำกัด จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารประเภทข้ามวัน (Overnight LIBOR) ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 3.10 ในวันที่ 15 กันยายน เป็นร้อยละ 6.43 ในวันที่ 16 กันยายน จนเมื่อธนาคารกลางสหรัฐประกาศเพิ่ม Swap lines ครั้งแรกมูลค่ารวม 180 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 18 กันยายน อัตราดอกเบี้ย LIBOR ได้กลับมาอยู่ที่ ร้อยละ 3.8 ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการลดความผันผวนจากวิกฤตการณ์การเงิน ของการประกาศมาตรการ Currency Swap อย่างไรก็ตาม หลังจากการใช้มาตรการ Currency Swap ครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐ กับธนาคารกลางที่สำคัญๆของโลกในช่วงแรกแล้ว ก็ยังปรากฏว่าการขายสินทรัพย์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง (Liquidation) ในประเทศต่างๆ ยังเกิดขึ้นอย่างหนักเป็นช่วงๆ ธนาคารกลางสหรัฐจึงต้องเพิ่มวงเงิน Swap ให้กับทั้งกลุ่มประเทศเดิม และกลุ่มประเทศใหม่อีกเป็นระยะๆ เพื่อรักษาสภาพคล่องของตลาดยูโรดอลลาร์ไว้ไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไป นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ย LIBOR ระยะสั้นจะผันผวนมากกว่าระยะยาว ซึ่งจะสะท้อนถึงสภาพคล่องที่เกิดจากการขายสินทรัพย์เพื่อเสริมสภาพคล่อง
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th