รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19-23 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 27, 2009 09:54 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 51 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,415.56 พันล้านบาทหรือร้อยละ 37.0 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 6.93 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันที่เพิ่มขึ้นสุทธิ 19.84 พันล้านบาท สาเหตุจากการเบิกจ่ายเงินกู้ระยะสั้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 17.27 พันล้านบาท สำหรับหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงและหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินลดลง 3.12 และ 9.78 พันล้านบาทตามลำดับ ทั้งนี้ ร้อยละ 88.16 และร้อยละ 96.86 ของหนี้สาธารณะคงค้างเป็นหนี้ในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน ธ.ค. 51 หดตัวที่ร้อยละ -14.6 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -20.5 ต่อปี (โดยปริมาณการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -16.0 ต่อปี) เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมถึงร้อยละ 17.6 10.2 และ 11.1 ตามลำดับ มีอัตราการหดตัวถึงร้อยละ -34.6 —20.7 และ -20.7 ต่อปี ตามลำดับ สาเหตุจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการปิดสนามบินสุวรรณภูมิต่อเนื่องถึงต้นเดือนธ.ค. 51 ในด้านมิติคู่ค้า การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย มีการหดตัวทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกกับไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ มีการหดตัวถึงร้อยละ -16.3 -19.3-15.1 -40.1 และ -23.0 ต่อปีตามลำดับ ทำให้ทั้งปี 51 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 15.6 ต่อปี

มูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เดือน พ.ย. 51 หดตัวที่ร้อยละ -6.5 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี(โดยปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -4.3 ต่อปี) เป็นผลจากการนำเข้าที่ชะลอตัวและหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ หดตัวลงร้อยละ -15.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี ซึ่งเป็นสัญญาณของการผลิตในประเทศที่มีแนวโน้มหดตัวลง แต่หากหักสินค้าทองคำออกจากการคำนวณแล้ว การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ จะหดตัวร้อยละ -13.2 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนมีการหดตัวของมูลค่าร้อยละ -4.9 ต่อปี หดตัวลงจากร้อยละ 10.0 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า แต่ถ้าหักสินค้าชนิดพิเศษออก การนำเข้าสินค้าทุนจะขยายตัวที่รอ้ ยละ 5.3 ต่อปี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -8.0 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.3 ต่อปี ซึ่งน่าจะเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็ว จูงใจให้มีการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยทั้งปี 51 มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 27.7 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าในเดือนธ.ค.51 เกินดุลที่ 349.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ธ.ค.51 อยู่ที่ระดับ 62.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 71.8 และเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบปี 2551 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะจากการปิดสนามบินหลักทั้ง 2 แห่งของประเทศ ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายชะลอตัวลงมากทั้งตลาดในและต่างประเทศ

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) คาดการณ์ในเดือน ธ.ค. 51 จะหดตัวร้อยละ -10.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ในรอบปี 51 เนื่องจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกหดตัวลง จากผลกระทบของการปิดสนามบินในช่วง ธ.ค. 51 และความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัวลงมาก (Global Slowdown) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ ขณะเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดภายในประเทศก็หดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมเช่นกัน

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงแทบทุกสกุล ยกเว้นเยนและบาท

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตลาดกังวลต่อปัจจัยความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากมีกระแสข่าวว่าธนาคาร Royal Bank of Scotland (RBS) ในอังกฤษอาจประกาศผลขาดทุนของปี 51 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของภาคการเงินอังกฤษ ประกอบกับผลประกอบการของธนาคาร Citigroup ในไตรมาสที่ 4 ปี 51 ที่ขาดทุนติดต่อกันต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ในขณะที่สถาบันจัดอันดับ (credit rating) S&P ได้ปรับลดอันดับพันธบัตรรัฐบาลของสเปนและโปรตุเกสลง นอกจากนั้น การที่ทางการอังกฤษเปิดเผยแผนการจัดตั้งองค์กรเพื่อซื้อสินทรัพย์ภาคเอกชนที่ประสบปัญหาการเงิน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นส่วนหนึ่งเป็นของนโยบายเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (Quantitative easing) บ่งชี้ว่านโยบายดอกเบี้ยเริ่มไร้ประสิทธิภาพ ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนกังวลในสภาวะเศรษฐกิจการเงินยุโรปและอังกฤษ จึงถอนการลงทุนและหันกลับไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่ำ(safe haven) ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ โดยเฉพาะยูโรและปอนด์สเตอลิงค์

ด้านค่าเงินสกุลเอเชียโดยเฉพาะวอนเกาหลีอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากการที่ทางการเกาหลีประกาศตัวเลขการหดตัวทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตการเงินเอเชีย ซึ่งรุนแรงกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ-3.4 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียหดตัวลงมากเช่นกันทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากเอเชียกลับไปลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากการที่นักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่นเกิดความกังวล จึงรีบเข้าซื้อสกุลเยนเพื่อคืนเงินกู้ (Unwind Yen Carry Trade)ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในสัปดาหท์ ผ่านมาเมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ แต่อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ฮ่องกง หยวน และเยน

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมือเทียบกับค่าเงินประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่เนื่องจากโดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมากจากข้อมูลภาคการเงินยุโรปและข้อมูลเศรษฐกิจเอเชียที่ปรับลดลง ทำให้นักลงทุนหันกลับไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่นักลงทุนคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง ประกอบกับการที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง จึงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่อง ค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ยกเว้นดอลลาร์ฮ่องกง หยวน และเยน ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นแข็งค่าขึ้น ยกเว้นเมื่อเทียบกับสามสกุลข้างต้นที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย ปอนด์เสเตอลิงค์และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 23 ม.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 3.09 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.58
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 58.2) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 44.8) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 32.9) ดอลลาร์ไต้หวัน(ร้อยละ 12.2) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 8.6) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 8.5) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 7.1) ยูโร (ร้อยละ 5.1) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.6) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.5) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ หยวน (ร้อยละ 6.8) และเงินเยน (ร้อยละ 16.9)

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 16 ม.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) ลดลงสุทธิ -0.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 117.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -0.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองลงลดส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลง(Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY อ่อนค่าลงในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ร้อยละ 0.42 และ -0.99 ตามลำดับ ประกอบกับคาดว่าว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) น่าจะเข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะสถานการณ์ทางการเงินโลกมีความผันผวน จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า (9 ม.ค. 51) -0.10 บาท จาก 34.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 19 ม.ค.52 หรืออ่อนค่าลงคิดเป็นร้อยละ 0.02

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลข GDP ของจีนไตรมาสที่ 4 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อปี ทำให้การขยายตัวของ GDP รวมในปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 9.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยเป็นผลหลักมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ภายใน ภาคการผลิตอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน

GDP เกาหลีใต้ไตรมาสที่ 4 ปี 51 หดตัวร้อยละ -3.4 ต่อปี โดยชะลอลงจากร้อยละ 3.8 ต่อปี ในไตรมาสที่ 3 ปี 51 (ตัวเลขปรับปรุง) และถ้าเทียบอัตราการขยายตัวรายไตรมาส GDP ไตรมาส 4 จะหดตัวที่ร้อยละ -5.6 จากไตรมาส3 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 (ตัวเลขปรับปรุง) ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยทางด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนถึงเกือบหนึ่งในสามของ GDP มีการหดตัวที่ร้อยละ -9.2 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี ทางด้านอุปสงค์ การลงทุนและการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 28.1 และร้อยละ 61.3 ของ GDP หดตัวถึงร้อยละ -14.0 และร้อยละ -11.5 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ทั้งปี 2551 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีการเติบโตที่ร้อยละ 2.5 ต่อปิ

ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Final GDP) ของสิงคโปร์ในไตรมาส 4 ของปี 51 หดตัวร้อยละ -3.7 ต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -16.9ต่อไตรมาส ซึ่งเป็นการหดตัวต่อไตรมาสติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์ทั้งปี 51 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ต่อปี ลดลงจากปี 50 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.7 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2009 GDP ของสิงคโปร์จะหดตัวร้อยละ -2 ถึง -5 ต่อปี (ปรับปรุงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าหดตัวร้อยละ -1 ถึง -2 ต่อปี)

ยอดค้าปลีกจีน เดือนธ.ค.51 ขยายตัวที่ร้อยละ 19.0 ต่อปี ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนที่แล้วที่ร้อยละ 20.8 ต่อปี โดยเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ทำให้ทั้งปี 51 ยอดค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 21.6 ต่อปีโดยการค้าปลีกในเขตเมืองในปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 22.1 ต่อปี ในขณะที่ยอดค้าปลีกในเขตชนบทในปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.7 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.51 หดตัวที่ร้อยละ -35.0 ต่อปี ด้วยมูลค่า 4,833 พันล้านเยน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -26.7 ต่อปี เนื่องจากผลของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าญี่ปุ่นลดลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวที่ร้อยละ -21.5 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนกิอนหน้าที่ร้อยละ -14.4 ต่อปี ทำ ให้ในเดือนนี้ดุลการค้าญี่ปุ่นขาดดุลถึง -320.7 พันล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้ยอดดุลการค้ารวมในปี 51 อยู่ที่เกินดุล 2,157.7 พันล้านเยน ลดลงกว่าร้อยละ -80 เมื่อเทียบกับยอดเกินดุลการค้าในปี 50 ที่ อยู่ที่ 10,795.5 พันล้านเยน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย. 51 อยู่ที่ 93.6 หดตัวร้อยละ -13.7 ต่อปี (หรือหดตัวร้อยละ -8.5 จากเดือนก่อนหน้า) ซึ่งเป็นการหดตัวที่ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการทำดัชนีขึ้นมาในปี 2003 เนื่องจากโรงงานทยอยปิดตัวลงและอุปสงค์ต่อสินค้าหมวดอุตสาหกรรมที่ลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยหมวดอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวลงมาก คือ หมวดรถยนต์ (ที่ตัดสินใจหยุด การผลิตลงจนกว่าจะขายที่ผลิตเดิมไปแล้ว) เครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์(โดยเฉพาะ บ.Sony และ Toyota ได้ประกาศ Cut-back ลง)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ของญี่ปุ่น ณ เดือนธ.ค.51 อยู่ที่ 26.2 ซึ่งต่ำสุดนับแต่เริ่มมีการสำรวจมาในปี 1982 โดยหดตัวถึงร้อยละ —31.1 ต่อปี ทั้งนี้ ความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับราคาพลังงานและอาหารได้ลดลงไป ขณะที่ความกังวลด้านวิกฤตการเงินโลกได้เข้ามาแทนที่

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของออสเตรเลียเดือน ม.ค. 52 หดตัวลงร้อยละ 2.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับตัวลดลงจากที่ระดับ 92.0 ในเดือนธ.ค. 51 มาสู่ระดับ 89.9 ในเดือนม.ค. 52 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ทางการจะออกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึงร้อยละ 3 ตั้งแต่เดือนก.ย. 51 และออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังจำนวน 10.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อเดือนธ.ค. 51 แล้วก็ตาม แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจในปี 52 ตามยอดขายและกำไรที่คาดว่าจะลดลง

ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.75 จากร้อยละ 3.25 เป็นร้อยละ 2.5 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อลดลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ