ระบบภาษีอากรที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยากเห็น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2009 11:21 —กระทรวงการคลัง

จากหนังสือ “ร้อยฝัน วันฟ้าใหม่” ของนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวถึง 100 ปณิธานการเมืองที่สำคัญของนายกรัฐมนตรี ซึ่งรวบรวมแนวความคิดจากข้อเขียน ปาฐกถา บรรยาย อภิปราย ปราศรัย และข้อคิด ตลอด 15 ปีนับตั้งแต่ก้าวสู่ถนนการเมือง เพื่อบอกถึงอุดมการณ์และเจตนาที่แน่วแน่ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการสร้างสังคมไทยในอุดมคติ ทั้ง ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

หนึ่งในร้อยปณิธานของนายกรัฐมนตรีที่จะขอนำมาเล่าในที่นี้ คือ ระบบภาษีอากรของประเทศไทย

1. ภาษีที่ง่าย ก้าวหน้า และเป็นธรรม เพิ่มรายได้ เป็นปณิธานที่นายกรัฐมนตรีอยากเห็นโดยกล่าวว่า หากฝันอยากจะสร้างระบบสวัสดิการที่ดีให้แก่คนของเราจริง ๆ เราก็ต้องพัฒนาในเรื่องการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐด้วย โดยจะต้องเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้า เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงระบบภาษีในปัจจุบันว่า การจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บภาษีทางอ้อม ทำให้คนจนแบกรับภาระในอัตราสูงกว่าคนรวย ในขณะที่ภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้ ซึ่งมีอัตราก้าวหน้าและมีความเป็นธรรมในสังคมมากกว่า ยังคงมีสัดส่วนต่ำเมื่อคิดต่อรายได้ของรัฐทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในโลกของความเป็นจริงวันนี้ คงไม่สามารถจัดเก็บภาษีทางตรงในอัตราที่สูงมาก ๆ ถึงขั้นประเทศในยุโรป เพราะอาจจะเป็นแรงผลักดันให้คนรวยจำนวนหนึ่ง หลบเลี่ยง หลบหนี หรือย้ายบัญชีหนีภาษี หลบไปอยู่ตามเกาะต่าง ๆ มากขึ้น

ไม่ช้าก็เร็ว เราคงจะต้องยุติการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อรักษาระดับรายได้ทางการคลังของรัฐ

ในปัจจุบัน เราจึงต้องจัดระบบภาษี เพื่อให้มีการเก็บและการจ่ายภาษีที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เราจำเป็นต้องขยายฐานการจัดเก็บภาษี กระจายการจัดเก็บภาษีออกไปสู่ระดับท้องถิ่น

2. ในส่วนที่เกี่ยวกับ ภาษีที่ดินและภาษีมรดก นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า เราสามารถใช้ภาษีที่ดินเป็นเครื่องมือในการจัดการที่ดิน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้มากกว่าที่เป็นอยู่

การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่ก้าวหน้ามาก ๆ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ สามารถนำเงินที่ได้ไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินหรือจัดหาที่ดินแก่คนยากคนจนแล้ว ยังเป็นแรงกระตุ้นให้มีการใช้ทรัพยากรที่ดินอันมีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยังอาจจะพิจารณาใช้มาตรการภาษีในการสร้างแรงจูงใจให้คนอยากจะใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ในทางที่สร้างสรรค์ เช่น ทำสวนสาธารณะ หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนยากคนจน

การจัดเก็บภาษีที่ดิน แม้จะกำหนดอัตราก้าวหน้ามาก ๆ บรรดาคนรวยที่ถูกเรียกเก็บก็ไม่สามารถย้ายที่ดินหนีภาษีได้เหมือนการย้ายบริษัทหรือย้ายบัญชี แต่จะนำไปสู่การปลดปล่อยที่ดินให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งจะเกิดการเพิ่มงาน เพิ่มรายได้

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีมรดก นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ผมสนับสนุนการจัดเก็บภาษีมรดก เพราะเห็นว่าเป็นภาษีที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและจะช่วยส่งสัญญาณทางสังคมที่ชัดเจนว่า ต่อไปนี้ คนเราควรจะคิดถึงสังคมให้มากกว่าเดิม

ภาษีมรดกไม่ใช่การยึดทรัพย์ ลูกหลานยังรับมรดกจากบุพการีต่อไปได้ เพียงแต่ถ้ามูลค่ามรดกสูงเกินเกณฑ์ ก็ต้องจ่ายภาษีมรดกส่วนหนึ่งเข้าแผ่นดิน

นายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่า เราอาจจะมีเกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินที่คนเราสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามแบบพอเพียงได้ ส่วนเกินก็นำมาประเมินภาษีมรดก และเชื่อว่า ภาษีมรดกจะมีผลในทางที่ดีต่อแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมในสังคมอย่างแน่นอน

3. ภาษีเหล้า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการดูแลการบริโภคสุราว่า เมื่อไม่มีการโฆษณา ก็ควรขึ้นภาษีเหล้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลดราคาเพื่อจูงใจให้มีการดื่มมากขึ้น โดยปรับโครงสร้างภาษีเหล้า ให้เก็บตามดีกรีของแอลกอฮอล์

4. เรื่องสุดท้ายเป็นปณิธานด้านการปฏิรูปการคลังท้องถิ่น ซึ่งเห็นว่า จะต้องมีการพิจารณาโครงสร้างภาษีระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ชัดเจน รวมถึงระบบการแบ่งภาษีระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นสัดส่วนเท่าใด ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงและความเหมาะสม

ท้องถิ่นควรเพิ่มฐานภาษีได้อีก สามารถจัดเก็บภาษีชนิดต่าง ๆ ด้วยตนเองได้มากขึ้น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีทรัพย์สิน และภาษีสิ่งแวดล้อม

ในประการสำคัญ ท้องถิ่นควรจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยการจัดทำระบบแผนที่ภาษีเพื่อสำรวจฐานทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง

จากปณิธานเกี่ยวกับระบบภาษีอากรของนายกรัฐมนตรี พอสรุปได้ว่า ระบบภาษีอากรของไทยควรเป็นระบบที่มีความง่าย ก้าวหน้า และเป็นธรรม ควรจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก และการปฏิรูปการคลังท้องถิ่นด้วยการเพิ่มฐานภาษี เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีทรัพย์สิน และภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และควรเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีด้วยการจัดทำระบบแผนที่ภาษี

ที่มา : โดย นายชนะชัย ประยูรสิน เศรษฐกร ระดับชำนาญการพิเศษ

รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายภาษี

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ