รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 30, 2009 11:06 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 ม.ค. 2552

SUMMARY:

1. หลายสำนักคาด ปี2552 ท่องเที่ยวเอเชียซบเซา

2. ชลบุรีเลิกจ้าง 2 หมื่นคน

3. เศรษฐกิจจีนชะลอทำให้ออร์เดอร์นำเข้าลดส่งผลต่อประเทศคู่ค้า

HIGHLIGHT:
1. หลายสำนักคาด ปี2552 ท่องเที่ยวเอเชียซบเซา
  • ลอเรนซ์ ไล เจ้าของแกลเลอรี่ภาพถ่ายในฮ่องกง ให้สัมภาษณ์แก่ รอยเตอร์ส ว่า การดำเนินธุรกิจมีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง และคาดว่ายอดจะลดลงอย่างน้อย 30% ทำให้จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือสึนามิเศรษฐกิจ ทั้งนี้ยังกล่าวอีกว่า ตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอเชียซึ่งเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมและสภาพภูมิศาสตร์หลากหลาย คือหนึ่งในภูมิภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เช่นเดียวกับตะวันออกกลาง แต่นับตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2551 ทำให้ตลาดท่องเที่ยว เช่น ฮ่องกง ไทย และอินเดียได้รับผลกระทบอย่างหนักและหดตัวแรง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2552 ทั่วโลกจะประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวลง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวในหลายๆประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียซึ่งเป็นเป้าหมายการเดินทางของกลุ่มยุโรปและอเมริกาซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อวันในการท่องเที่ยวสูงหันความสนใจในการเดินทางระยะใกล้หรือในประเทศมากขึ้น โดยไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ชัดเจนโดยเน้นการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ดุลบริการของแต่ละประเทศอาจขาดดุลเนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวหายไป เมื่อรวมกับดุลการค้าที่ขาดดุล จะยิ่งทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นได้ในอนาคต
2. ชลบุรีเลิกจ้าง 2 หมื่นคน
  • จังหวัดชลบุรีเผยตัวเลขคนเสี่ยงตกงานอีกกว่า 2.1 หมื่นคน โดยเฉพาะนิคมฯอมตะนคร 9.9 พันคน นิคมฯแหลมฉบัง 4.5 พันคน เครือสหพัฒน์ 2.3 พันคน ฯลฯ จากประเภทกิจการที่เสี่ยงเลิกจ้าง คือ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 1 หมื่นคน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า 5.5 พันคน กลุ่มเหล็กและอลูมิเนียม 1.3 พันคน สิ่งทอ 1.4 พันคน และอื่นๆ 851 คน นอกจากนี้ บ.โตโยต้าเตรียมเปิดโครงการสมัครใจลาอกกรอบ 2 อีก 500 คน จากรอบแรก 268 คน เนื่องจากยอดออเดอร์หายไปกว่าร้อยละ 50 โดยโตโยต้าคาดการณ์ตลาดรวมรถยนต์ในปี 52 จะลดลงร้อยละ 15 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างมากในไตรมาสที่ 4 ปี 51 ต่อเนื่องถึงปี 52 ส่งผลให้การเลิกจ้างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าอัตราการว่างงานปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 3.8-4.2 ของกำลังแรงงาน ทั้งนี้ จาก Macro Model พบว่า หากกระตุ้น GDP ได้ร้อยละ +0.5 จะส่งผลให้มียอดการจ้างงานงานเพิ่มได้อีก 1.8 แสนคน บวกกับผลจากการที่รัฐบาลตั้งงบรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลจากเลิกจ้าง และมาตรการภาษีที่เอื้อให้ SMEs ช่วยรักษาระดับการจ้างงานไว้บ้าง จะช่วยให้บรรเทาปัญหาการว่างงานได้ระดับหนึ่ง
3. เศรษฐกิจจีนชะลอทำให้ออร์เดอร์นำเข้าลดส่งผลต่อประเทศคู่ค้า
  • การขยายตัว GDP ของจีน ในปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 9 ต่อปี ชะลอลงอย่างมากจากร้อยละ 13 ต่อปี ในปี 2550 โดยในไตรมาสสุดท้าย เศรษฐดิจจีนขยายตัวเพียงร้อยละ 6.8 ต่อปี เท่านั้น จากร้อยละ 9.0 ต่อปีในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากวิกฤติการเงินโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้นำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและกระตุ้นอุปสงค์ในภาคครัวเรือน เนื่องจาก ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
  • ทั้งนี้ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจส่งผลเสียต่อประเทศคู่ค้าเนื่องจากภาคการส่งออกของหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชีย ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าประเภทอะไหล่ ชิ้นส่วนประกอบ และเครื่องจักรกล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวน้อยกว่าร้อยละ 8.0 ต่อปีในปี 2552นี้ จะทำให้มีการสร้างงานไม่พอกับจำนวนแรงงานใหม่ที่เข้าตลาด ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะวิกฤตตามเศรษฐกิจประเทศกลุ่ม G3 (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น)ได้ ประเทศไทยย่อมได้รับผลในแง่ของการส่งออก ทั้งทางตรง คือการส่งออกไปยังจีน ซึ่งมีเป็นแหล่งส่งออกอันดับ 4 มีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 9.1 ในปี 2551 และผลทางอ้อม คือการส่งออกไปยังประเทศที่มีจีนเป็นประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยสศค.คาดว่า ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย จะหดตัวที่ประมาณร้อยละ -2.7 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือนธ.ค. 51)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ