รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 3, 2009 10:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ก.พ. 2552

SUMMARY:

1. ก.พาณิชย์เผย อัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 9 ปี 4 เดือน

2. สคร. เผยฐานะการเงินรัฐวิสาหกิจแกร่ง

3. ญี่ปุ่นเสนอเงินช่วยเหลือวงเงิน 17 พันล้านดอลลาร์ให้แก่กลุ่มประเทศเอเชีย

HIGHLIGHT:
1. ก.พาณิชย์เผย อัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 9 ปี 4 เดือน
  • ก.พาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนม.ค. 52 (ปรับฐาน 2550) อยู่ที่ระดับ 102.1 หดตัวลงร้อยละ -0.4 ต่อปี จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ระดับ102.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ต่อปี แต่ลดลงร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลง ขณะที่อาหารสดออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ และค่าไฟฟ้า ปรับลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน ม.ค. 52 หดตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี 4 เดือน นับจาก ต.ค. 42 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค.ประมาณการ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 52 จะขยายอยู่ที่ร้อยละ 0.0-2.0 ต่อปี จากสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 50.0 — 60.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
2. สคร. เผยฐานะการเงินรัฐวิสาหกิจแกร่ง
  • ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมยังเข้มแข็งอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ สำหรับฐานะการเงินของรัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่ง ณ วันที่ 30 ก.ย. 51 มีสินทรัพย์รวมประมาณ 6.86 ล้านล้านบาท มีหนี้สินรวมประมาณ 5.16 ล้านล้านบาท และมีทุนรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท โดยที่รัฐวิสาหกิจในภาพรวมยังเติบโตต่อเนื่องและยังคงมีความมั่นคงทางการเงินในระดับสูง โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สาเหตุมาจากมาตรการของกระทรวงการคลังที่ให้รัฐวิสาหกิจมีวินัยในการก่อหนี้มากขึ้น สำหรับแนวโน้มในปี 52 รัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการเงินโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 52 ภาครัฐต้องใช้นโยบายรายจ่ายภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ สศค. คาดว่ารัฐวิสาหกิจมีเป้าหมายเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 52 จำนวน 238.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86.0 ของกรอบวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจเบื้องต้นจำนวน 276.0 พันล้านบาท ซึ่งการใช้จ่ายของรัฐบาลจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 52 ได้
3. ญี่ปุ่นเสนอเงินช่วยเหลือวงเงิน 17 พันล้านดอลลาร์ให้แก่กลุ่มประเทศเอเชีย
  • CNN รายงานว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เสนอเงินช่วยเหลือ 17 พันล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 3 ปีแก่กลุ่มประเทศเอเชียที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตการเงินโลก ในที่ประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก ณ กรุงดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งแผนดังกล่าวได้มุ่งเน้นรายจ่ายลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและส่งเสริมกิจการทางการค้าระหว่างประเทศโดยเชื่อว่าการพยายามสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้การสร้างสมดุลย์ของระดับอุปสงค์ในเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาการลดการพึ่งพาส่งออกของประเทศต่างๆ และการดำเนินมาตรการป้องกันภาวะโลกร้อนถือมีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเงินโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่าจากการที่ IMF ปรับลดการคาดการณ์ GDP โลกลงเหลือร้อยละ 0.5 ในปี 52 จากวิกฤตการเงินโลกในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการลดลงในอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการปิดกิจการและการเลิกจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆได้ออกมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการประสานนโยบายในระดับภูมิภาค (Policy Coordination) เพื่อให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสอดคล้องกัน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ