รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 3, 2009 11:03 —กระทรวงการคลัง

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 26-30 ม.ค.52

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนธ.ค.51 เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากดุลการค้าเกินดุลที่ 0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขณะที่ดุลบริการขาดดุล -0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการหดตัวลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ร้อยละ -25.5 ต่อปี จากสถานการณ์ความไม่เชื่อมั่นทางการเมือง ส่งผลทำให้ทั้งปี 51 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล -0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากที่เกินดุลในปีก่อนหน้าที่ 14.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวลงตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง

ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศเดือนธ.ค. 51 หดตัวร้อยละ -2.1 ต่อปี และร้อยละ -39.2 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาส 4 ของปี 52 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กหดตัวร้อยละ -13.9 และ -46.7 ต่อปี ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ ที่หดตัวร้อยละ -16.5 และ -20.3 ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กที่หดตัวต่อเนื่องมาจากการลงทุนภายในประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนรวมถึงการสั่งซื้อปูนซีเมนต์และเหล็กออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เน้นการก่อสร้าง เช่น ถนนไร่ฝุ่น รวมทั้งนโยบายการก่อสร้างสาธารณูปโภคใหม่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่ — บางซื่อ ระยะทางรวม 23 กิโลเมตร ในช่วงก่อสร้างสัญญาแรกช่วงบางซื่อ-เตาปูน-สะพานพระนั่งเกล้าที่ลงนามในสัญญาก่อสร้างช่วงเดือนเม.ย. 52 อาจส่งผลให้ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค. 51 หดตัวร้อยละ -19.7 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ในรอบปี 51 ส่งผลให้ไตรมาสสุดท้ายของปี 51 หดตัวถึงร้อยละ -9.7 เนื่องจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกหดตัวลง เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศที่หดตัวลงมาก (Global Recession) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ ขณะเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การปั่น การทอ ก็หดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมเช่นกัน ทั้งนี้ MPI ที่หดตัวลงมากในไตรมาส 4 ดังกล่าวจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ GDP หดตัวลงมากในไตรมาส 4 ปี 51

อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนสูงถึง 5.4 แสนคน ใกลัเคียงกับเดือน พ.ย. ที่ว่างงาน 5.5 แสนคน ส่งผลให้ไตรมาส 4 มีการว่างงานเฉลี่ย 5.1 แสนคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ว่างงานเพียง 4.3 แสนคน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้จำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดแยกเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.5 แสนคน และผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 3.9 แสนคน ซึ่งในกลุ่มนี้มาจากภาคบริการมากที่สุดคิดเป็นจำนวน 1.6 แสนคน ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวลงจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองจนต้องมีการปิดสนามบิน รองลงมาคือภาคการผลิต 1.4 แสนคน และภาคเกษตรกรรม 9 หมื่นคน

สินเชื่อให้ภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินปรับตัวลดลงในขณะที่เงินฝากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค. 2551 สถาบันรับฝากเงิน (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน) มีสินเชื่อในเดือน ธ.ค. 2551 ขยายตัวร้อยละ 9.3 ลดลงจากในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 10.2 โดยสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 8,565.2 พันล้านบาท สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 8,523.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินในเดือน ธ.ค. 2551 เร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.4 จากเดิมขยายตัวร้อยละ 4.5 ในเดือนก่อนหน้า แต่หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 8.9 โดยในเดือน ธ.ค. 2551 มีเงินฝากจำนวน 9,194.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 9,040.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แนวโน้มเงินฝากที่สูงขึ้นเป็นจากการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากแหล่งอื่นที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลับเข้ามาฝากในระบบ รวมถึงเงินลงทุนของคนไทยในหลักทรัพย์ต่างประเทศบางส่วนที่ครบกำหนด

Economic Indicators: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 51 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า และคาดว่าจะหดตัวติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2542 โดยสาเหตุหลักมาจากฐานที่สูงในช่วงปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง โดยน้ำมันดีเซลลดลงอีกกว่าร้อยละ 5 แต่อย่างไรก็ดีในเดือนนี้มีช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งจะทำให้ราคาของอาหารทั้งเนื้อสัตว์, ผัก, และผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ไม่ได้ติดลบมากนัก

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวไร้ทิศทาง โดยค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ ริงกิตมาเลเซีย และวอน
เกาหลีแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เยน ยูโร รูเปียห์อินโดนิเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าลง

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยบางสกุลแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ผ่านแผนกระตุ้น เศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ร้อยละ 0-0.25 พร้อมทั้งประกาศว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวมากขึ้นเพื่อดึงให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดต่ำลง ทำให้ตลาดเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐมากขึ้น และนำเงินออกจากสกุลดอลลาร์สหรัฐและเยนที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่ำ (safe haven) มาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เห็นได้จากดัชนีหุ้น Dow Jones และ FTSE-100 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์และวอนเกาหลีแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากผลประกอบการในปี 2551 ของธนาคาร Barclays ของอังกฤษ ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ขณะที่ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของเกาหลีปรับตัวดีขึ้นในเดือน ธ.ค. เนื่องจากประชาชนเริ่มเชื่อมั่นในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้มีแรงซื้อค่าเงินวอนของเกาหลีเพื่อเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินของคู่ค้าของไทยบางสกุลอ่อนค่าลงมาเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะค่าเงินสกุลหลัก เช่น เยน ยูโร และดอลลาร์สิงคโปร์เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของเศรษฐกิจดังกล่าวตกต่ำต่อเนื่อง เช่น มูลค่าการส่งออกสินค้าและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ตัวเลขการขยายตัวของ GDP สิงคโปร์ในไตรมาส 4 ปี 51 และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยุโรป ทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนออกจากสกุลดังกล่าวและไปลงทุนยังตลาดอื่น ๆ ทำให้เงินสกุลดังกล่าวอ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ เยน ยูโร รูเปียห์อินโดนิ
เซีย และดอลลาร์สิงคโปร์

เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าทางการอาจมีนโยบายผลักดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ในขณะที่ค่าเงินสกุลอื่น ๆ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังจากทางการสหรัฐผลักดันนโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลาย ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนเริ่มดีขึ้นและหันไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่นๆ มากขึ้น ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าวจึงอ่อนค่าลง อนึ่ง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่น ๆ เช่น เยน และยูโร เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าวตกต่ำลง จึงทำให้ค่าเงินของประเทศดังกล่าวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี
ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย ปอนด์เสเตอลิงค์และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 23 ม.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 51
ร้อยละ 1.82 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.81

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 23.3)วอนเกาหลี (ร้อยละ 20.4) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 12.2) ริงกิตมาเลเซีย(ร้อยละ 3.4) ยูโร (ร้อยละ 8.5) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.8) เปโซฟิลิปปินส์(ร้อยละ 1.8) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.7) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 4.7) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 5.0) หยวน (ร้อยละ 6.2) และ(ร้อยละ -23.6)

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 23 ม.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) ลดลงสุทธิ -0.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 116.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -0.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองลงลดส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลง(Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU ซึ่งคาดว่ามีสัดส่วนในการถือครองประมาณร้อยละ 40 อ่อนค่าลงในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ร้อยละ 2.36 ขณะที่ค่าเงิน JPY แข็งค่าขึ้นประกอบกับคาดว่าว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะสถานการณ์ทางการเงินโลกมีความผันผวน จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า (16 ม.ค. 51) -0.06 บาท จาก 34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 23 ม.ค.52 หรือ อ่อนค่าลงคิดเป็นร้อยละ 0.17

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ยอดจำหน่ายบ้าน (Existing home sales) ของสหรัฐเดือนธ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 (mom annualized) ปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.6 (mom annualized) มาอยู่ที่ 4.74 ล้านหลัง ในขณะที่ราคาบ้าน (Median Home Price) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 175,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวลงร้อยละ -15.3 ต่อปีโดยเป็นการหดตัวติดกันเป็นเดือนที่ 6 สะท้อนให้เห็นว่า ยอดจำหน้ายบ้านที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาที่ตกลงมากอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเป็นการปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนม.ค.51อยู่ที่ระดับ 37.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 38.6 (ตัวเลขปรับปรุง) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ลดลง ผลจากความกังวลจากภาวะว่างงานและจากความมั่งคั่งที่ลดลง ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นในรูปการใช้จ่ายที่ลดลงตาม

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกาหลีใต้ เดือนม.ค.51อยู่ที่ระดับ 84 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนธ.ค.51 ที่ระดับ 81 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจในเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศออกมาอย่างมากในช่วงปลายปี 51 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 52

ดุลบัญชีเดินสะพัดของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน พ.ย. 51 ขาดดุล-13.9 พันล้านยูโร เนื่องจากดุลการค้าขาดดุล -5.2 พันล้านยูโร ตามมูลค่าการส่งออกที่หดตัวลงจากความต้องการสินค้าส่งออกของยูโรโซนที่ลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่ดุลบริการเกินดุล 2.0 พันล้านยูโร ทำให้ทั้งปี 2551 ดุลบัญชีเดินสะพัดของกลุ่มประเทศยูโรโซนขาดดุล -61.0 พันล้านยูโร

GDP ฟิลิปปินส์ไตรมาสที่ 4 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 5.0 ต่อปี ในไตรมาสที่ 3 (ตัวเลขปรับปรุง) ซึ่งมากกว่าคาดการณ์ผลจากการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ ที่มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 84.0 ของ GDP มีการขยายตัวถึงร้อยละ 4.5 และ 4.7 ต่อปี ตามลำดับ จึงทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี ในขณะที่ด้านการลงทุน การส่งออก และการนำเข้าสินค้า หดตัวที่ -9.0 -7.5 และ-1.2 ต่อปี ตามลำดับ จากที่เคยขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 4.1 และ 2.9 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ส่งผลกระทบไม่มากนักเพราะมีสัดส่วนต่อ GDP น้อย ทั้งนี้ GDP ของฟิลิปปินส์ทั้งปี 2551 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ชะลอลงมากจากร้อยละ 7.2 ในปี 2550

ผลผลิตอุตสาหกรรมของไต้หวัน เดือนธ.ค.51 หดตัวถึงร้อยละ -32.3 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -28.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ เป็นการหดตัวในทุกหมวดอุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกหลักรวมอยู่ด้วย หดตัวถึงร้อยละ -33.4 ต่อปี ในขณะที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่หดตัวถึงร้อยละ -20.1 ต่อปี และอุตสาหกรรมก่อสร้างหดตัวร้อยละ -16.3 ต่อปี เป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมไต้หวันกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

ตัวเลขมูลค่าขายปลีกญี่ปุ่นเดือนธ.ค.51 หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปีซึ่งเป็นการหดตัวที่มากสุดในรอบ 35 เดือน สะท้อนยอดขายที่ลดลง ผลจากภาคครัวเรือนระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้ว่าห้างร้านจะจัดแคมเปญลดราคาเนื่องในเทศกาลวันหยุดให้เร็วขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้ ราคาขายส่ง หดตัวกว่าร้อยละ -13.9 ต่อปี ในเดือนนี้ ซึ่งเป็นอัตราลดที่มากที่สุดนับจากปี 2523 เป็นต้นมา สะท้อนว่าภาคการบริโภคซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของ GDP จะหดตัวลงมาก และอาจส่งผลให้ GDP ในไตรมาส4 หดตัวลงมากตาม

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นเดือนธ.ค.51 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปีลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ ต.ค. 50 ผลจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและอุปสงค์ภายในที่ลดลงที่สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำสุดในเดือนนี้ เนื่องจากปัจจัยความกังวลเรื่องวิกฤตการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา

ธนาคารกลางเวียดนามประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 1.50 จากร้อยละ 8.5 เป็นร้อยละ 7.0 ถือเป็นการปรับติดต่อกันเป็นครั้งที่6 นับตั้งแต่เดือนต.ค.51 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประกอบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อลดลง ในขณะที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 5.50 เหลือ 5.00 เป็นการลดลง 2 ครั้งติดต่อกัน ผลจากความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลง และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ