รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 11, 2009 11:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 ก.พ. 2552

SUMMARY:
  • คาดนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือถูกเลิกจ้าง 15,000 คน ในไตรมาสที่ 1 ปี 52
  • จีนจ่อคิวตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินมาตรการอุ้มบริษัทมีปัญหา-แก้วิกฤตแบงก์
HIGHLIGHT:
1. คาดนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือถูกเลิกจ้าง 15,000 คน ในไตรมาสที่ 1 ปี 52
  • ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ลำพูน เปิดเผยถึง สถานการณ์การจ้างงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ในไตรมาสแรกปี 52 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เลิกจ้างแรงงานไปแล้วกว่า 1,000-2,000 คน เป็นผลจากการปิดกิจการของโรงงานผลิตเครื่องประดับและจิวเวอรี่ และโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ คาดว่าในไตรมาส 1 ปี 52 จะมีแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมถูกเลิกจ้างงานไม่น้อยกว่า 15,000 คน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 4 ปี 51 ต่อเนื่องถึงปี 52 เป็นผลมาจากประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยชะลอตัวและลดการนำเข้า ทำให้ภาคการผลิตชะลอตัวลงมาก ส่งผลให้อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดย สศค. คาดว่าอัตราการว่างงานปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 3.8-4.2 ซึ่งน้อยกว่าวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 40 ที่อยู่ร้อยละ 4.4 อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างงานและการว่างงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้บ้าง นอกจากนี้ยังคาดว่า หากมาตรการต่างๆของภาครัฐช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากกรณีฐาน จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 1.8 แสนคน
2. จีนจ่อคิวตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • สำนักข่าวเอพีรายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่ตลาดรถยนต์ของประเทศจีนจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก แซงหน้าประเทศสหรัฐฯที่ครองแชมป์อยู่ปัจจุบัน เพราะแม้ยอดขายจะหดตัวแต่ก็ไม่ได้ลดลงรวดเร็วเหมือนกับตลาดสหรัฐฯ โดยยอดขายรถยนต์เดือน ม.ค.52 ของสหรัฐอยู่ที่ 656,976 คัน ปรับตัวลดลงร้อยละ 37 ต่อปี เทียบกับคาดการตัวเลขยอดขายรถยนต์ในจีนที่จะเปิดเผยในสัปดาห์หน้าซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 790,000 คัน หรือลดลงเพียงร้อยละ 8 ต่อปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐเช่น ลดภาษีในการซื้อรถยนต์ขนาดเล็กเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1.6 ลิตร ลงครึ่งหนึ่งเหลือร้อยละ 5 ฯลฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุปสงค์ของตลาดรถยนต์ในสหรัฐฯที่ลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจนทำให้ยอดขายรถยนต์ประจำเดือนของประเทศสหรัฐฯต่ำกว่าประเทศจีน ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 บริษัท (บริษัท ford Chrysler และ GM) ในสหรัฐประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดีหนึ่งในนั้นคือ บ.จีเอ็ม ได้ไปร่วมลงทุนในประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สำคัญในประเทศจีนครองส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 12 หรือราว 1.1ล้านคันในปี 51 ทำให้สามารถชดเชยและลดการพึ่งพิงแต่เฉพาะตลาดสหรัฐฯลงไปได้
3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินมาตรการอุ้มบริษัทมีปัญหา-แก้วิกฤตแบงก์
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น ( BOJ) จะดำเนินมาตรการในการรับซื้อหุ้นบริษัทต่างๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ถือครองอยู่ โดยจะซื้อเฉพาะบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินที่ระดับ BBB- หรือสูงกว่า และมีปริมาณการซื้อขาย 2 หมื่นล้านเยนหรือมากกว่าต่อปี โดยจะเป็นการซื้อหุ้นที่ราคาตลาด ซึ่งรวมถึงการซื้อหุ้นจากธนาคารที่ดำเนินธุรกิจทั่วโลก และธนาคารที่ถือครองหุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณเงินทุนสำรองธนาคารขั้นที่ 1 มูลค่าสูงสุดไม่เกิน 2.5 แสนล้านเยนของแต่ละราย โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2553 มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงของธนาคารจากผลกระทบของราคาหุ้นที่ตกลงอย่างมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างหนัก โดยที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (stimulus package) วงเงินรวม 50 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็น 5.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 12.3% ของ GDP )คาดว่าจะนำมาช่วยเหลือสถาบันการเงิน 12 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ดี สศค.คาดว่ามาตรการที่ BOJ เสนอซื้อหุ้นบริษัทที่ธนาคารพาณิชย์ ถือครองอยู่ จะช่วยให้ระบบธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ในภาวะที่ผลการประกอบการของอุตสาหกรรมต่างๆ ตกต่ำลงมาก อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นได้ใช้มาตรการทางการเงิน โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.1 ตั้งแต่ ธ.ค.51 ดังนั้นคาดว่ามาตรการที่ญี่ปุ่นจะสามารถใช้ในระยะต่อไป น่าจะเป็นมาตรการทางด้านการคลัง เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาครัฐและเอกชนโดยตรง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ