ฝากแบงค์อย่างไรไม่ต้องเสียภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 11, 2009 14:59 —กระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 % จาก 3.75 % เหลือ 2.75 % นับว่าเป็นการลดดอกเบี้ยลงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดตั้ง กนง. เมื่อปี 2543 และวันที่ 14 มกราคม 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงินก็ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.75 % เหลือ 2 % เนื่องจาก กนง. ประเมินว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมชะลอตัวรุนแรง และข้อมูลล่าสุดแสดงว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างรวดเร็ว นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายลงเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยเข้าใกล้ 0 % เข้าไปทุกทีเช่นเดียวกับประเทศตะวันตกและญี่ปุ่น

ผลที่จะตามมาจากนี้ก็คือ สถาบันการเงินทั้งหลายจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้น้อยลงและผู้ที่ฝากเงินกับสถาบันการเงินก็จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากน้อยลงด้วยเช่นกัน

ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างนี้ และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอีกนั้น ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดเห็นจะเป็นผู้ที่อาศัยรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากในการดำรงชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่เกษียณจากการทำงานและใช้เงินบำเหน็จมาฝากไว้กับสถาบันการเงิน เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากไม่พอใช้ก็อาจจำใจต้องถอนเงินต้นบางส่วนมาใช้จ่ายเพิ่มเติม เพราะอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

เสียงร้องที่จะมีตามมาหลังจากนี้ ก็คือ การขอให้รัฐบาลพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เก็บจากดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งปัจจุบันถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15 % โดยมีสิทธิเลือกว่าจะเสียในอัตรา 15 % ณ ที่จ่ายนี้ หรือจะนำดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับไปยื่นแบบรายการเสียภาษีรวมกับเงินได้อื่นตอนปลายปี โดยนำภาษีดอกเบี้ยที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้าคำนวณแล้วมีจำนวนภาษีที่ต้องเสียน้อยกว่าก็สามารถขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เกินได้

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ระบบภาษีอากรของไทยได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับดอกเบี้ยเงินฝากหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับโดยผู้สูงอายุ

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทแรก เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยให้แก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ คือ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำจากธนาคารในราชอาณาจักรที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทแล้วมีจำนวนไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี (ปีปฏิทิน) นั้น และผู้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่สอง เป็นการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจาก 15% เหลือ 10% ให้กับผู้ฝากทุกคน สำ หรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปที่ได้รับจากธนาคารในราชอาณาจักร ในกรณีดังต่อไปนี้

1) เพื่อใช้สำหรับการศึกษาของตนเองหรือครอบครัว

2) เพื่อใช้สำหรับที่อยู่อาศัยของตนเองหรือครอบครัว หรือ

3) เมื่อผู้ฝากมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการถอนก่อนครบกำหนด หรือหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ แล้วยังต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่จ่ายขาดไป

ข้อสังเกต ดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทแรกเป็นการยกเว้นภาษีและจำกัดให้เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทที่สองเป็นการลดอัตราภาษีและ

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่สาม เป็นการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากให้กับผู้ฝากทุกคนที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารในราชอาณาจักรหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ฝากเป็นรายเดือนติดต่อกันอย่างน้อย 24 เดือน โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และรวมเงินฝากทั้งหมดไม่เกิน 600,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด เช่น ต้องมีบัญชีเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีนี้เพียงบัญชีเดียว จะขาดการฝากหรือฝากไม่ครบวงเงินหรือฝากล่าช้ากว่ากำหนดเกิน 2 เดือนไม่ได้ เป็นต้น

เช่นเดียวกันกับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่สอง ถ้าการฝากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ต้องคืนสิทธิประโยชน์ภาษีทั้งหมดและเสียเงินเพิ่ม

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่สี่ เป็นการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้แก่

ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารในราชอาณาจักรไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากสหกรณ์

ดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก (คือเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์) จากธนาคารออมสินและไม่จำกัดจำนวนดอกเบี้ยเงินฝาก

ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทที่ห้า เป็นการยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยและรางวัลสลากออมสินและดอกเบี้ยและรางวัลสลากออมทรัพย์ของ ธกส.

ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทสุดท้าย คือ ดอกเบี้ยเงินฝากอื่น ๆ ที่ผู้ได้รับถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% แต่ผู้มีเงินได้จากดอกเบี้ยดังกล่าวสามารถเลือกที่จะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% หรือจะนำดอกเบี้ยดังกล่าวไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณและยื่นแบบเสียภาษีตอนปลายปีซึ่งต้องคำนวณอัตราภาษี 5 % ถึง 37 % โดยได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก

กรณีนี้ ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีหรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องลองนำดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับมารวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีโดยหักค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เหลือเป็นเงินได้สุทธิหลังหัก150,000 บาทแล้วเสียภาษีสูงกว่า 15 % หรือไม่

ถ้าต่ำกว่า 15 % ก็นำมารวมคำนวณภาษีตอนปลายปี โดยขอหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่ายจากธนาคารมาแนบรวมกับแบบแสดงรายการภาษี

ถ้าสูงกว่า 15 % ก็อย่านำดอกเบี้ยมารวมเสียภาษีตอนปลายปี คือยอมเสียภาษี 15 % ณ ที่จ่าย

คราวนี้มาลองคำนวณคร่าว ๆ เพื่อหายอดเงินต้นที่ดอกเบี้ยเงินฝากจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีเป็นคนโสดที่มีเงินได้จากดอกเบี้ยอย่างเดียวและนำดอกเบี้ยเงินฝากมายื่นเสียภาษีตอนปลายปี ซึ่งจะหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาทและได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก รวมเป็นจำนวนเงินเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากที่จะได้รับยกเว้นภาษีจำนวน 180,000 บาท โดยสมมุติอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 2 % ต่อปี (ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน) จะได้เงินต้นเท่ากับ 9 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีฐานะดีพอสมควร

พิเศษอีกประการสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ทุกประเภทเป็นจำนวนไม่เกิน 190,000 บาทอีกด้วย ถ้ารวมเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีจำนวน 150,000 บาทและหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท จะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้นจำนวน 370,000 บาท หรือเท่ากับ 30,800 บาทต่อเดือน

จะเห็นว่าระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันของไทยได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มีเงินฝากสูงมาก โดยผู้มีเงินฝากน้อยกว่า 9 ล้านบาท (อัตราดอกเบี้ย 2 %) ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลย และผู้สูงอายุที่มีเงินได้ในรูปดอกเบี้ยเงินฝากก็ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีหลายประการ

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ