รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2009 11:19 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ม.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ตอ่ ปีเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลงตามราคาที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าวนาปีไม่ขยายตัว

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือน ม.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปีลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศ โดยเฉพาะ ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลของมาตรการประกันราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลจะส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นได้บ้างในระยะต่อไป

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ม.ค. 52 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 68.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 67.5 โดยได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลาย โดยภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังคงเป็นปัจจัยลบทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนม.ค. 52 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -17.7 ต่อปี โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี จากที่เคยหดตัวร้อยละ -24.7 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกไปอีก 1 ปี จนถึงเดือนมี.ค. 53 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการขยายระยะเวลาดังกล่าวน่าจะช่วยพยุงให้ยอดการจัดเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไปได้

Economic Indicators: Next Week

มูลค่าการส่งออกสินค้าเดือน ม.ค.52 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -26.4 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -14.6 ต่อปี สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.3 ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2551 เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยต่างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าเดือนม.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวลงที่ร้อยละ -38.4 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ -6.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้าโดยเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ลดลงตามยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงการชะลอการลงทุนอันเนื่องมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง และฐานที่สูงมากในเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำให้ดุลการค้าเดือน ม.ค. 52 คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ เดือน ม.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -17.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.1 ต่อปีเนื่องจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ผู้บริโภคในชนบทมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวในระดับสูง ทำให้มีกำลังซื้อรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบันน่าจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าประเภทคงทนของคนในชนบทลดลงเช่นกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ม.ค.52 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 62.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 62.9 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบจากยอดคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลงมากจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีสาเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงบวกจากต้นทุนของประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าจะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนนี้ไม่น่าจะปรับลดลงมากนัก

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลงยกเว้นค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น

สาเหตุที่ค่าเงินคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาและแผนกระตุ้นภาคการเงินของ รมว. คลังไกท์เนอร์จะไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคการเงินได้ จึงหันไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าแทน

นอกจากนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจและภาคการเงินทั่วโลกที่ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญให้นักลงทุนยังคงกังวลและหันกลับไปลงทุนในสหรัฐโดยตัวเลขการส่งออกของจีนหดตัวลงมากกว่าคาดและมากที่สุดในรอบ 16 ปีขณะที่ตัวเลขการจ้างงานเกาหลีใต้ลดลงมากที่สุดในรอบ 6 ปี ทำให้ธนาคารกลางเกาหลีต้องปรับลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 2.0 จากร้อยละ 2.5 ในเดือน ม.ค.52 และทำให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงใกล้ระดับจิตวิทยาที่ 1,400 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านเศรษฐกิจยุโรปและอังกฤษยังคงชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษในเดือนธ.ค. ปรับลดลงร้อยละ 9 -13 ต่อปี ขณะที่ตัวเลขการขยายตัว GDP ในไตรมาส4 ปี 51 ของสเปนและรัสเซียหดตัวประมาณร้อยละ -1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนนอกจากนั้น ตัวเลขยอดขายบ้านในอังกฤษที่หดตัวลงต่ำสุดในรอบ 31 ปี รวมถึงยอดการปล่อยสินเชื่อการพาณิชย์ใหม่ของยุโรปที่ลดลงต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตเป็นครั้งแรก บ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์อังกฤษและภาคการเงินยุโรปยังคงประสบปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินยูโรและปอนด์สเตลิงค์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 1.289 และ 1.43 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโรและปอนด์สเตอลิงค์ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตการเงินโลกที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่องทำให้นักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนไปลงทุนในตลาดอื่น ๆ วิตกกังวล จึงรีบแลกเปลี่ยนสินทรัพย์อื่น ๆ กลับเป็นเงินเยนเพื่อคืนเงินกู้ (Yen Carry Trade Unwind) ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงแข็งค่าขึ้นที่ 90.7 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 2 เดือนที่ 35.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 35.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากภาวะการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องทำให้เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยมีปริมาณลดลง นอกจากนั้น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าบริหารจัดการค่าเงินบาทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทิศทางค่าเงินภูมิภาคมากขึ้นจึงทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อย

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์)ณ วันที่ 13 ก.พ. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 51 ที่ร้อยละ 1.85 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.69

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินวอนเกาหลี (ร้อยละ 21.1) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 21.8) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 17.3) ยูโร (ร้อยละ 7.8) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.9) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.3) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.1) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.0) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์สหรัฐ(ร้อยละ 5.2) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 5.7) หยวน (ร้อยละ 6.9) และ เยน (ร้อย ละ 16.9)

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 6 ก.พ.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 117.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองประเทศ (Net Reserve)เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น(Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนการถือครองร้อยละ 40 แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ร้อยละ 1.18 ประกอบกับคาดว่าว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะเข้าบริหารจัดการค่าเงินบาทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า จาก 34.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลงร้อยละ 0.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือนม.ค. 52 ลดลง 598,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน และเป็นการลดลงที่มากที่สุดในรอบ 34 ปี ทั้งนี้ การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมลดลงถึง207,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงครั้งใหญ่สุดในรอบ 26 ปี ในขณะที่ภาคก่อสร้างและภาคธุรกิจมีการจ้างงานลดลง 111,000 และ 121,000 ตำแหน่งตามลำดับ ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 16 ปี ที่ร้อยละ 7.6

ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯเดือนม.ค. 52 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ 1.0 (mom) (โดยถ้าไม่รวมสินค้ายานยนต์แล้ว จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 (mom)) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) ที่หดตัวลงร้อยละ -3.0 (mom) โดยยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงขยายตัวถึงร้อยละ 2.6(mom) จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึงร้อยละ -15.9 อย่างไรก็ดี การขยายตัวน่าจะเป็นผลชั่วคราวจากการลดราคาช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ ผลจากการเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมาก

ผลผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซน เดือน ธ.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -12.0 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -8.4 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของกลุ่มประเทศยูโรโซนจะยังคงยืดเยื้อออกไปอีก

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของจีนเดือนม.ค.52 หดตัวลงเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -17.5 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่รอ้ ยละ -2.8 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -43.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -21.3 ต่อปี โดยการส่งออกเครื่องจักรกลและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเทคโนโลยีซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 75 ของการส่งออกสินค้ารวมหดตัวถึงร้อยละ -20.9 และ -28.0 ต่อปี ตามลำดับอย่างไรก็ดี หากพิจารณาผลจากวันหยุดเทศกาลตรุษจีนในช่วงปลายเดือนม.ค. (โดยเทษกาลตรุษจีนในปีก่อนหน้าอยู่ในช่วงเดือนก.พ.) การส่งออกจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -26.4 ต่อปีทั้งนี้ การนำเข้าที่หดตัวเร่งตัวมากกว่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าจีนในเดือนม.ค.52 เกินดุลที่ 39.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของไต้หวันเดือนม.ค.52 หดตัวเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -44.1 และร้อยละ -56.5 ต่อปี ตามลำดับซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -41.9 และร้อยละ -44.6 ต่อปี ตามลำดับ โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก หดตัวถึงร้อยละ -45.3 ต่อปีในขณะที่ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังจีน(รวมฮ่องกง) และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไต้หวัน หดตัวที่ร้อยละ -58.6 และ -26.5 ต่อปี ตามลำดับอย่างไรก็ดี ด้วยการนำ เข้าที่หดตัวเร่งตัวขึ้นมากกว่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าไต้หวันเดือนม.ค. 52 เกินดุลที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของมาเลเซียเดือน ธ.ค. 51 หดตัวร้อยละ -14.9 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -4.9 ต่อปี ทำให้การส่งออกรวมปี 51 ของมาเลเซียขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี โดยการส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป หดตัวที่ร้อยละ -25.6 -28.0 และ -30.1ต่อปี ตามลำดับ ผลจากความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯและจีน หดตัวร้อยละ -30.2 และ -29.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนธ.ค. 51 หดตัวร้อยละ -29.8 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.6 ต่อปี ทำให้การนำเข้ารวมปี 51 ของมาเลเซีย ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี และดุลการค้าเดือนธ.ค.51 เกินดุล 3.2พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้ารวมทั้งปี 51 เกินดุลที่ 40.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลสำรวจการคาดคะเนของธุรกิจสิงคโปร์ (Business Expectation Survey) ในไตรมาส 4 ปี 51 อยู่ที่ -57.0 ซึ่งต่ำสุดนับจากมีการสำรวจความเชื่อมั่นฯ ในปี 30 เป็นต้นมา แสดงถึงแนวโน้มการประเมินของผู้ประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์ธุรกิจโดยรวมในรอบ 6 เดือนข้างหน้า และการจ้างงานในไตรมาสหน้าที่มีทิศทางแย่ลง

อัตราการว่างงานของออสเตรเลียเดือน ม.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในเดือนก่อนหน้า และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีเนื่องจากผู้ประกอบการพยายามลดต้นทุนในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโดยการลดการจ้างงานลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ