ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจำเดือนมกราคม 2552 และในช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — มกราคม 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 17, 2009 09:50 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังได้แถลงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือนมกราคม 2552 ซึ่งขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน 101,665 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณรวม 229,348 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณซึ่งขาดดุล 21,714 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวมทั้งสิ้น 251,062 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ฐานะการคลังเดือนมกราคม 2552

1.1 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 90,752 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 9,215 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 9.2) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลักในสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บได้ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสรรพสามิตจัดเก็บลดลง 8,012 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 32.6) ที่สำคัญ คือ ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (ผลของนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน)นอกจากนี้การคืนภาษีของกรมสรรพากรที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีที่แล้วมากส่งผลให้รายได้สุทธิของรัฐบาลลดลง

1.2 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 192,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 34,015 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 21.5) โดยมีการเบิกจ่ายที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรายจ่ายให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 125,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และรายจ่ายลงทุนจำนวน 52,029 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 การเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนมกราคม 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                       เดือนมกราคม                 เปรียบเทียบ
                                    2552         2551         จำนวน       ร้อยละ
1. รายจ่ายปีปัจจุบัน                     178,000    146,917         31,083      21.2
    1.1 รายจ่ายประจำ                 125,971     93,934         32,037      34.1
    1.2 รายจ่ายลงทุน                   52,029     52,983           -954      -1.8
2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน             14,417     11,485          2,932      25.5
3. รายจ่ายรวม (1+2)                  192,417    158,402         34,015      21.5

ที่มา: กรมบัญชีกลาง

1.3 จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนมกราคม 2552 ขาดดุล 101,665 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 58,737 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการออกตั๋วเงินคลังสุทธิจำนวน 57,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 42,928 ล้านบาท และรัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลด้วยการออกพันธบัตรจำนวน 19,000 บาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังกู้ชดเชยการขาดดุลขาดดุลจำนวน 23,928 ล้านบาท (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2 ฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดเดือนมกราคม 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                             มกราคม                 เปรียบเทียบ
                                        2552       2551         จำนวน       ร้อยละ
1. รายได้                               90,752     99,967         -9,215     -9.2
2. รายจ่าย                             192,417    158,402         34,015     21.5
3. ดุลเงินงบประมาณ                     -101,665    -58,435        -43,230       74
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ                    58,737     23,963         34,774    145.1
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4)                  -42,928    -34,472         -8,456     24.5
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล                19,000     16,500          2,500     15.2
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6)                  -23,928    -17,972         -5,956     33.1

ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

2. ฐานะการคลังในช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — มกราคม 2552)

2.1 รายได้นำส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 367,409 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 59,231 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 13.9) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะลดลง รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ลดลง ในขณะที่การคืนภาษีของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้นมาก

2.2 รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 596,757 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 45,081 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 8.2) โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 540,320 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 29.4 ของวงเงินงบประมาณ (1,835,000 ล้านบาท) และรายจ่ายปีก่อน 56,437 ล้านบาท (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3 การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                           4 เดือนแรก                           เปรียบเทียบ
                                 ปีงบประมาณ 2552     ปีงบประมาณ 2551        จำนวน       ร้อยละ
1. รายจ่ายปีปัจจุบัน                         540,320            504,812         35,508         7
    1.1 รายจ่ายประจำ                     460,238            397,100         63,138      15.9
    1.2 รายจ่ายลงทุน                       80,082            107,712        -27,630     -25.7
2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน                 56,437             46,864          9,573      20.4
3. รายจ่ายรวม (1+2)                      596,757            551,676         45,081       8.2

ที่มา: กรมบัญชีกลาง

2.3 ดุลการคลังรัฐบาลตามกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 229,348 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 21,714 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชำระคืนตั๋วเงินคลังสุทธิจำนวน 9,000 ล้านบาท ทำให้ดุลการคลัง (ดุลเงินสด) ของรัฐบาลขาดดุล 251,062 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลชดเชยการขาดดุลดังกล่าวโดยการออกพันธบัตรจำนวน 59,000 ล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 192,062 ล้านบาท (ตารางที่ 4)

ตารางที่ 4 ฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                                 4 เดือนแรก                         เปรียบเทียบ
                                       ปีงบประมาณ 2552     ปีงบประมาณ 2551        จำนวน       ร้อยละ
1. รายได้                                     367,409            426,640        -59,231     -13.9
2. รายจ่าย                                    596,757            551,676         45,081       8.2
3. ดุลเงินงบประมาณ                            -229,348           -125,036       -104,312      83.4
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ                          -21,714            -25,657          3,943     -15.4
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4)                        -251,062           -150,693       -100,369      66.6
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล                       59,000             59,000              -         -
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6)                        -192,062            -91,693       -100,369     109.5

ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 19/2552 16 กุมภาพันธ์ 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ