รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 17, 2009 11:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 ก.พ. 2552

SUMMARY:

1. นายกฯหวังจีดีพี 52 เป็นบวกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

2. โอเปกเล็งลดเพดานผลิตน้ำมันลง

3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำสุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 51 นับตั้งแต่ปี 2517

HIGHLIGHT:
1. นายกฯหวังจีดีพี 52 เป็นบวกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ
  • นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ฟื้นเศรษฐกิจไทย ใต้เงาวิกฤติเศรษฐกิจโลก” ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอคอง คอร์ด หวังแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจประเทศผลักดันให้จีดีพีในปี 52 เป็นบวกโดยจะต้องรับรู้ถึงสภาพปัญหาเพื่อจะได้เจาะตลาดในส่วนต่างๆประคับประครองเศรษฐกิจโดยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในก่อน ซึ่งมี ครม.เศรษฐกิจที่ตัดสินใจหลายๆ เรื่องเพื่อล่นเวลา นายกฯมั่นใจว่า การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การเรียนฟรี ลดค่ารถเมล์และรถไฟซึ่งเงินจะออกช่วงเดือนมี.ค. และ เม.ย. 52 จะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน หากนำมาใช้จ่ายและการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อให้มีเงินในกระเป๋าหลังจากเดือน ก.ย.ที่เข้าสู่งบประมาณใหม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า รายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 1.167 แสนล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายเพื่อการบริโภคของรัฐบาล 58,000 ล้านบาท เป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาล 27,000 ล้านบาท และเป็นรายจ่ายที่เสมือนเอื้อให้ประชาชนมีค่าครองชีพที่ถูกลง (5 มาตรการ 6 เดือน) 11,000 ล้านบาท รายจ่ายทั้ง 3 ส่วน ถือเป็นเม็ดเงินที่เข้าไปอัดฉีดเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ต่อปี (สมมติให้ MPC=0.65) สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งระบุว่าเป็นเพราะมาตรการของรัฐบาล
2. โอเปกเล็งลดเพดานผลิตน้ำมันลง
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เผยว่าสมาคมประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) อาจตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันลง หากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มต่ำกว่าระดับ 40.0 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ระดับราคาตามราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯในปัจจุบันกำลังปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจดังกล่าวนั้นชะลอตัวออกหากราคาน้ำมันโลกปรับ ซึ่งเป็นสัญญาณดีในการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากกลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตลงอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอุปทานของน้ำมันที่ลดลง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันจะขึ้น/ลง ขึ้นอยู่กับผลด้านอุปทานที่ลดลงจะมาก/น้อยกว่า ผลด้านอุปสงค์ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นทั้งผู้นำเข้าน้ำมันดิบ (สัดส่วนร้อยละ 16.9 ของมูลค่านำเข้ารวม) และส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป (สัดส่วนร้อยละ 4.4 ของมูลค่าส่งออกรวม) ดังนั้น หากราคาน้ำมันสูงขึ้นจะทำให้มูลค่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไทยขายได้สูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 52 อยู่ที่ 55.0-60.0 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และหากราคาน้ำมันขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 ต่อปี จากกรณีฐาน
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำสุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 51 นับตั้งแต่ปี 2517
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เผยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตน้ำมันในปี 2517 ที่ร้อยละ 12.7 ในไตรมาส 4 ของปี 2551 เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นมุ่งเน้นผลิตสินค้า High-end และมีการพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 16.0 ต่อจีดีพี ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกและค่าเงินเยนที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 13 ปี จึงส่งผลต่อยอดการส่งออกของญี่ปุ่นปรับลดลงถึงร้อยละ 13.9 จากไตรมาส 3 ของปี 51 และบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นได้ปลดคนงานจำนวน 65,000 คน ในเดือน ม.ค.52 ซึ่งมีผลต่อการชะลอตัวของบริโภคในประเทศที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ต่อจีดีพี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ประเทศที่มีการพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงต่อ GDP โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้อย สศค.คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 52 จะหดตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิม ณ ธ.ค.51 ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี ล่าสุดญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกของไทยสัดส่วนร้อยละ 11.3 ของมูลค่าส่งออกรวม ดังนั้น หาก GDP ญี่ปุ่นลดลงจากเดิมร้อยละ 1.0 ต่อปี GDP ไทยจะลดลงจากเดิมร้อยละ 0.1 ต่อปีด้วย (Sensitivity Approach) ทั้งนี้ การใช้มาตรทางการคลังและการเงินแต่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งอาจไม่เพียงพอ ต้องร่วมกันทั้งโลก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ