Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ก.พ. 2552
SUMMARY:
- ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณปี 53 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
- ตัวเลขการผลิตหดตัวตามการส่งออกที่หดตัวส่งผลให้การว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
- ส่งออกสิงคโปร์เดือน ม.ค. 52 ทรุดหนักสุดในรอบ 32 ปี
HIGHLIGHT:
1. ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณปี 53 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
- ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 53 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุลจำนวน 3.9 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ร้อยละ 3 ต่อปี โดยโครงสร้างงบประมาณแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ งบรายจ่ายประจำสูงสุดที่ร้อยละ 76.7 งบรายจ่ายลงทุนร้อยละ 20 และงบใช้คืนต้นเงินกู้ร้อยละ 3.3
- ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าการจัดเก็บรายได้ ปีงบประมาณ 53 นั้น คาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการปี 2552 ที่ตั้งไว้ 1.58 ล้านล้านบาท แต่รายจ่ายนั้น ยังต้องกำหนดไว้สูง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทำให้งบประมาณปี 2553 ยังขาดดุลต่อเนื่องจากปี 2552
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว โดยเพิ่มงบประมาณปี 53 สู่ระดับ 1.9 ล้านล้านบาท หรือขาดดุลราว 3.9 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากปัจจัยนอกประเทศ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะไม่กระทบกับกรอบความยั่งยืนทางการคลัง กล่าวคือทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 ขณะที่ตามกรอบความยั่งยืนกำหนดไว้ให้ไม่เกินร้อยละ 50
2. ตัวเลขการผลิตหดตัวตามการส่งออกที่หดตัวส่งผลให้การว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
- บริษัทหลักทรัพย์นครหลวงเปิดเผยว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมของประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2551 ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตลดลงต่ำกว่าปี 2541 (ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง) ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหลือร้อยละ 44 กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีเหลือร้อยละ 70 กลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษเหลือร้อยละ 60 กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางเหลือร้อยละ 46 และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เหลือร้อยละ 22 (จากปี 2541 ที่ร้อยละ 51)
- สศค. วิเคราะห์ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนธ.ค. หดตัวร้อยละ -19.7 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ในรอบปี 2551 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2551 หดตัวถึงร้อยละ -9.7 สะท้อนการชะลอการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของตลาดต่างประเทศที่หดตัวลงมาก (Global Recession) โดย การลดกำลังการผลิตของภาคเอกชนเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2552 จะหดตัวมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ณ ธ.ค. 51 ที่ร้อยละ -2.7 ต่อปี
3. ส่งออกสิงคโปร์เดือนม.ค.52 ทรุดหนักสุดในรอบ 32 ปี
- มูลค่าการส่งออกสินค้าของสิงคโปร์ในเดือนม.ค.52 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยการส่งออกสินค้าที่มิใช่น้ำมันหดตัวถึงร้อยละ -34.8 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -20.8 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2520 โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีนหดตัวถึงร้อยละ -50.0 -13.0 และ -51.6 ต่อปี ตามลำดับ ในแง่มิติสินค้า การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวถึงร้อยละ -38.4 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกสินค้าอื่นๆหดตัวถึงร้อยละ-32.4 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกของสิงคโปร์ทรุดหนัก โดยการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 178.0 ของ GDP ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์โดยรวม ประเทศไทยซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสิงคโปร์ถึงร้อยละ 5.8 ของมูลค่าการส่งออกรวม ย่อมได้รับผลกระทบต่อการส่งออก อีกทั้งยอดการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ที่หดตัวลงอย่างรุนแรง บ่งชี้ถึงอุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่หดตัวลง การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 17.5 ของมูลค่าการส่งออกรวมจึงมีแนวโน้มหดตัวตาม และคาดว่าในปี 52 เศรษฐกิจสิงคโปร์จะหดตัวมากว่าร้อยละ -3.0 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th